กฎบัตรไทยเร่งระดมความเห็น ตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

กฎบัตรไทยผนึกกลุ่มพัฒนาเมืองถอดบทเรียนพัฒนาขนส่งมวลชน จัดสัมมนาเร่งระดมความเห็นจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเรื่อง “กองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมือง: การอยู่รอดของการสัญจรวิถีใหม่ของไทย” เดินหน้าเร่งจัดตั้งสมาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนประเทศไทยภายใต้ 4 ภารกิจ


นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรไทย กล่าวในการเปิดประชุมผ่านระบบซูม(ZOOM) ในการระดมความเห็นกลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมืองว่า วันนี้คุยเรื่องขนส่งมวลชนท้องถิ่นแม้จะล้ำหน้าไปบ้างก็ตามเนื่องจากระบบขนส่งต้องวางแผนระยะยาว เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการเริ่มทยอยแล้วเสร็จ ส่วนระบบรางขนาดใหญ่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่

ทั้งนี้พบว่ามีบางท้องถิ่นได้ดำเนินการไปบ้างแล้วมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งขอนแก่น ภูเก็ตที่ยังดำเนินการต่อไปได้ ส่วนอุบลราชธานียังมีความพยายามให้บริการ เชียงใหม่หยุดพักชั่วคราวเนื่องจากเจอวิกฤติโควิด-19 เหล่านี้ล้วนใช้ทุนภาคเอกชนทั้งสิ้น ยังไม่ได้หารือภาครัฐว่าทำอย่างไรให้เอกชนทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะขนส่งในตัวจังหวัดขนาดใหญ่ ที่บางครั้งการขอปรับราคาค่ารถเมล์โดยสารดูเหมือนจะยุ่งยากในขั้นตอนอย่างยิ่ง

ประการหนึ่งนั้นยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมของประชาชนเพื่อให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่พบว่ามีใช้จักรยานยนต์จำนวนมากเนื่องจากรวดเร็วกว่าเพราะรอระบบขนส่งมวลชนมานานนั่นเอง

นอกจากนั้นกรณีจะพัฒนารถเมล์โดยสารยังมีปัญหามากมายให้ต้องแก้ไขปรับปรุง อาทิ เรื่องป้ายจอดรถโดยสารมีห้ามปักป้ายเนื่องจากมีสัมปทานเส้นทาง การปรับแก้ไขเส้นทาง บางเมืองเส้นทางบางช่วงมีขนาดเล็ก

“ดังนั้นปัญหาเหล่านี้หากภาคเอกชนจะต้องไปกู้สถาบันการเงินมาดำเนินการจะประสบปัญหาการขาดทุนและเสี่ยงมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีการจัดกองทุนล่วงหน้าก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดนั้นๆ”

การจัดสัมมนาครั้งนี้ยังได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง มุมมองจากประสบการณ์และความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งระดับเมือง โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว อดีตรองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

ช่วงต่อมายังเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่องการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่เมืองใหญ่กรณีศึกษา รถไฟฟ้าสายสีทองโดยคุณมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด(มหาชน)

การบรรยายพิเศษ เรื่องกองทุนและระบบสิทธิประโยชน์สนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมือง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สญชัย ลบแย้ม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การเสวนาเชิงถอดบทเรียนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทพัฒนาเมือง ประกอบไปด้วยคุณสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครสวรรค์ รองประธานกฎบัตรไทย กรณีขนส่งมวลชนเมืองนครสวรรค์ในอนาคต คุณกฤษฎา ปานบำรุง เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีระบบขนส่งมวลชนเมืองสุราษฎร์ธานีในอนาคต พท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด กรณีอุดรซิตี้บัส
คุณนิรามัย เลิศรัตนสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลรวมใจพัฒนาเมือง จำกัด กรณีอุบลซิตี้บัส คุณนิพนธ์ เอกวานิช ประธานกรรมการบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กรณี ภูเก็ตสมาร์ทบัส คุณตฤณวัสส์ สุวรรณปริค เทศบาลนครเชียงใหม่ กรณีรถเมล์ขาวเชียงใหม่

นอกจากนั้นยังได้มีการเสนอแผนปฏิบัติการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมืองและหน่วยงานรับผิดชอบแผนการนำเสนอกองทุน โดย อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ และนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย/เลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวสรุปถึงความสำเร็จในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่าสมาคมการผังเมืองไทย และกฎบัตรไทยขอขอบพระคุณผู้แทนหน่วยงาน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการกฎบัตร ผู้บริหารบริษัทพัฒนาเมือง อาจารย์ นักวิจัย และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 6 National Charter City Talks เรื่อง การพัฒนากองทุนระบบขนส่งมวลชนในครั้งนี้

สำหรับข้อสรุปสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ได้แก่ การจัดตั้งสมาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนประเทศไทย ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการ เบื้องต้นจะตรวจสอบชื่อ กำหนดรายละเอียดข้อบังคับตามระเบียบการจัดตั้ง พร้อมด้วยการกำหนดเจตนารมณ์และกรอบการดำเนินงานภายใต้ 4 ภารกิจ ได้แก่

1. ให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการประสานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บริษัทพัฒนาเมือง และผู้ประกอบขนส่งมวลชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน

2. ศึกษากลไกการพัฒนา กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เสนอกรอบและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่กระจัดกระจาย โครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาตามนโยบายแห่งรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุน การสร้างความสามารถการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชน ส่งเสริมความสามารถของธุรกิจท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต

3. เสนอกรอบคิด แนวทาง และผลักดันการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทุกระบบทั้งรถ เรือ ราง และอากาศยาน สร้างรูปแบบการดำเนินการที่ยืดดหยุ่น ใช้นวัตกรรม และระบบบริหารจัดการบนแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ

4. นำเสนอนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมืองต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนและร่วมผลักดันในบรรลุภารกิจ โดยใช้องค์กรปกครองท้องถิ่นและบริษัทพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประสบการณ์จากขอนแก่นโมเดลเป็นฐานหลักในการทดสอบรูปแบบ sandbox

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป กฎบัตรจะนำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน เสนอคณะกรรมการชุดก่อตั้ง โดยเรียนเชิญผู้ประกอบการในระบบซับพลายเชน และบริษัทพัฒนาเมืองที่ประกอบการขนส่งมวลชนเข้าร่วม