สภากทม. เห็นชอบผ่านงบปี 66 วงเงิน 79,719 ลบ.
สภากทม. เห็นชอบผ่านงบกทม.ปี 66 วงเงิน 79,719 ล้านบาท ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำบทบาทของฝ่ายบริหารและสภา คือสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่ตอบโจทย์ความโปร่งใส
(18 ส.ค.65) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยในวันนี้สภากรุงเทพมหานคร มีวาระสำคัญพิจารณา คือ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
ในที่ประชุม นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้สภากรุงเทพมหานคร พิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม
“คณะกรรมการวิสามัญฯ 62 ท่าน ได้ประชุมและพิจารณากลั่นกรองงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง และได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 42 คณะ พร้อมรับฟังเหตุผลความจำเป็นในการขอตั้งงบประมาณ รายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายของรัฐและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรุงเทพมหานคร และพิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า ความเหมาะสมของพื้นที่ สภาวะเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร” นายสุทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณางบประมาณที่ฝ่ายบริหารตั้งขอ รวมจำนวน 79,825,132,600 บาท มีมติปรับลดงบประมาณ จำนวน 4,803,793,728 และเห็นชอบรายการงบประมาณรายจ่าย ที่ผู้บริหารได้เสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณเท่ากับจำนวนเงินที่ปรับลด ส่วนงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร ได้ปรับลด 106,120,550 บาท รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวนทั้งสิ้น 79,719,012,050 บาท
อย่างไรก็ตามในที่ประชุม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ขอสงวนความคิดเห็นเพื่ออภิปรายในที่ประชุมหลายท่าน ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวิลัย ได้สงวนความเห็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย โดยไม่ได้คัดค้านโครงการดังกล่าวแต่ขอให้ชะลอโครงการเพื่อให้มีการรับฟังความเดือดร้อนจากประชาชน รวมถึงนายพีรพล ได้สงวนคำแปรญัตติ งบค่าใช้จ่ายในการเพิ่มศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสวนสาธารณะของสำนักสิ่งแวดล้อม แต่เห็นว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการก่อสร้างซึ่งควรตั้งที่สำนักการโยธา จึงขอให้การตั้งงบประมาณในปีถัดไปให้คำนึงถึงภารกิจของหน่วยงานเป็นหลัก ในส่วนของงบประมาณโครงการ Trade Show ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจระดับชาติ จึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ของกทม. รวมถึงงบประมาณที่เห็นว่าควรปรับลดก็เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้มีเงินเหลือสำหรับใช้ดำเนินการตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปีถัดไป
ด้านนายวิรัช คงคาเขตร ขอสงวนความเห็น 1 รายการของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยเห็นว่าพันธกิจของสำนักสิ่งแวดล้อม และทุกหน่วยงานของกทม. ที่สำคัญคือการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเสนอขอจัดซื้อรถยนต์ดีเซลของทุกหน่วยงานควรมีการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากหน่วยงานของกทม.ควรมุ่งลดมลพิษทางอากาศ งบประมาณปีหน้าควรพิจารณาในเรื่องนี้ใหม่ นอกจากนี้นายวิรัช ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงบประมาณการปรับปรุงเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเปลี่ยนวิธีการรดน้ำต้นไม้ และการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กทม.ให้มีศิลปะ
นอกจากนี้ นายณภัค เพ็งสุข ได้ขอสงวนความเห็น 3 รายการของสำนักงานเขตลาดพร้าว อาทิ รายการเกี่ยวกับค่าวัสดุน้ำมันงานดูแลสวนและพื้นที่สีเขียว ซึ่งนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันเขตได้ใช้งบประมาณเกี่ยวกับค่าน้ำมันโดยคำนึงถึงความจำเป็น อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาน้ำมันสูงขึ้นและในอนาคตราคาน้ำมันอาจจะสูงขึ้นอีก จึงทำให้ต้องตั้งงบประมาณน้ำมันไว้สูงขึ้นตาม แต่หากมีงบเหลือจะตกเป็นงบกลาง และตกเป็นเงินสะสมของกทม. ซึ่งงบสะสมกทม.จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของกทม.ต่อไปได้ ทั้งนี้ภายหลังการชี้แจงของฝ่ายบริหาร นายณภัคได้ขอถอนคำสงวนความเห็นในประเด็นของสำนักงานเขตลาดพร้าว จากนั้นนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ได้ขอสงวนความเห็น 1 รายการของสำนักงานเขตวัฒนา โดยขอให้ทุกครั้งที่มีการออกแบบก่อสร้างถนน ควรให้มีการสร้างบ่อพักตามแนวด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการระบายน้ำ
คกก.วิสามัญพิจารณางบ 66 ตั้งข้อสังเกตที่ผู้ว่าฯ ควรทราบและควรปฏิบัติ
ในส่วนของข้อสังเกตที่คณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควรทราบและควรปฏิบัติ ประกอบด้วย ข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ข้อสังเกตทั่วไป ได้แก่ การจัดทำโครงการต่าง ๆ ควรดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนากรุงเทพมหานคร คำนึงถึงประโยชน์ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และควรพิจารณาให้มีความเหมาะสมตามโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน ไม่ควรดำเนินการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ จักต้องวิเคราะห์ภาระที่ต้องรับผิดชอบโดยละเอียด ผลกระทบต่องบประมาณที่จะนำมาใช้บริหารจัดการในอนาคต ทุกหน่วยงานจักต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณและเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้จ่ายงบประมาณรวมอยู่ในช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีควรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการด้วย
ในส่วนของข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ได้แก่ สำนักการศึกษา : ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษโรงเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานครนั้น การคัดเลือกครูผู้สอนควรเน้นคุณธรรมและจริยธรรมเป็นสำคัญ และควรเพิ่มค่าวิชาชีพสำหรับครูผู้สอนในโรงเรียนดังกล่าวให้สูงขึ้น รวมทั้งควรเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ด้วย นอกจากนี้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครควรพิจารณาเพิ่มห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องเพื่อการวิจัย รวมทั้งควรส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว : การขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีควรดำเนินการรูปแบบใหม่ที่นอกเหนือจากกิจกรรมประจำที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ส่งเสริมอีสปอร์ต หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมแนวใหม่ให้มีความยั่งยืนตามยุคสมัยมากขึ้น
สำนักพัฒนาสังคม : การจัดอบรมให้ความรู้แก่กรรมการชุมชนควรแยกดำเนินการตามพื้นที่เขต ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการเดินทางและความพร้อมในการดำเนินงานของแต่ละเขต
สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย : กรุงเทพมหานครควรอบรมให้ความรู้การระงับอัคคีภัยและสนับสนุนอุปกรณ์ดับเพลิงแก่อาสาสมัครในชุมชน เพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้เบื้องต้น และควรสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัคร เพื่อให้การระงับเหตุเพลิงไหม้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งควรติดตั้งหัวดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และกรุงเทพมหานครควรสำรวจจำนวนบ้านเรือนประชาชน ชุมชนที่จดทะเบียนและมิได้จดทะเบียน ทั้งนี้ เพื่อจักได้จัดสรรถังดับเพลิงให้เพียงพอ เพื่อป้องกันระงับเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน
ลงมติเห็นชอบวาระที่สอง และวาระที่สาม ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานคร ได้ลงมติเห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่สองและวาระที่สาม โดยงบประมาณปี 66 ของกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 79,719,012,050 บาท
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวขอบคุณสภากรุงเทพมหานครและคณะกรรมการวิสามัญฯ ที่ได้ร่วมกันพิจารณางบปี 66 ของกทม.ผ่านวาระ 3 ฝ่ายบริหารจะนำงบประมาณที่ได้รับไปใช้ด้วยความรอบคอบ มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างบริการประชาชน โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้การใช้งบมีความคุ้มค่าที่สุด
“ภาระหน้าที่ของฝ่ายบริหารและสภากทม.ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ดูแลประชาชน บทบาทที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจและไว้ใจให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยยังคงระบอบการปกครองที่เข้มแข็ง ตอบโจทย์ และโปร่งใส โดยเฉพาะการกระจายอำนาจท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ อำนาจของฝ่ายบริหาร และอำนาจของสภากรุงเทพมหานครจึงสามารถตอบโจทย์ประชาชน ด้านความโปร่งใสและคุ้มค่าได้เป็นอย่างดี” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 2 เรื่อง คือ การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. … และ เรื่อง ทุนส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. … และที่ประชุมได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 2 คณะ เพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ทั้ง 2 เรื่อง คณะฯ ละ 16 ท่าน กำหนดพิจารณาภายใน 15 วัน
รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติต่อที่ประชุม ดังนี้ นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของปราชนจากมูลฝอย และ นายกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนศาลธนบุรี รวมถึงสภากรุงเทพมหานครได้เลือกตั้งคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร 11 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการกิจการสภา คณะกรรมการการศึกษา คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง คณะกรรมการการสาธารณสุข คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม คณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง คณะกรรมการการระบายน้ำ และคณะกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา