กลุ่มธรรมาภิบาลล็อกเป้าบิ๊กตู่ เปิดโปงถลุงงบทรัพยากรน้ำค่ากว่า 1 ล้าน ลบ.
กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่นยื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลชี้เป้าบิ๊กตู่สั่งสอบเชิงลึกประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติและผู้เกี่ยวข้อง เผยปมส่อทุจริตถลุงงบบริหารจัดการน้ำทั้ง 76 โครงการรวมกว่า 1 ล้านล้านบาทเหตุ 4 ปีน้ำยังท่วมซ้ำซากแถมไร้ประสิทธิภาพแก้ภัยแล้ง
นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น เปิดเผยว่าได้ยื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเรื่อง ขอให้ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ โดยเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมสำเนาถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ,ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
โดยในครั้งนี้กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ได้รับการแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภายใต้การบริหารงานของนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในระหว่างปี 2561-2564 ไม่สามารถดำเนินการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยตามนโยบายได้จริง
“เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำของสทนช. โดยมีงบประมาณดำเนินการช่วงปี 2561-2564 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่าดำเนินการไปในลักษณะใด ทำไมจึงพบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเกิดขึ้นอีกในหลายจังหวัด ทั้งๆที่ผ่านมาแล้ว 3-4 ปี จึงเจาะลึกไปในเรื่องงบบริหารจัดการน้ำดังกล่าวว่าเพราะเหตุใดยังเกิดปัญหาอีกในปัจจุบัน ซึ่งสทนช. ก่อตั้งมาโดยมาตรา 44 ยุคคสช. ช่วงแรกๆนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ต่อมาปี 2562-2563 ได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทน ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาควรจะโชว์ศักยภาพให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมได้มากกว่านี้จึงเป็นประเด็นที่ประชาชนวิตกกังวลว่างบประมาณที่ใช้ไปทั้งหมดและเป็นภาษีของประชาชนได้นำไปดำเนินการคืบหน้าอย่างไรบ้างจึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการตรวจสอบในเรื่องนี้”
ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลฯ กล่าวต่อว่า โดยมีข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ สทนช. จัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามอำนาจแห่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักหรือศูนย์กลางที่กำกับดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ในลักษณะเป็น “ เสนาธิการหรือมันสมองด้านน้ำของรัฐบาล ” ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยขึ้นตรงและรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เชื่อมโยงกับหน่วยปฏิบัติงานด้านน้ำ เช่น กรมชลประทาน , กรมทรัพยากรน้ำ , กรมทรัพยากรน้ำบาดาล , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ และพิจารณางบประมาณในโครงการเพื่อพัฒนา ก่อสร้าง ซ่อมแซม เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดทั่วประเทศครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เชื่อมโยงความต้องการของพื้นที่สู่การแก้ปัญหาระดับนโยบาย
โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 64/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 166/2562 โดยมอบหมายและมอบอำนาจให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ครั้งที่ 1) และต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 239/2563 มอบหมายและมอบอำนาจให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ครั้งที่ 2) จนถึงปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้กลุ่มธรรมาภิบาลฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลพบปัญหาที่ประชาชนต้องการให้ตรวจสอบ ดังนี้
1. ข้อมูลระหว่างปี 2561-2564 พบว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนา ก่อสร้าง ซ่อมแซม ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยทั้ง 4 ภาค ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำ และเชื่อมโยงความต้องการในพื้นที่สู่การแก้ปัญหาระดับนโยบาย ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของประเทศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) งบประมาณรวม 4 ปี กว่า 1 ล้านล้านบาท นั้น ผลการดำเนินการปรากฏว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้แต่อย่างใด ประชาชนยังต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งอยู่เช่นเดิม ส่วนในฤดูฝนและหน้าน้ำหลากก็ยังเกิดปัญหาอุทกภัยรุนแรงแบบซ้ำซากดังที่เห็นเกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่ของประเทศอยู่เป็นประจำ เสมือนกับว่าไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลแต่อย่างใด
2. สทนช.โดยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้พิจารณาอนุมัติโครงการจ้างงานศึกษา จัดทำแผน วิจัย ประเมินผล และจ้างที่ปรึกษา ระหว่างปี 2561-2564 เพื่อศึกษาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย จำนวน 76 โครงการ งบประมาณ 1,932 ล้านบาท (หนึ่งพันเก้าร้อยสามสิบสองล้านบาท) โดยกรณีดังกล่าวได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส ไม่คุ้มค่าต่อเงินแผ่นดิน น่าจะเป็นการจัดทำโครงการทั้ง 76 โครงการที่มีเจตนาเพื่อให้มีการใช้งบประมาณที่สูงกว่าการดำเนินการที่แท้จริง และท้ายที่สุดไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรืออุทกภัยได้จริง
ดังนั้น จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงต่อประชาชนเป็นการเร่งด่วน ใน 2 ข้อ ดังนี้
1.การใช้งบประมาณจำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2561-2564 เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตามนโยบายของรัฐบาลนั้น มีข้อผิดพลาดหรือไม่ อย่างไร และเพราะเหตุใดในหลายๆจังหวัดจึงตกอยู่ภาวะน้ำท่วมและเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในขณะนี้
2.โครงการศึกษา จัดทำแผน วิจัย ประเมินผล และจ้างที่ปรึกษาทั้งหมดทั้ง 76 โครงการ ได้มีการดำเนินการเป็นไปตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยจริงหรือไม่ หรือ มีผู้ใดผู้หนึ่งจัดทำและเสนอโครงการเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนต่างจากเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่
“โดยทั้ง 76 โครงการที่สทนช. มีแผนดำเนินการระหว่างปี 2561-2564 แล้วยังขอให้ตรวจสอบโครงการที่คาดว่าจะดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2564 ทั้ง 16 โครงการวงเงินกว่า 381 ล้านบาทว่าคืบหน้าจริงหรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังมีโครงการที่ใช้งบประมาณเหลือจ่าย และโครงการเบิกแทนกันอีก 11 โครงการ วงเงินกว่า 77 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบเหลือจ่าย 37 ล้านบาท และงบที่เบิกแทนกรมชลประทานอีก 39 ล้านบาทกำลังถูกตรวจสอบจากประชาชนในขณะนี้”
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจากกรมทางหลวง)