จีนจัดยิ่งใหญ่ Drone World Congress 2024 โชว์ศักยภาพ ‘โดรนนานาชาติ’ เมืองซินเจิ้น

จีนโชว์ศักยภาพประเทศมหาอำนาจ จัดยิ่งใหญ่งาน Drone World Congress ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 พร้อมงาน ShenZhen International UAV Expo โดยสมาคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับเมืองเซินเจิ้น เผยปลายปีนี้ดึงพันธมิตรจากทั่วโลกร่วมกับไทยจัด ‘มหกรรมโดรนเทค 2024’ ครั้งยิ่งใหญ่ที่เมืองทองธานี คาดกระตุ้นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตโดรนพร้อมชิ้นส่วนได้แน่

เมื่อวันที่ 24-26 พค.2567 ที่ผ่านมา WUAVF หรือ ‘สหพันธ์ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับโลก’ นำโดยนายหยาง จินไฉ่ ประธานสหพันธ์ฯ ได้จัดการประชุมนานาชาติ Drone World Congress ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 พร้อมกับงาน ShenZhen International UAV Expo โดยสมาคมอุตสาหกรรม UAV ที่เกี่ยวกับยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับของเมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ควบคู่กันไปด้วย

นายหยาง จินไฉ่ ประธานสหพันธ์ WUAVF กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่า ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายและปรารถนาด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโดรนนานาชาติที่เป็นเอกภาพมากขึ้น

“งาน Drone World Congress ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 และงาน ShenZhen International UAV Expo ถือเป็นเวทีความร่วมมือสำหรับองค์กรอุตสาหกรรม UAV ระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ผู้ประกอบการและอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ มาร่วมงานมากมาย โดยนอกจากมีการโชว์ศักยภาพโดรนและอุตสาหกรรมยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ ตลอดจนการสาธิตเทคโนโลยีแล้ว ยังมีการจัดฟอรัมระดับนานาชาติมากถึง 40 ฟอรัมสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระดับสูง การอภิปรายหัวข้อต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนายานพาหนะ กฎระเบียบ ระบบที่ประยุกต์ใช้แอพพิเคชั่นเหล่านี้มีการใช้งานอย่างแข็งขันในด้านการบินพลเรือน ตลอดจนการป้องกันประเทศ สถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง การดับเพลิง การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การเกษตรและอื่นๆ”

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญระดับวีไอพีจากประเทศไทยและคณะกรรมการบอร์ดสหพันธ์ WUAVF กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดแต่ละครั้งพบว่ามีการยกระดับศักยภาพการจัดงานสูงขึ้นทุกปี มีเทคโนโลยีใหม่ๆมานำเสนอซึ่งจัดว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ผู้สนใจสามารถมายกระดับการเรียนรู้ของผู้ที่สนใจกิจกรรมทางด้านนี้จากทั่วโลก

สำหรับการนำไปใช้ในประเทศไทยนั้นอยากให้มีการส่งเสริมการใช้โดรนในระดับไม่ใช้ความสูงมากนักเพื่อส่งเสริมธุรกิจเรื่องโดรนให้แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น อาทิ เพื่อการขนส่ง -โลจิสติกส์ การแก้ไขปัญหาจราจร การท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งหนึ่งคือการสนับสนุนให้เกิดการตั้งโรงงานผลิตทั้งตัวโดรนและอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดทำระเบียบกฎหมายให้ครอบคลุม มั่นใจว่าปลายปีนี้ที่ประเทศไทยจะมีการจัดงาน ‘มหกรรมโดรนเทค 2024’ จะมีองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมสนับสนุนและต่อยอดไปสู่การยกระดับการส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับธุรกิจโดรนอย่างแพร่หลาย

สอดคล้องกับ พล.อ.ท.กิตติทัศน์ ภาเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะกรรมการสมาคมโดรนแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่วิทยากรถ่ายทอดความรู้ในฟอรัมเกี่ยวกับภาพรวมความก้าวหน้าการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้โดรนในประเทศไทย กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า แต่ละครั้งจะพบว่ามีหลายองค์กรให้ความสนใจเข้ามาร่วมจัดงานอย่างต่อเนื่องพร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามานำเสนอ

“ปีนี้ที่น่าสนใจคือเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เหนือพื้นดินระดับความสูงไม่เกิน 1 กิโลเมตรเป็นธุรกิจที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโดรน อาทิ เรื่องขนส่งโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว หรือหลายอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้น โดยการใช้พื้นที่ในห้วงอวกาศมากขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ที่จะต้องจับตากันต่อไป ดังนั้นหากรัฐพร้อมสนับสนุนการสร้างมาตรฐานรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้นับเป็นสิ่งที่ดี อีกทั้งปลายปีนี้ประเทศไทยจะมีการจัดงาน มหกรรมโดรนเทค 2024 คาดว่าจะสามารถจุดประกายเรื่องโดรนในภาคธุรกิจต่างๆให้แพร่หลายมากขึ้น”

พล.อ.ประเสริฐ ยังประภากร ประธานกรรมการ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด (มหาชน) แขกรับเชิญระดับไอพีจากประเทศไทย กล่าวว่า มีโอกาสเดินเยี่ยมชมและพูดคุยกับหลายบริษัทที่มาออกบูธในงานเห็นว่าได้มีการยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยีของระบบโดรนไปสู่ระดับที่สูงขึ้นทุกปี โดยมีความน่าสนใจด้านเทคโนโลยีระบบโดรนดับเพลิง ด้านความปลอดภัย ด้านการแก้ไขปัญหาจราจรและด้านสมาร์ทซิตี้ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตโดรน ผลิตชิ้นส่วนประกอบขึ้นในประเทศไทยได้อีกด้วย

สอดคล้องกับที่นายธงชัย อุพันวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเจแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และในฐานะกรรมการสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่า วงรอบการผลิตวัสดุอุปกรณ์ของโดรนจะพบว่า มหกรรมที่จัดขึ้นแต่ละครั้งได้เห็นการผลิตชิ้นส่วนประกอบมากมาย ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการผลิตในประเทศไทยมั่นใจว่าหลายบริษัทพร้อมรับดำเนินการต่อยอดได้ทันที และปัจจุบันจะพบอีกว่ามีภาคเอกชนสนใจลงทุนในประเทศไทยจึงนับเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะเกิดการแพร่หลายและมีส่วนกระตุ้นภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยีนี้

ด้านนายดาวิน หยาง นายกสมาคมการค้าอาเซียน-จีน กล่าวว่า ภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยควรจะให้ความสนใจเทคโนโลยีเรื่องโดรนพร้อมทำระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้งานอย่างเปิดกว้างมากกว่าการจะควบคุมกำหนดกรอบอย่างเข้มงวดมากเกินไป นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ฝ่ายจีนและพันธมิตรอีกหลายประเทศซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องโดรนพร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมประเทศไทยยกระดับศักยภาพเทคโนโลยีโดรนในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดมหกรรมโดรนเทค 2024 ช่วงปลายปีนี้ในประเทศไทยนั้นน่าจะเห็นการพัฒนาระบบโดรนเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

ด้านนางสาวนฐพร บุญยะกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบบริหาร กรมสอบสอวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัต ดังนั้นผลลัพธ์จากการมาดูงานมหกรรมโดรนครั้งที่ 8 นี้จึงมีโอกาสได้ติดตามเทคโนโลยีของโดรนที่สามารถจะนำไปใช้ประยุกต์กับการปฏิบัติงานภาคสนามได้อย่างดี อีกทั้งยังได้ทราบว่าในแต่ละภูมิภาคมีความสนใจในการติดตามความก้าวหน้าเรื่องโดรนอย่างหลากหลายจึงได้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองจากการมาดูงานครั้งนี้ อีกทั้งยังทราบว่าเมืองเซินเจิ้นยังผลิตโดรนให้กับอีกหลายประเทศด้วยโดยเฉพาะโดรนเพื่อความมั่นคง

“เรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรนจึงต้องมาศึกษาเรียนรู้และติดตามความก้าวหน้าได้จากเมืองเซินเจิ้นของจีนจะครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งดีเอสไอจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมต่อไปโดยเฉพาะการตรวจสอบกรณีบุกรุกพื้นที่ต่างๆ”

ดร.ดาหว่อง อุปนายกสมาคมการค้าอาเซียน-จีน ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (ALA) กรุ๊ป สิงคโปร์ กล่าวถึงมุมมองการลงทุนส่งเสริมและพัฒนาระบบโดรนในประเทศไทยว่า หากไทยจะเป็นศูนย์กลางโดรนของอาเซียนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้กำกับดูแลจะต้องมีมาตรการดึงดูดใจนักลงทุน พร้อมสนับสนุนส่งเสริมนักลงทุน อาทิ การอุดหนุนรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบภาษี อีกทั้งเรื่องระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับโดรนต้องชัดเจน บีโอไอจะต้องมีมาตรการที่สามารถดึงดูดใจทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศมาลงทุนในครั้งนี้ด้วย