กทม.-นิด้า-ผนึกเครือข่ายพัฒนาเมือง จัดเวทีเสวนา…สมาร์ทบางกะปิเมืองยั่งยืน #4
กทม.ร่วมกับนิด้า ผนึกภาคีเครือข่ายในพื้นที่บางกะปิ ร่วมจัดเสวนาและระดมความเห็น ‘สมาร์ทบางกะปิ #4 บางกะปิเมืองยั่งยืน (Sustainable Bangkapi) ลุ้นเปิดใช้สกายลิ้งค์เชื่อมย่านบางกะปิต้นปี 67 ส่วนว่าที่ส.ส.พรรคก้าวไกลจ่อหารือกรมการขนส่งทางบกปรับระบบฟีดเดอร์ในพื้นที่เขตประเวศให้สอดคล้องกับปัจจุบันเพื่อให้พร้อมรองรับเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีส้ม
เมื่อวันจันทร์ 29 พฤษภาคม 2566 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน และภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเมืองพื้นที่บางกะปิได้จัดเวทีเสวนาและระดมความคิดเห็น ‘สมาร์ทบางกะปิ #4 บางกะปิเมืองยั่งยืน (Sustainable Bangkapi)’ ณ ห้องสัมมนาดร.สมศักดิ์ฯ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันฯนิด้า
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าปัจจุบันศูนย์กลางเมืองบางกะปิมีพัฒนาการด้านการพัฒนาเมืองที่สำคัญโดยเป็นจุดตัดระหว่างระบบคมนาคมทางถนน ราง และเรือ แล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยที่ผสมผสานหลายรูปแบบและหลายระดับรายได้
พื้นที่ศูนย์กลางชุมชนเมืองบางกะปิมีขนาดพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งในปัจจุบันร่วมกับกรุงเทพมหานครโดยสำนักการโยธา พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมืองอย่างห้างสรรพสินค้า การเคหะแห่งชาติ โรงเรียนบางกะปิ ผู้แทนมัสยิด ผู้แทนชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วัดศรีบุญเรือง ชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาให้เป็นย่านพื้นที่ “สมาร์ทดิสทริกบางกะปิ” (Smart District Bangkapi) เพื่อให้เป็น “ย่านเมืองขนาดกลางน่าอยู่อัจฉริยะ”
วัตถุประสงค์เพื่อต้องการจะบูรณาการแผนเมืองน่าอยู่อัจฉริยะกับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพฯ ได้มีการออกแบบและผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือและการเดินเท้าอย่างไร้รอยต่อร่วมกับสำนักการโยธา กรุงเทพฯ เกิดเป็นโครงการริเริ่ม (Pilot Project) ขึ้นในพื้นที่บางกะปิ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อกลุ่มห้างสรรพสินค้า ตลอดจนตลาดสด สำนักงานเขต ย่านที่อยู่อาศัย ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง โรงเรียนบางกะปิ นิด้าและชุมชนโดยรอบ รวมถึงการร่วมกันกับภาคประชาสังคมออกแบบปรับปรุงทางเดินเท้าที่ดีแบบอารยสถาปัตย์สำหรับกรุงเทพฯ (Universal Walkable Bangkok) เพื่อเป็นต้นแบบเมืองกระชับที่เล็กแต่มีความเชื่อมโยง คล่องตัวและไร้รอยต่อตลอดจนส่งเสริมเมืองน่าอยู่และเช่่อมโยงเข้ากับ “สวนสิบห้านาที” ตามนโยบายของผู้ว่า กทม. สำหรับเขต คือ สวนบางกะบี่ภิรมย์ สวนพฤกษ์ฯคลองจั่น และสวนป่าชุมน้ำบึงกุ่ม เป็นต้น
โครงการวางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืนสำหรับเมืองขนาดกลางในกรุงเทพมหานคร “ย่านบางกะปิ” มุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ ในมิติ ‘เดินทางดี สิ่งแวดล้อมดีและเศรษฐกิจดี’ เพื่อให้พร้อมเป็นเมืองขนาดกลางที่มีโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมทั่วถึงและได้มาตรฐาน เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการบริการสำหรับพื้นที่โดยรอบ
ทำให้เกิดชุมชนเมืองและการบริหารจัดการต้นแบบซึ่งมีกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครและนิด้า เพื่อส่งเสริมแนวทางเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่ไปพร้อมกับการสร้างความตื่นตัวตระหนักรู้ร่วมกันออกแบบและบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นตนเองอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชนเพื่อกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เป็นต้นแบบสำหรับเมืองขนาดกลางแห่งอื่นๆ ของกรุงเทพฯ และประเทศไทยต่อไป
โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. วางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร
2. กำหนดแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในรูปแบบคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน-วิชาการโดยมีสถาบันนิด้าฯ และมูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบางกะปิเป็นคณะทำงานและประะสานความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาเมือง
3. สร้างโครงการต้นแบบเพื่อการพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชนและสถาบันการศึกษา ได้แก่ โครงการ Skywalk, โครงการทางเดินเพื่อทุกคนด้วยหลักการออกแบบเพื่อทุกคน, โครงการทางเดินริมน้ำ, โครงการสวนสาธารณะยกระดับ
ทั้งนี้มีผลจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ เวทีสมาร์ทบางกะปิ #1 : สวนใกล้บ้าน x ลาน "คน" เมือง ไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เวทีสมาร์ทบางกะปิ #2 : เสน่ห์ย่านเมือง X ลานเล่นรู้ร่วม(Playgrow) วันที่ 29 มีนาคม 2566 และ เวทีสมาร์ทบางกะปิ #3: พลเมืองร่วมสร้าง (City Co-Creation) วันที่ 25 เมษายน 2566 นั้น ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ย่านบางกะปิในการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นั่นคือประชาคมในพื้นที่ย่านบางกะปิ ทั้ง 4 เกลียว ได้แก่ วิชาการ ราชการ ธุรกิจและประชาชน เพื่อให้เกิดต้นแบบย่านเมืองในกรุงเทพมหานคร
โดยกิจกรรมเวทีเสวนาและระดมความคิดเห็น ‘สมาร์ทบางกะปิ #4 บางกะปิเมืองยั่งยืน (Sustainable Bangkapi)’ ครั้งนี้จะจัดเป็นครั้งที่ 4 เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่บางกะปิในการร่วมออกแบบสร้างบางกะปิเมืองยั่งยืน (Sustainable Bangkapi) ให้เป็นเมืองที่เกิดจากวาระพลเมืองร่วมสร้าง (City Co-Creation) อย่างแท้จริง
โดยความก้าวหน้าในปัจจุบันนอกเหนือจากโครงการสวนและลานลอยฟ้าบางกะปิ (Bangkapi Skylink) มีดังนี้ คือ 1) นิด้าได้จัดทำแบบปรับปรุงสวนบางกะปิภิรมย์ตรงข้ามสำนักงานเขตบางกะปิให้เป็นสวนที่ทุกคนเข้าถึงได้ด้วยหลักการ Universal Design รองรับโครงการ skylink คงอัตลักษณ์เขตบางกะปิในชื่อ “สวนบางกะปิภิรมย์” อีกทั้งสวนนี้ยังมีลานเด็กเล่น Playgrow เพื่อเด็กทุกคนที่ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร เมื่อการก่อสร้างปรับปรุงสวนแล้วเสร็จจะเป็นสวน 15 นาที
สอดคล้องกับนโยบายกรุงเทพมหานคร และ 2) นิด้าร่วมกับสำนัการโยธา สำนักการวางผังพัฒนาเมือง สำนักการจราจรและขนส่ง เป็นต้น โดยร่วมมือกับภูมิสถาปนิก สถาบันอาศรมศิลป์ Urban Studies Lab และเครือข่ายอื่นๆ ออกแบบและขับเคลื่อนเมืองเดินทางดีด้วยอารยสถาปัตย์ (Universal Walkable City)
“สวนบางกะปิภิรมย์” เป็นต้นแบบสวนที่เกิดจากร่วมทุนกันก่อสร้างระหว่างภาครัฐ คือ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครในงบประมาณ 3 ล้านบาท และการระดมทุนจากภาคประชาชนในงบส่วนเพิ่มเติม ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนจัดงบออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับสวนแห่งนี้ ส่วนสถาบันฯ นิด้าโดยงบประมาณโครงการวางและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืนสำหรับเมืองขนาดกลางในกรุงเทพมหานคร ย่านบางกะปิ งบประมาณแผ่นดิน (2566) จัดงบทำแผนแม่บทพร้อมทั้งแบบรายละเอียดพัฒนาเมืองพื้นที่ 4 ตร.กม. ประกอบด้วยพื้นที่สวนสาธารณะ ลานสวนหย่อม ทางสัญจร จำนวน 8 แห่ง
การจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ
1. ส่งมอบแบบเบื้องต้น ย่านบางกะปิเดินทางดีด้วยอารยสถาปัตย์ (Universal-Walkable Bangkapi) ต่อกรุงเทพฯ พร้อมเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อติดตามผลการจัดสรรงบประมาณและดำเนินการปรับปรุงจริง
2. ส่งมอบผังบริเวณและแบบลิฟต์เพื่อคนพิการและคนทุกคนในโครงการ Bangkapi Skylink เพื่อให้กรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดสรรงบประมาณจาก “โครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ (ลาดพร้าว-เสรีไทย)” กรุงเทพฯ
