ชำแหละงบกว่า 5 พันล้าน รอ “ผู้ว่าเมืองพะเยา” คนใหม่เร่งขับเคลื่อน
จับตาเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 5 พันล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองพะเยา รอผู้ว่าฯ “โชคดี อมรรัตน์” คนใหม่ทำหน้าที่ 4 เดือนก่อนเกษียณ เผยมีทั้งงบขุดลอก ทำถนนและสะพานแขวนเชื่อมกว๊านพะเยา คาดปลายปีนี้เห็นภาพทีโออาร์ชัดเจนก่อนทยอยประมูลต่อเนื่องปี 65
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานายโชคดี อมรรัตน์ ได้เข้าทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนใหม่อย่างเป็นทางการหลังจากมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ให้นายโชคดีพ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง พร้อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยการทำหน้าที่ครั้งนี้มีระยะเวลาเหลืออายุราชการอีกเพียง 4 เดือนเท่านั้นจึงเป็นที่จับตาว่าจะสามารถเข้ามาขับเคลื่อนงบประมาณพัฒนาโครงการต่างๆของจังหวัดพะเยาได้มากน้อยเพียงใด
โดยในเรื่องนี้นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ชาวอำเภอปง จังหวัดพะเยา ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนงบประมาณของจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องเปิดเผย UCD News ว่าอยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนงบประมาณพัฒนาจังหวัดพะเยา โดยเฉพาะงบการจัดทำแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญตามนโยบายเสนอเป็นโครงการสำคัญกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หลังจากที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 และมีข้อสั่งการ 7 ข้อเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนา ฟื้นฟู และการอนุรักษ์แหล่งน้ำกว๊านพะเยา และหนองเล็งทราย ภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 5,465.9843 ล้านบาท
ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดจัดเป็นแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหากว๊านพะเยา โดยหลายโครงการเป็นระบบงบผูกพัน มีทั้งใช้งบกลาง และบางส่วนใช้งบปี 2564 และปี 2565 ทั้งใช้ในการขุดลอก งบก่อสร้างถนน งบก่อสร้างสะพานแขวน ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งต้องการให้เชื่อมเส้นทางไปถึงหนองเล็งทรายซึ่งเป็นพื้นที่อีกหนึ่งจุดเก็บกักน้ำเพื่อป้อนสู่กว๊านพะเยาโดยผนวกให้เป็นแพ็คเกจเดียวกัน มีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วยังมีอนุกรรมการโครงการน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางโดยรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าวซึ่งได้พิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินดังกล่าวแล้วนั้นขณะนี้มีความคืบหน้าหลายเรื่อง
โดยเบื้องต้นนั้นได้ทยอยจ่ายงบประมาณออกมาให้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน ดังนั้นจึงยังมีที่จะต้องเร่งดำเนินการอีกหลายส่วน โดยจะรวมเอางบการพัฒนาวัดติโลการาม (วัดกลางกว๊านพะเยา) เข้าไว้ในแผนพัฒนาครั้งนี้ด้วย จะขุดเพื่อขยายพื้นที่ใกล้เคียงราว 3-4 ไร่เพื่อแก้ไขน้ำท่วมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นผู้ออกแบบ
นอกจากนั้นผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 วาระที่ 4.1.5 คณะทำงานพัฒนาอนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา จำนวน 2 ประเด็น เห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการพัฒนากว๊านพะเยาจำนวน 9 ด้าน โดยมี 2 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำพื้นที่ตอนบนกว๊านพะเยา(อ่างเก็บน้ำห้วยตุ่น) และโครงการขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยา โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 จัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อกำหนดแนวทางเบื้องต้น รวมทั้งพิจารณาเรื่องการท่องเที่ยวร่วมด้วย โดยให้พิจารณาให้ครบทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
จับตางบก้อนโตกว่า 2.6 พันล.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
โดยร่างแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา(ปี 2564-2572) มีหน่วยงานเสนอแผนงาน/โครงการ 12 หน่วยงาน รวม 43 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,465.9843 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้ 1.มิติด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ 22 โครงการ วงเงิน 2,681.63 ล้านบาท 2.มิติด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 โครงการ วงเงิน 70 ล้านบาท 3.มิติด้านการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 13 โครงการ วงเงิน 2,580.50 ล้านบาท 4.มิติด้านการส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต 5 โครงการ วงเงิน 93.45 ล้านบาท และ 5.มิติด้านการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ 5 โครงการวงเงิน 40 ล้านบาท
“ปี 2563 กรมประมงได้รับงบกลางดำเนินการขุดลอกกว๊านพะเยา วงเงิน 19 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จขุดลอกได้ปริมาณน้ำ 0.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนแผนระยะเร่งด่วนกรมชลประทานได้เสนอของบกลางปี 2564 วงเงิน 160 ล้านบาทดำเนินการขุดลอกพร้อมก่อสร้างท่อลอดถนนและอาคารอันน้ำ ความยาว 3.3 กิโลเมตร ปริมาณดินขุด 1.76 ล้าน ลบ.ม.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ”
