บพท.หนุนมธ.ผนึกมทร.ธัญบุรี ดันระบบรางเชื่อมรังสิต-คลอง 6

บพท.หนุนมธ.-มทร.ธัญบุรีและ 3 เทศบาลในพื้นที่เมืองปทุมธานีเตรียมผนึก “กลุ่มไทยทีม” ร่วมลงทุนเร่งขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรูปแบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจจากสถานีรังสิตของรถไฟฟ้าสายสีแดงไปถึงฟิวเจอร์พาร์คก่อนต่อขยายไปเชื่อมถึงคลอง 6 ด้านกฎบัตรไทยเร่งระดมความเห็นจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล หัวหน้าชุดโครงการกลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้ของจังหวัดปทุมธานี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับ UCDNEWS ว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) วงเงิน 1 ล้านบาทเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงในพื้นที่ปทุมธานีร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) ในการศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ด้วยการใช้พื้นที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ตั้งแต่ฟิวเจอร์พาร์คไปถึงมทร.ธัญบุรี

วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่คลองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากพบว่ามีโครงการหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก เหมาะเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว พัฒนารูปแบบสวนหย่อมได้อีกหลายจุดแล้วเชื่อมโยงจุดต่างๆด้วยเรือโดยสารระบบไฟฟ้าให้บริการ พร้อมเปิดพื้นที่ค้าขายให้กับชุมชนตลอดแนวคลองดังกล่าว จึงเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์

แม้ว่ากระทรวงคมนาคมโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จะมีแผนก่อสร้างทางด่วนไปตามแนวถนนรังสิต-นครนายก แต่ยังไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาและการใช้ประโยชน์ของพื้นที่คลองให้เกิดประสิทธิภาพ การพัฒนาคลองสามารถเกิดประโยชน์ต่อชุมชนตลอดแนวคลองได้อย่างหลากหลายวิธีและเห็นผลชัด ประชาชนได้ประโยชน์จริง

นอกจากนั้นทราบว่ากลุ่มไทยทีม(ThaiTEAM) ยังพร้อมขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมจากสถานีรังสิตของรถไฟฟ้าสายสีแดงไปถึงศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตและโรงแรมเอเซียแอร์พอร์ตในเฟสแรก ก่อนที่จะขยายไปยังมทร.ธัญบุรีในเฟสถัดไป ซึ่งมธ.พร้อมเข้าไปช่วยศึกษาในเรื่องของการพัฒนาเมือง เชิงเทคนิค เรื่องการมีส่วนร่วมประชาชน คาดว่าภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นแล่วเสร็จผู้บริหารเมืองปทุมธานีคงจะให้ความสนใจเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้

“จังหวัดปทุมธานีคงต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ก่อนที่จะรอให้ลุกลามจนยากจะแก้ไขได้เช่นในหลายเมือง ควบคู่ไปกับสร้างแลนด์มาร์กให้เป็นประโยชน์แก่เมืองทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อปรับเปลี่ยนเมืองรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาหากเอ่ยถึงปทุมธานีหลายคนจะนึกถึงโรงงาน รถติด มลพิษ อาชญากรรม ภาพลักษณ์ที่ดีแทบไม่เห็นในเชิงสร้างสรรค์และกระตุ้นด้านการค่าการลงทุนแต่อย่างใด จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาจัดระบบการแก้ไขและกำหนดแผนพัฒนาไว้ให้ชัดเจนเพื่อระดมทุนเข้าไปดำเนินการให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 เทศบาลในพื้นที่จะได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการกำหนดกรอบและงบประมาณในแต่ละปีได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป”

“ยังติดปัญหาเรื่องงบประมาณเพื่อเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากงบที่ได้รับจากบพท.ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นขณะนี้ทำได้เพียงนำอาจารย์ของมธ.และมทร.ธัญบุรีเข้าไปดำเนินการเบื้องต้น หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.) มีงบประมาณจะนำไปพัฒนาก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ทันที โดยให้อบจ.เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ส่วนมธ.-มทร.ธัญบุรีพร้อมเป็นที่ปรึกษา”

เล็งดึงฟิวเจอร์พาร์ค-เครือข่ายร่วมลงทุน

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องงบประมาณนั้นอยากเสนอให้บพท.เล็งเห็นถึงความจำเป็นและต่อเนื่องเนื่องจากกลไกการขับเคลื่อนจะต้องใช้พลังงานสูงมาก อยากให้ผู้ประเมินอย่ามองข้ามในจัดนี้ไว้ด้วย เพราะวัตถุประสงค์เพื่ออยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายและใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองเข้ามาร่วมลงทุนไม่ว่าจะเป็นฟิวเจอร์พาร์ค บริษัทรังสิตพัฒนา จำกัด โรงแรมเอเซียแอร์พอร์ต ตลาดไทย หรือตลาดสี่มุมเมือง เป็นต้น

“ในฐานะที่เป็นชาวปทุมธานีคนหนึ่งจึงอยากเห็นเมืองปทุมธานีมีคุณภาพชีวิตที่ดี พยายามเชื่อมโยงโครงการให้เป็นรูปธรรมจริง อยากเห็นความร่วมมือจากชาวปทุมธานีมากขึ้น ให้เล็งขึ้นประโยชน์ที่จะเกิดกับพี่น้องชาวปทุมธานีจริงๆ ดังนั้นหากโครงการมีความน่าสนใจคงจะมีนักลงทุนเข้ามาร่วมทุนกันเป็นจำนวนมากเพราะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองปทุมธานี แต่คงใช้ระยะเวลานาน กว่าโครงการจะดำเนินการและเปิดใช้งานอาจจะไม่ทันการณ์ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองจึงต้องมีงบประมาณเพียงพอและสามารถทำได้รวดเร็ว”

ประการหนึ่งนั้นพื้นที่รังสิตยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาได้อีกหลายโครงการ อีกทั้งยังมีพื้นที่จอดรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ขนาดใหญ่ไว้รองรับ นอกเหนือจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง หน่วยงานเหล่านี้น่าจะเข้ามามีส่วนเป็นพี่เลี้ยงให้ท้องถิ่นได้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากจะเป็นฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารให้รถเมล์โดยสารและรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้น

อบจ.ปทุมพร้อมสนับสนุนโมโนเรล

ทั้งนี้วันนี้ (25 พ.ค.64) ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.)จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายเสวก ประเสริฐสุข รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับหัวหน้าส่วนงาน อบจ.ปทุมธานีที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับนายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด พร้อมคณะในนามกลุ่มไทยทีม(ThaiTEAM) ร่วมประชุมการพัฒนาเมืองแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเพื่อการรองรับการขยายตัวจังหวัดปทุมธานีโดยใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล

โดยพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจากปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ไม่ได้รับการแก้ไข ในหลายเส้นทางโดยได้เชิญบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด ได้เข้ามาสำรวจว่ารถไฟฟ้ารางเบาหรือโมโนเรลจะสามารถใช้เพื่อแก้ปัญหารถติดได้อย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิตก็มีแผนที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพื่อเร่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป

กลุ่มพัฒนาเมืองถอดบทเรียนพัฒนาขนส่งมวลชน

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรไทย กล่าวในการเปิดประชุมผ่านระบบซูม(ZOOM) ในการระดมความเห็นกลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมืองว่า วันนี้คุยเรื่องขนส่งมวลชนท้องถิ่นแม้จะล้ำหน้าไปบ้างก็ตามเนื่องจากระบบขนส่งต้องวางแผนระยะยาว เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการเริ่มทยอยแล้วเสร็จ ส่วนระบบรางขนาดใหญ่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่