3. ระดมความคิดเห็นในประเด็น 1) MOU การขับเคลื่อนสวนบางกะปิภิรมย์ระหว่างสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานครและมูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน 2) Universal design ทางสัญจรเพื่อทุกคนในพื้นที่บางกะปิ และ 3) ความก้าวหน้าโครงการพื้นที่ชุ่มน้ำบึงกุ่ม 4. ระดมความคิดเห็น รวมพลังออกแบบบางกะปิเมืองยั่งยืนสำหรับเราทุกคน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า แผนแม่บทนิด้าได้รับงบประมาณปี 2566 คาดว่าประมาณตุลาคมนี้หรืออย่างช้าสิ้นปีนี้แผนแม่บทจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยจะมีแผนแม่บทพื้นที่ด้านล่างสกายลิ้งค์ทั้งหมด ซึ่งเป็นเมืองอารยสถาปัตย์ด้านการเดินทาง โดยพื้นที่สกายลิ้งค์เกือบ 2,000 เมตรนั้นขณะนี้แบบเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะนำเสนอผอ.สนย.กทม. ได้ทันที เพื่อที่จะนำไปกำหนดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องตามแผน เพื่อนำเสนอของบประมาณสนับสนุนต่อไป ส่วนทั้งหมดนี้ถือเป็นแผนปฏิบัติการ
ส่วนแผนแม่บทด้านการเดินทาง แผนแม่บทด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจะใช้งบประมาณแผ่นดินเข้าไปดำเนินการ ว่าจ้างสถาปนิกออกแบบสวน 15 นาทีจำนวน 4-5 แห่งใหญ่พร้อมด้วย 4 ทางเดินที่ร่มรื่นริมคลองแสนแสบ ทางเดินถนนที่ร่มรื่น รวมประมาณ 8-9 จุดที่จัดอยู่ในแผนแม่บทดังกล่าวที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนบางกะปิ
“จะบรรจุในงบประมาณของกทม. แต่จะไม่ให้เป็นภาระในการดูแลของกทม.เท่านั้นชาวบางกะปิทุกคน สมาคม ชมรม ห้างร้านหรือมูลนิธิต่างๆจะต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมบำรุงรักษาร่วมกัน ขณะนี้คาดว่าภายในช่วง 3 ปีนี้ทุกสิ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมรองรับกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดังนั้นการวางกรอบความร่วมมือร่วมกันตั้งแต่วันนี้จึงน่าจะได้ความชัดเจน โดยขณะนี้สกายลิ้งค์คืบหน้าแล้วกว่า 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2567 ซึ่งสกายลิ้งค์จะอยู่ระดับสะพานลอยช่วงพื้นที่ใต้ทางรถยนต์ข้ามแยกบางกะปิ ทำให้ประชาชนหรือผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะได้รับความสะดวกในการใช้บริการเข้าสู่ห้างร้าน และศูนย์การค้าตลอดจนตลาดบางกะปิอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้นโดยมีลิฟท์ให้บริการจำนวน 8 จุดขึ้น-ลงปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ใช้ที่ดินก่อสร้างจุดขึ้น-ลงของสกายลิ้งค์ดังกล่าว”
ด้านนายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ (ว่าที่) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตประเวศ พรรคก้าวไกล กล่าวว่าประเวศเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะรองรับการเติบโตของโซนบางกะปิ แต่ยังต้องเพิ่มการบริหารจัดการระบบเชื่อมโยงรถโดยสารให้เข้าถึงพื้นที่มากขึ้น จะเติบโตได้เฉพาะแนวราบเนื่องจากติดข้อจำกัดของสวนหลวงร 9 จึงไม่สามารถขยายที่อยู่อาศัยแนวสูงได้ จะเน้นการเชื่อมโยงเข้ากับถนนสายหลักอย่างศรีนครินทร์ที่จะมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมเข้าสู่บางกะปิได้รวดเร็วขึ้น จึงควรเร่งวางระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนไว้ตั้งแต่วันนี้
“ในอนาคตอันใกล้นี้ประชาชนเขตประเวศจะได้เข้าถึงบริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้อย่างสะดวกขึ้น ถนนกรุงเทพกรีฑาก็น่าจะมีรถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการรูปแบบฟีดเดอร์ โดยภายในตรอกซอกซอยจะมีรถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้บริการ กรมการขนส่งทางบกควรจะวางระบบเชื่อมโยงใหม่ให้สอดคล้องกับความเจริญของเมืองในปัจจุบันซึ่งตนพร้อมจะเข้าไปติดตามเรื่องนี้เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป”