นิด้าเปิดรับข้อคิดเห็นครั้งที่ 5 แผนพัฒนาเมือง ‘ย่านบางกะปิ-แฮปปี้แลนด์’

นิด้าจัดเวทีระดมความเห็นครั้งที่ 5 “ร่วมสร้างกรุงเทพฯที่ดีกว่า #1 : Co-create Better Bangkok” โครงการวางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ย่านบางกะปิ ด้านภาคเอกชนหนุนเต็มที่เล็งนำเทคโนโลยีมาเสริมบริการสกายลิ้งค์พร้อมสนับสนุนสำนักการโยธากทม. เร่งเชื่อมโยงเพื่อความสะดวกการเดินทางของประชาชน ย้ำ!!!เปิดใช้บางช่วงก่อน กค.นี้ ส่วนที่เหลือปลายปีเปิดครบทั้งระบบ

ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการวางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ย่านบางกะปิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 นี้ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 5 “ร่วมสร้างกรุงเทพฯที่ดีกว่า #1 : Co-create Better Bangkok” โครงการวางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืน สำหรับเมืองขนาดกลางในกรุงเทพมหานคร ย่านบางกะปิ มุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กรุงเทพฯในมิติ ‘เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดี และเศรษฐกิจดี’ ให้เป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั่วถึงให้เกิดเป็นชุมชนเมืองและบริหารจัดการต้นแบบซึ่งมีกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และนิด้า

โดยได้จัดเวทีรับฟังความเห็นมาแล้ว 4 ครั้งพบว่าพื้นที่ย่านบางกะปิเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของโซนฝั่งตะวันออก เนื่องจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีส้ม สายสีน้ำตาล ตลอดจนถนนสายหลักและคลองผ่านมาในพื้นที่และใกล้เคียง เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในพื้นที่มากถึง 4 แห่ง ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อการสร้างความเจริญให้พื้นที่บางกะปิ-แฮปปี้แลนด์ได้ทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเห็นว่าหลายโครงการของหน่วยงานภาครัฐกำลังดำเนินการนั้น จะสร้างความเจริญและการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่ย่านบางกะปิที่ผ่านมายังมิได้เตรียมการเพื่อรองรับความเจริญที่จะเกิดขึ้น อาทิ 1) ความพร้อมของเมืองที่จะรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนที่กำลังจะมาทั้งการออกแบบเมืองให้เดินได้ตามหลักการ ออกแบบอารยสถาปัตย์ (UD) 2) ขาดพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอต่อประชาชนในพื้นที่ 3) ขาดการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่จนเกิดปัญหาน้ำเสียในคลองต่าง ๆ และการจัดการขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และสุดท้าย 4) ขาดแผน วิสัยทัศน์ การพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมทุกมิติเพื่อให้เมืองมีเป้าหมายการพัฒนาและเสริมเครือข่ายการพัฒนาเมืองระดับย่านที่มีอยู่ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“ดังนั้นจึงได้เปิดรับฟังความเห็นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาพื้นที่เฉพาะย่านบางกะปิ ความก้าวหน้าแบบสถาปัตยกรรมโครงการปรับปรุงสวนพฤกษศาสตร์คลองจั่น การปรับปรุงและสร้างเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้จำนวน 6 เขต 7 พื้นที่ นำเสนอร่างแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะย่านบางกะปิ และเพื่อระดมความเห็นของทุกภาคส่วนในแต่ละมิติ”

เผยสกายลิ้งค์ ‘ช่วงตะวันนา-เดอะมอลล์’ เปิดใช้ก่อน กค.นี้

ด้านนายอนันต์ จิตรมีศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมจิตต์ อินคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่บางกะปิ-แฮปปี้แลนด์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพื้นที่โซนบางกะปิที่มีทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ห้างร้านขนาดใหญ่อย่างเดอะมอลล์ โลตัส อีกทั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่สามารถเกาะกลุ่มได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้แนวคิดการพัฒนาดำเนินการมาจากระดับหลากหลายกลุ่ม นักวิชาการมาเสริม โครงการสกายลิ้งค์และอีกหลายโครงการจึงค่อนข้างมีความสมบูรณ์จริงๆ

นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครยังเปิดให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทที่สามารถนำเสนอความเห็นได้อย่างเปิดกว้าง ผลงานด้านเนื้อหาสาระที่ออกมาจึงค่อนข้างราบรื่นและสอดคล้องกับความต้องการของทุกคน แผนการพัฒนาเมืองในย่านบางกะปิให้เป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะจึงเป็นอีกโมเดลที่จะเป็นตัวอย่างสามารถนำไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆได้อีกด้วย

โดยยังเชื่อว่าบางกะปิจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมากเนื่องจากมีแนวคิดการพัฒนาให้รองรับได้ทุกเพศทุกวัย ดีไซน์มาตรฐานรองรับความต้องการใช้งานได้อย่างครอบคลุม ทุกพื้นที่ อีกทั้งยังจะมีการทดลองนำรถ EV มาวิ่งให้บริการบนสกายลิ้งค์ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายเนื่องจากมีระยะทางไกล เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย

“มีแนวคิดที่นำเอาระบบไฮดรอลิคมาใช้งานจำนวน 3-4 จุดขึ้น-ลงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงบริการอย่างสะดวกสบาย เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้งานให้เหมาะสมเพราะขึ้น-ลงแค่ 1 ชั้น ระบบมีความซับซ้อนน้อย น้ำหนักเบากว่า หากใช้งานได้ดีต่อไปอาจสามารถนำไปติดตั้งใช้งานกับสะพานลอยต่างๆในจุดพื้นที่สำคัญๆ ได้อีกด้วย”

นายอนันต์กล่าวต่ออีกว่า ด้านการปรับปรุงพื้นที่ของน้อมจิตต์-แฮปปี้แลนด์นั้นจะพัฒนาให้โซนนี้รองรับประชาชนที่มาจากโซนต่างๆได้มากขึ้น ให้สะดวกสบาย เข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้รวดเร็วและสะดวก ออกแบบพื้นที่ให้เป็นไฮเวย์ทางเดินในห้างที่มีพื้นที่กว้างมากขึ้น เปิด-ปิดห้างตามระยะเวลาให้บริการรถไฟฟ้า

“ล่าสุดทราบว่าสำนักการโยธากรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการในหลายด้านหลังจากเจอวิกฤติโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นเร่งดำเนินการสะพานรถยนต์ข้ามแยกให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงจะสร้างสกายวอล์คที่ระดับอยู่ใต้สะพานรถยนต์ข้ามแยกอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากต้องดำเนินทางสะพานข้ามของรถยนต์ให้แล้วเสร็จก่อนเพราะล่าช้าจากวิกฤติโควิด และกทม. ยังเร่งสร้างสกายวอลค์ช่วงจากตะวันนาถึงสะพานลอยบางกะปิให้เปิดใช้งานได้ก่อนต้นเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนช่วงอื่นคาดแล้วเสร็จในปลายปีนี้เช่นกัน”