ทั้งนี้พบว่ามีบางท้องถิ่นได้ดำเนินการไปบ้างแล้วมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งขอนแก่น ภูเก็ตที่ยังดำเนินการต่อไปได้ ส่วนอุบลราชธานียังมีความพยายามให้บริการ เชียงใหม่หยุดพักชั่วคราวเนื่องจากเจอวิกฤติโควิด-19 เหล่านี้ล้วนใช้ทุนภาคเอกชนทั้งสิ้น ยังไม่ได้หารือภาครัฐว่าทำอย่างไรให้เอกชนทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะขนส่งในตัวจังหวัดขนาดใหญ่ ที่บางครั้งการขอปรับราคาค่ารถเมล์โดยสารดูเหมือนจะยุ่งยากในขั้นตอนอย่างยิ่ง

ประการหนึ่งนั้นยังต้องต่อสู้กับพฤติกรรมของประชาชนเพื่อให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่พบว่ามีใช้จักรยานยนต์จำนวนมากเนื่องจากรวดเร็วกว่าเพราะรอระบบขนส่งมวลชนมานานนั่นเอง

นอกจากนั้นกรณีจะพัฒนารถเมล์โดยสารยังมีปัญหามากมายให้ต้องแก้ไขปรับปรุง อาทิ เรื่องป้ายจอดรถโดยสารมีห้ามปักป้ายเนื่องจากมีสัมปทานเส้นทาง การปรับแก้ไขเส้นทาง บางเมืองเส้นทางบางช่วงมีขนาดเล็ก

“ดังนั้นปัญหาเหล่านี้หากภาคเอกชนจะต้องไปกู้สถาบันการเงินมาดำเนินการจะประสบปัญหาการขาดทุนและเสี่ยงมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีการจัดกองทุนล่วงหน้าก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดนั้นๆ”

สอดคล้องกับนายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวว่ากฎบัตรไทยขอขอบพระคุณท่านผู้แทนหน่วยงาน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการกฎบัตร ผู้บริหารบริษัทพัฒนาเมือง อาจารย์ นักวิจัย และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่ 6 National Charter City Talks เรื่อง การพัฒนากองทุนระบบขนส่งมวลชนในวันนี้

สำหรับข้อสรุปสำคัญ ของการประชุมในครั้งนี้ได้แก่ การจัดตั้งสมาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนประเทศไทย ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการ เบื้องต้นจะตรวจสอบชื่อ กำหนดรายละเอียดข้อบังคับตามระเบียบการจัดตั้ง พร้อมด้วยการกำหนดเจตนารมณ์และกรอบการดำเนินงานภายใต้ 4 ภารกิจ ได้แก่

1. ให้คำปรึกษาแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการประสานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บริษัทพัฒนาเมือง และผู้ประกอบขนส่งมวลชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน

2. ศึกษากลไกการพัฒนา กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เสนอกรอบและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่กระจัดกระจาย โครงสร้างพื้นฐานที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาตามนโยบายแห่งรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุน การสร้างความสามารถการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชน ส่งเสริมความสามารถของธุรกิจท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่นในการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต

3. เสนอกรอบคิด แนวทาง และผลักดันการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทุกระบบทั้งรถ เรือ ราง และอากาศยาน สร้างรูปแบบการดำเนินการที่ยืดดหยุ่น ใช้นวัตกรรม และระบบบริหารจัดการบนแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ

4. นำเสนอนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระดับเมืองต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนและร่วมผลักดันในบรรลุภารกิจ โดยใช้องค์กรปกครองท้องถิ่นและบริษัทพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประสบการณ์จากขอนแก่นโมเดลเป็นฐานหลักในการทดสอบรูปแบบ sandbox

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป กฎบัตรจะนำเสนอรูปแบบการดำเนินงาน เสนอคณะกรรมการชุดก่อตั้ง โดยเรียนเชิญผู้ประกอบการในระบบซับพลายเชน และบริษัทพัฒนาเมืองที่ประกอบการขนส่งมวลชนเข้าร่วม