มีลุ้นงบขุดลอก 750 ล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของคณะทำงานพัฒนาอนุรักษ์ฯ ให้รายละเอียดความคืบหน้าสำหรับแนวทางการพัฒนา 9 ด้านนั้นว่า ประกอบไปด้วย 1) การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค 2) สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน 6) การบริหารจัดการ 7) ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณกว๊านพะเยา 8) การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยา 9) ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินกว๊านพะเยา และเห็นชอบแผนเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ(ปี 2566) จำนวน 2 โครงการ คือ 1. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นช่วยอนุรักษ์กว๊านพะเยา งบประมาณ 50 ล้านบาท และ 2. โครงการขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยา งบประมาณ 750 ล้านบาท
โดยความคืบหน้าคณะทำงานพัฒนาฯเห็นควรปรับระยะเวลาระยะเร่งด่วนปี 2564-2565 ระยะกลาง ปี 2566-2570 และแผนระยะยาวปี 2571 เป็นต้นไปเพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมกับให้ตรวจสอบแผนงานปี 2564-2565 ที่ได้จัดสรรงบประมาณ และอยู่ระหว่างเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2565 กรณีแผนงานเพิ่มเติม เห็นควรให้ใช้งบเหลือจ่ายของหน่วยงานและเสนอของบกลาง หรือปรับแผนดำเนินงานเป็นปี 2566 ต่อไป
“สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูกว๊านพะเยา ใน 5 ด้าน คือ 1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการ 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การออกแบบถนนรอบกว๊านพะเยา 3.การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบกว๊านพะเยา 4.การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดให้มีการก่อสร้างโรงสีชุมชน การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน ปรับเปลี่ยนอาชีพผู้ได้รับผลกระทบและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำที่สำคัญ ส่งเสริมอาชีพชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อลดการบุกรุกทำลายป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ 5.การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ด้วยการควบคุมและกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่
สอดคล้องกับที่นายชุมพล ลีลานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา กล่าวว่า สำหรับงบสะพานแขวนราว 700 ล้านบาทอยู่ระหว่างขอความเห็นไปยังหน่วยงานต่างๆวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและปากท้องของพี่น้องประชาชนชาวพะเยา ดังนั้นหากมองเป็นภาพรวมของจังหวัดที่จะมีส่วนช่วยบูมการค้าขาย ท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดก็จะประสบความสำเร็จตามแผนรวดเร็วขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดรายละเอียดทีโออาร์เพื่อประมูลงานโยธาหรือขั้นตอนร่วมลงทุนได้ในปลายปีนี้และเริ่มประมูลในปี 2565
ด้านความคืบหน้าโครงการขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จเรียบร้อยอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องและทำขั้นตอนอื่นๆควบคู่กันไป สำหรับความชัดเจนโครงการนั้นเทศบาลเมืองพะเยาเป็นเจ้าของพื้นที่ ส่วนภาคเอกชนจะเข้ามาเช่าพื้นที่ไปพัฒนาระยะเวลา 30 ปี ดังนั้นหากรัฐบาลมีงบประมาณดำเนินการก็จะร่นระยะเวลาการพัฒนารวดเร็วขึ้น แต่หากรัฐไม่มีงบดำเนินการก็จะเปิดทางให้เอกชนเช่าลงทุนแล้วแบ่งผลประโยชน์จากการเช่าและรายได้ให้กับเทศบาลเมืองพะเยาตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญาในแต่ละปี เบื้องต้นหากมีการร่วมทุน 1,000 ล้านบาทต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
“ดังนั้นทีมบริหารจัดการจึงต้องมีความเป็นมืออาชีพ และสามารถขับเคลื่อนไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ได้ซึ่งแนวคิดของรอ.ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพะเยาพร้อมสนับสนุนโครงการนี้ โดยต้องการให้เกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”
ปัจจุบันจังหวัดพะเยาถือว่ามีเอกภาพในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆโดยเฉพาะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา(อบจ.พะเยา) เทศบาลเมืองพะเยาพร้อมนำการพัฒนาพื้นที่ โดยโครงการพัฒนาจังหวัดพะเยาตามกรอบวงเงิน 5,465 ล้านบาทยังพร้อมเปิดโอกาสให้เทศบาลในพื้นที่ต่างๆที่มีความสนใจและมีความพร้อมเข้ามาบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การเปิดตลาดซื้อ-ขายสินค้าโอทอป เป็นต้น
ทั้งนี้ “กว๊านพะเยา” เดิมชื่อ “หนองนกเอี้ยง” ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศและอยู่ระหว่างนำเสนอให้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีความสำคัญระดับนานาชาติโดยมีพื้นที่ 12,831.25 ไร่ ความลึกเฉลี่ย 1.93 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้เฉลี่ย 55.65 ล้าน ลบ.ม. (เดิม 33.84 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเติมจากฝายพับได้อีก 21.81 ล้าน ลบ.ม.)โดยมีลำน้ำสาขาไหลมารวมกันที่กว๊านพะเยาจำนวน 13 ลำน้ำ เป็นสัญลักษณ์และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารด้านทรัพยากรประมงหล่อเลี้ยงและสร้างรายได้ให้แก่ชาวพะเยา โดยประสบปัญหาตื้นเขินจากการจมตกตะกอน การขยายตัวของวัชพืช คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาและใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบยังไม่สมบูรณ์