ผ่างบกทม. 980 ล้าน พัฒนา “สวนคลองช่องนนทรี” 70 ไร่
ผ่าโครงการ 70 ไร่สวนคลองช่องนนทรีกับงบ 980 ล้านบาทของกทม. นำร่องก่อน 80 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนสุรวงศ์-ถนนพระรามที่ 3 ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กม. กว้าง 15 เมตร แบ่งเป็น 5 ช่วงดำเนินการ คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 65
นับตั้งแต่ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” ได้เริ่มเปิดเฟสแรกให้ได้ยลโฉมตั้งแต่วันคริสมาสต์ 2564 เป็นต้นมา ก็มีผู้คน รวมทั้งสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกันไม่ขาดสาย มีทั้งเสียงชม เสี่ยงบ่น คำถาม และการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา ที่เจ้าของโครงการอย่างกรุงเทพมหานครไม่อาจจะมองข้ามเพราะล้วนแต่เป็นข้อมูลที่สามารถนำเป็นใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานในระยะต่อไป
พาดหัวข่าวจากหลายสำนักต่างพุ่งเป้าไปที่งบโครงการ 980 ล้านบาท จนทำให้หลายคนตกใจกับตัวเลขหากไม่ได้เจาะรายละเอียดให้ลึกลงไปซึ่งจะพบว่าที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้เป็นเพียงส่วนที่ 2 ของโครงการ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ส่วน และใช้งบ 80 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท คำถามคาใจที่ยังตามมาอีกมากมาย 80 ล้านบาทใช้อะไรบ้าง แล้วส่วนที่เหลือจะทำอะไร จะเสร็จเมื่อไร ทำแล้วชาวกรุงเทพฯ จะได้อะไรจากโครงการนี้ ฯลฯ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน
สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร โดยนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักฯได้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ว่า โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 15 เมตร แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท ช่วงที่ 2 จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1,600 เมตร วงเงินงบประมาณ 370 ล้านบาท ช่วงที่ 4 จากถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1,000 เมตร วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท ช่วงที่ 5 จากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเฉลี่ยงบประมาณทั้งโครงการถือเป็นการลงทุน 7,000- 8,000 บาท/ตารางเมตร
“ตลอดแนวโครงการทั้ง 5 ช่วง มีงานโครงสร้างเสาเข็มเพื่อค้ำยันเขื่อนและเป็นฐานที่แข็งแรงรองรับการปลูกต้นไม้และงานอื่น ๆ รวมทั้งการขุดลอกคลอง ซึ่งจะช่วยลดโคลนตมที่สะสมและและลดกลิ่นเหม็นของน้ำในคลองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน คือ งานก่อสร้างสวนสาธารณะในคลองช่องนนทรีซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ รวมถึงการปรับปรุงทางเท้าบริเวณโดยรอบและส่วนต่อเนื่อง ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานก่อสร้างและปรับปรุงลานกิจกรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
โดยระยะ 200 เมตรแรกจากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 (ช่วงที่ 2) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้ตั้งแต่ 25 ธ.ค.64 ถือเป็นไฮไลต์สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS รองรับคนที่ใช้บริการวันละกว่า 1 แสนคน และรถเมล์ BRT ประมาณ 1-1.5 หมื่นคน/วัน รวมถึงประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานบริเวณใกล้เคียงกว่า 2.3 หมื่นคน สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่นี้ได้
สำหรับจุดนี้จึงมีการออกแบบให้มีความโดดเด่นแปลกตา โดยเฉพาะโซนลานกิจกรรม ซึ่งมีการติดตั้ง 3D Printing ผนังน้ำตก ระบบน้ำล้น (Fog) ทำทรายล้าง ปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้น้ำนานาชนิด งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและไฟประดับ โซน sky walk มีการปูหินแกรนิตพื้นทางเดิน ติดตั้งราวกันตกทางเดิน ปลูกต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่ม รวมทั้งทำทางพื้นคอนกรีตเป็นทางเดินเข้าสวนฯ เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี และ BRT
ขณะนี้กำลังเร่งรัดช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับช่วงที่ 2 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา ครั้งที่ 2 เพื่อหาตัวผู้รับจ้าง ส่วนอีก 3 ช่วงที่เหลือจะดำเนินการหาตัวผู้รับจ้างต่อไป คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565
เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ และปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในระยะยาว เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นเส้นทางออกกำลังกาย รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
การพัฒนาคลองช่องนนทรี ไม่ได้มุ่งแต่การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะทำให้คลองมีประโยชน์มากกว่าทางระบายน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเสียแยกออกจากน้ำดี และน้ำเสียที่แยกออกมาจะถูกบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ไล่น้ำเสียในคลองสายอื่นที่เชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี รวมทั้งยังคงมีศักยภาพในการลำเลียงน้ำในฤดูฝนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้มของโครงข่ายการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสีฟ้าเขียวซึ่งจะเชื่อมต่อเส้นคลองสาทร สู่สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ สู่คลองแสนแสบและคลองเตยซึ่งเชื่อมต่อหากันทั้งหมด
รายละเอียดด้านประสิทธิภาพการระบายน้ำและข้อกังวลเรื่องน้ำเสียอันเป็นผลกระทบจากโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ติดตามได้ในตอนหน้า ทางเพจ “กรุงเทพมหานคร” โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร