มธ.บูรณาการทีมวิจัย ร่วมขับเคลื่อน 10 ทางข้ามต้นแบบ

คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตาร์ (มธ.) ร่วมบูรณาการนักวิจัยหน่วยเกี่ยวข้อง จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เรื่อง “การคัดเลือก 10 ทางข้ามต้นแบบ เพื่อบูรณาการนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน” ในโครงการ “การบูรณาการนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนบริเวณทางข้ามเพื่อลดอัตราการตายและบาดเจ็บของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกรูปแบบการเดินทาง”

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “การคัดเลือกทางข้ามต้นแบบ เพื่อบูรณาการนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน” ในโครงการ “การบูรณาการนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนบริเวณทางข้ามเพื่อลดอัตราการตายและบาดเจ็บของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกรูปแบบการเดินทาง”

โดยได้รับเกียรติจากรศ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ มีใจความตอนหนึ่งว่า เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมาตนได้ทำการผ่าตัดทุกคืน ผู้ป่วยล้วนเป็นเคสจากอุบัติเหตุทั้งสิ้น ตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุมากขึ้นทุกปี อยู่อันดับ 2 ของโลกทั้งๆที่อันดับ 1 มีตัวเลขอยู่ที่ 6 หมื่นคน ปัจจุบันตนทำหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวพบนักวิจัยและเกิดองค์ความรู้มากมาย อีกทั้งแผนพัฒนาของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ยังกล่าวถึงแผนการพัฒนาโครงการนี้เอาไว้ด้วย ประเด็นคือไม่ได้ลดอัตราการตายได้เลย แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 (2566-2570) ต้องการลดจากจำนวน 28 คนต่อ 1 แสนคน เหลือ 12 คนต่อแสนคน ดังนั้นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต้องสามารถลดจำนวนลงให้ได้

“โครงการวิจัยครั้งนี้จึงได้ออกแบบและพร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อนำมาร้อยเรียงเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะทางข้ามและจะลดอัตราการตาย การบาดเจ็บได้อย่างไร ดังนั้นการออกแบบจะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาและปิดช่องว่างเหล่านั้นให้หมด ท้ายสุดคงได้เห็นการนำผลวิจัยครั้งนี้ออกมาใช้งานจริงและเกิดประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์”

จากนั้นได้เรียนเชิญนายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.กทม.) ประธานพิธีกล่าวเปิดการสัมมนา มีใจความตอนหนึ่งว่า ทางข้ามถนนกทม.จัดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า มีสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนเฉลี่ยปีละ 870 ราย ซึ่งนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปัจจุบันคือ เดินทางดี ปลอดภัยดี

“การเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนเดินเท้าและผู้ขับขี่ใช้ถนนร่วมกันให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผลลัพธ์จากการรับฟังความเห็นวันนี้คงจะได้เห็นนวัตกรรมความปลอดภัยนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ยานพาหนะพร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป”

ทั้งนี้รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยโครงการนี้ กล่าวว่า ทางคณะวิจัยคัดเลือกเอาไว้จำนวน 25 จุดและนำมาเป็นต้นแบบก่อนจำนวน 10 จุดในการระดมความเห็นในวันนี้ซึ่งในการคัดเลือกได้นำระบบข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์แต่ละจุดจนคัดเลือกออกมาได้ตามจำนวน 25 จุดและ 10 จุดดังกล่าว

“ได้ข้อมูลมาจากระบบทุติยภูมิทั้งหมด ข้อมูลที่บูรณาการกับหลายหน่วยงานซึ่งจากชุดข้อมูลดังกล่าวสามารถจัดแบ่งพื้นที่การเกิดอุบัติเหตุของกรณีคนข้ามถนนออกได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งหรือองค์ประกอบอื่นๆ โดยชุดข้อมูลที่ได้มาสามารถระบุจุดเสี่ยงได้ ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯพบว่ามีกว่า 2,000 จุด แบ่งความเสี่ยงแต่ละระดับออกได้ว่าเสี่ยงน้อย เสี่ยงมาก แบ่งออกเป็นจุดเสี่ยงเขียว เหลือง แดง แต่ละจุดมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เบื้องต้นนั้นพบว่ามีจำนวนมากถึง 16 องค์ประกอบซึ่งทุกจุดล้วนจะเป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากเกิดเหตุมาแล้วทั้งสิ้นนั่นเอง”

ด้านรศ.ดร.มงกุฎ เพียรธนะกูลชัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นการวิเคราะห์ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงวิศวกรรม และเชิงข้อมูล โดยในเชิงวิศวกรรมจะมองในกายภาพและลักษณะของถนนที่มีทั้งส่วนถนนที่ใช้ความเร็วสูงและในพื้นเมือง ใช้ความเร็วและช่องจราจรแตกต่างกันไป

“วันนี้ความเห็นเชิงหลักการทีมวิจัยมีให้แล้ว แต่จะเพียงพอหรือไม่หากจึงอยากได้ความเห็นจากผู้มีส่วนร่วมในวันนี้ จาก 25 จุดที่คัดกรองมาและคัดเหลือ 10 จุดนำร่องที่จะนำไปทดลองทดสอบก่อนที่จะนำเสนภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป”

ด้านผศ.ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 10 ต้นแบบทางข้ามในวันนี้จะมีการคัดเลือกพร้อมลงพื้นที่ไปสำรวจเชิงลึกต่อไป ทั้งประเภทหน้าโรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด ศูนย์การค้า เป็นต้น โดยจะดูทั้งกายภาพและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กล้องวงจรปิด ระบบไฟส่องสว่าง ซึ่งมุมของกล้องวงจรปิดต้องครอบคลุมทั้งรถและคนเดินข้าม เพื่อทำข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนนำส่งกรุงเทพมหานครรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

“อาจจำเป็นต้องใช้ระบบ AI เข้าไปติดตั้งเพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลในแต่ละจุดทั้งเกี่ยวกับความเร็วรถหรือคนข้าม พฤติกรรมระบบจราจรทั้งสองฝั่ง อาจต้องดูกรณีการติดตั้งมิเตอร์ระบบไฟฟ้าว่าแต่ละจุดใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าไหร่ เสาจะรองรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน หรือแนวทางหนึ่งอาจมีการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ที่จะต้องใช้งานได้เป็นระยะเวลานานมาดำเนินการเป็นการเฉพาะ แม้กระทั่งการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ต้องป้องกันไฟรั่ว ดังนั้นเรื่องกายภาพ หรือสเปครายละเอียดก็จะต้องศึกษาและกำหนดเป็นเงื่อนไขเอาไว้เพื่อประสิทธิภาพการทำงานซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณเข้าไปดำเนินการทั้งสิ้น”