จัดยิ่งใหญ่ 10 วัน 10 คืน ถนนสายเกษตร-ดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา

กระทรวงเกษตรฯ ผนึก อบจ.พะเยา และ ททท. ชวนเคานต์ดาวน์ปีใหม่ใน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา” ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 – 3 มกราคม 2567 ณ ริมกว๊านพะเยา จัดเต็มทั้ง 10 วัน 10 คืนด้านอบจ.พะเยาเร่งขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมือง เดินหน้าส่งเสริมนโยบายให้พะเยาเป็นเมืองน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็งและประชาชนมีรายได้พร้อมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการจัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยวถนนสายดอกไม้งามริมกว๊านพะเยา ณ ริมกว๊านพะเยา” ภายใต้แนวคิด “อิ่มไอหนาวแอ่วม่วนลำ @ กว๊านพะเยา” ว่าร่วมกับนายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายสยาม ปรีชา รองปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และนายณัฐ ครุฑสูตร ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 – 3 มกราคม 2567 ณ จังหวัดพะเยา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ให้ครบทั้งระบบการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เผยแพร่ความรู้นวัตกรรมด้านการผลิต การตลาด ทั้งพืช สัตว์ และประมง เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมทางภาคการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มีจุดแข็งในสินค้าอัตลักษณ์ GI เช่น ลิ้นจี่ฮงฮวย ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิ-จังหวัดพะเยา สับปะรดภูแล-จังหวัดเชียงราย กาแฟเทพเสด็จ-จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ความรู้ นวัตกรรมด้านการผลิต การตลาด ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมทางการเกษตรในระดับภูมิภาคสร้างงานเกษตร ขยายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดพะเยาได้จัดเตรียมการแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จากทุกหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าเกษตร และบริการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 10 วัน 10 คืน ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 ณ บริเวณริมกว๊านพะเยา

ภายในงานได้จัดรูปแบบออกเป็นบูธต่างๆ จำนวน 12 บูธ ประกอบด้วย 1) ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ให้บริการด้านการเกษตรจากแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) ธุรกิจเกษตร จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ การค้าออนไลน์ และธุรกิจสมัยใหม่ 3) นวัตกรรมเกษตรทันสมัย ทางเลือกใหม่ของเกษตรกร แนะนำนวัตกรรมพืชพันธุ์ดี แนวคิด BCG Model การใช้สารชีวภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุทางการเกษตร และนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตร 4) ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ด้านการเกษตร สอนให้คิดเป็น ทำได้ ผลิตได้ขายได้ 5) ตำนานกว๊านพะเยา 6) การบริหารจัดการน้ำ ด้านชลประทาน 7) โต้งนาคำ กินข้าวหอมมะลิไทย ส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชน 8) งานประกวดแสดงสินค้าเกษตรสวยงาม 9) ฝนหลวง 10) สล่าศิลป์ 11) โครงการพระราชดำริ และ 12) จำหน่ายสินค้าเกษตร สินค้าอัตลักษณ์ ผลผลิตสดหรือแปรรูป อาหารพร้อมรับประทานที่ผลิตจากวัตถุดิบได้รับมาตรฐาน มีซุ้มบริการเครื่องดื่ม และเวทีดนตรีแสดงสด

“การจัดงานมหกรรมการเกษตรฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนได้เห็นผลงานด้านเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรของจังหวัดพะเยา และระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน การเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติ โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการเกษตรสมัยใหม่ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นายสยาม ปรีชา รองปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา (อบจ.พะเยา) กล่าวเสริมว่า อบจ.พะเยามีหน้าที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ได้วางแผนจัดกิจกรรมในปี 2567 งานมหกรรมการเกษตรถนนสวยด้วยดอกไม้งามริมกว๊านพะเยาต่อเนื่องทุกปีพร้อมกับนำของดีจังหวัดพะเยา อาทิ ปลาส้มพะเยา กุ้งเต้น ข้าวหอมละมุน ข้าวหอมทุ่งรวงทอง ที่เลื่องชื่อของจังหวัดพะเยาก็ได้นำขึ้นไปเสิร์ฟบนเครื่องบินของการบินไทยสำเร็จมาแล้วก็จะนำมาเผยแพร่ในงานดังกล่าว พร้อมกับจะเร่งนำเสนอผลิตภัณฑ์การเกษตรทุกรายการให้ได้มากที่สุดพร้อมยกระดับสู่สินค้าโอท็อประดับที่สูงขึ้นต่อไป

ล่าสุดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ก็จะไปตั้งอยู่ที่จังหวัดพะเยาเพื่อจะหนุนเสริมกัน อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของอบจ.พะเยายังมีนโยบายส่งเสริมให้จังหวัดพะเยาเป็นเมืองน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็งและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนั้นยังเร่งส่งเสริมให้จังหวัดพะเยาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้(Leanning City) สินค้าการเกษตรรายต่างๆถึงความเป็นมาแต่ละผลิตภัณฑ์

“พะเยาจัดว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางขึ้นสู่ภาคเหนืออีกเส้นทางหนึ่ง เปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามของภาคเหนือ มีทำเลและภูมิศาสตร์ที่งดงามเพียงแต่รอการต่อยอดก็จะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว เมืองที่อากาศยังบริสุทธิ์ มีภูเขา ป่าไม้ให้ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้น อุดมไปด้วยสินค้าเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจึงยังเป็นเสน่ห์ของจังหวัด แม้ว่าในอีกไม่กี่ปีนี้จะมีรถไฟทางคู่เกิดขึ้นแต่ยังต้องพึ่งพาด้านการเกษตรเป็นหลักดังนั้นยุทธศาสตร์จึงมุ่งเน้นไปที่การเกษตรเป็นประเด็นหลักต่อเนื่องกันไปเพื่อยกระดับรายได้มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรของจังหวัดให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง” นายสยาม รองปลัดอบจ.พะเยา กล่าวในตอนท้าย