สพพ. ครบรอบ 18 ปี ดัน 90 โครงการพัฒนา 7 ประเทศเพื่อนบ้าน

สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ (สพพ.) องค์กรเพื่อการพัฒนาของไทย ได้จัดงานพบสื่อมวลชนและแถลงข่าวเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 18 ปี ของ สพพ. “พีรเมศร์” เผยเดินหน้าเร่งผลักดัน 90 โครงการร่วมพัฒนา 7 ประเทศเพื่อนบ้านของไทยภายใต้งบกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
 
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ (สพพ.) เผยว่าได้นำเสนอโครงการความร่วมมือทางการเงิน (Financial Assistance : FA) และทางวิชาการ(Technical Assistance : TA) กับประเทศเพื่อนบ้าน ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา

โดยได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะยาว ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ สพพ. (พ.ศ. 2563 – 2582) เพื่อเป็น “องค์กรชั้นนำในการร่วมพัฒนาและสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ใน 2 ด้าน คือ (1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (การร่วมมือทางการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค) และ (2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์)

สพพ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาเมืองและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Economic Corridors)

ปัจจุบันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่ม 7 ประเทศเพื่อนบ้าน มีจำนวน 90 โครงการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 22,284.78 ล้านบาท แบ่งออกเป็น (1) โครงการความร่วมมือทางการเงิน จำนวน 29 โครงการ วงเงิน 21,910.69 ล้านบาท (2) โครงการความร่วมมือทางวิชาการ จำนวน 21 โครงการ วงเงิน 346 ล้านบาท และ (3) โครงการถ่ายทอดความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 40 โครงการ วงเงิน 28.09 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2566)

ทั้งนี้ สพพ. ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและโครงการใหม่ที่จะส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) อย่างเต็มรูปแบบ

การดำเนินโครงการของ สพพ. มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาด ของ COVID-19 การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศคู่พัฒนา เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ใดก็ตาม สพพ. ยังมีความมุ่งมั่นผลักดันโครงการที่สำคัญและพัฒนาการปฏิบัติงานภายในองค์กร และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการปฏิบัติ เช่น Paper Less Office / Work From Anywhere อีกทั้ง สพพ. ได้รับการประเมินการบริหารจัดการของภาครัฐที่ดี อาทิ ด้านคุณธรรมความโปร่งใส (ITA) การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA 4.0) ความพร้อมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลภาครัฐ (Digital Transformation)

สำหรับการบริหารจัดการภายนอก สพพ. ได้มีการติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อระบุปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน และหามาตรการแก้ไขได้ทันการณ์ พร้อมกับมีการสำรวจระดับความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ (Stake Holders) เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของโครงการให้ได้มาตรฐาน ประกอบการจัดการโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะรักษาไว้ในฐานะองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่องค์กร ต่อยอดนโยบายความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในด้านต่างๆ ทุกมิติ

สำหรับโครงการของสพพ.ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและโครงการใหม่ที่จะส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทางคมนาคมที่สำคัญตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) อย่างเต็มรูปแบบ สรุปได้ดังนี้ (ดูตารางประกอบ)