‘กรมพัฒน์ฯ’ จับมือ ‘แอโร กรุ๊ป’ พัฒนาทักษะคนขับโดรนเพื่อการเกษตร

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือ แอโร กรุ๊ป ลงนามความร่วมมือกันพัฒนาทักษะคนขับโดรนเพื่อการเกษตร ทิ้งทวนปี 66 จำนวน 3 พื้นที่(นครนายก-จันทบุรี-มหาสารคาม) รับรุ่นละ 30 คนใช้เวลาฝึกอบรม 18 -30 ชั่วโมง เผยนับตั้งแต่ปี 63 มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 คน ล่าสุดยังเตรียมยกระดับสู่หลักสูตรการซ่อมโดรนแบบมืออาชีพเพื่อต่อยอดการอบรมระดับสูงขึ้น

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแรงงานโครงการพัฒนาอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตรระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ดร. กฤษดา อัครพัทธยากุล ประธานบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด และมีนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายคชินทร์ คล้ายนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ลงนามเป็นสักขีพยาน

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังจากการลงนามว่า ตามความร่วมมือของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันในการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่องเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน ลดเวลาการทำงาน เพิ่มผลผลิตสินค้า ซึ่งการนำโดรนมาใช้ในขั้นตอนการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืช จะช่วยลดต้นทุน ค่าวัสดุและค่าแรงงาน เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และที่สำคัญลดความเสี่ยงอันตรายในระหว่างการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร โดยเปิดรับสมัครฝึกอบรมใน 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครนายก อบรมระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 32 จันทบุรี อบรมวันที่ 23-24 พฤศจิกายน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานมหาสารคาม วันที่ 14-15 ธันวาคม รับจำนวนจำกัด รุ่นละ 30 คน ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง

ด้าน ดร. กฤษดา อัครพัทธยากุล ประธานกรรมบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัดกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการและจำหน่ายสินค้าชั้นนำของประเทศด้านเทคโนโลยีไฮดรอลิค นิวเมติกส์และออโตเมชั่น รวมถึงอากาศยานไร้คนขับ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับศักยภาพเกษตรกรของประเทศไทยสู่สมาร์ตฟาร์ม สามารถใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการเพาะปลูกที่มีความแม่นยำสูง ผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยสู่ท้องตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในอาชีพได้อย่างได้อย่างยั่งยืน จึงร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลิตกำลังคนในทุกภาคส่วนต่อไป

“เริ่มเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันได้จัดฝึกอบรมเข้าสู่ช่วงเฟสที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด มีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 คน โดย 3 รุ่นที่จะจัดฝึกอบรมในปลายปีนี้จึงเป็นรุ่นทิ้งทวนของปี 2567 จำกัดรุ่นละ 30 คนจากเดิมช่วงแรกๆรุ่นละ 80-90 คนเพื่อรองรับแรงงานกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 นำไปใช้งานให้เกิดรายได้และมีงานทำ จึงถือว่าช่วง 3 ปีดังกล่าวเทคโนโลยีจึงค่อนข้างจะใหม่ในประเทศไทยมีเกษตรกรนำไปใช้งานจำนวนไม่แพร่หลาย อีกทั้งโดรนยังมีราคาแพง ปัจจุบันได้ค้นพบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำไปฝึกอบรมและใช้งานได้อย่างตรงตามความต้องการมากขึ้น ขณะนี้จึงยกระดับไปสู่การซ่อมควบคู่กันไปด้วยขยายระยะเวลาหลักสูตรจาก 18 ชั่วโมงเป็น 30 ชั่วโมงเพื่อยกระดับความรู้ของผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมให้ได้รับองค์ความรู้และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพจริงๆ”

ดร. กฤษดา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเฟสใหม่นี้เนื่องจากเกษตรกรมีความตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญต่อการนำไปใช้งานของโดรนเพื่อการเกษตรเพราะลดต้นทุนได้จริง ลดระยะเวลาการปฏิบัติงาน ลดการใช้แรงงาน อีกทั้งผลผลิตที่ได้สามารถจับต้องได้จริงปริมาณได้ตรงตามความต้องการ การฉีดฆ่า ฉีดคลุม เร่งผลผลิตที่ได้จากคุณภาพของปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลงสำเร็จผลตามความต้องการ