โชว์ความงามสวนนงนุชแห่งใหม่ สร้างมนต์เสน่ห์ “สกายวอล์คเชื่อมกว๊านพะเยา”

มูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา ร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยาผนึกเครือข่ายสภาประชาชนเร่งขับเคลื่อนโครงการ “สกายวอล์คเชื่อมกว๊านพะเยา” ดึงภาคประชาชนทั้ง 9 อำเภอร่วมบูรณาการ เผยทีเด็ดเตรียมโชว์ความสวยงาม “สวนนงนุช” แห่งใหม่ไว้คู่กว๊านพะเยา ไฮไลต์พร้อมใช้เทคโนโลยีระดับโลกฉายภาพสามมิติอย่างอลังการ

นายชุมพล ลีลานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา และเครือข่ายสภาประชาชนพะเยา ผู้ออกแบบโครงการ “สกายวอล์คเชื่อมกว๊านพะเยา” เปิดเผย UCD News ว่า มูลนิธิฯ ได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานและออกแบบโครงการสกายวอล์คเชื่อมกว๊านพะเยา จากดำริของอดีตนายอำเภอเมืองพะเยา (นายสุวิทย์ สุริยวงค์) เพื่อต้องการก่อสร้างถนนรอบกว๊านพะเยา ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าตามลำดับภายใต้การเร่งขับเคลื่อนของเทศบาลเมืองพะเยา

ดังนั้นในความกังวลของหลายๆคนว่าจะเป็นการเอางบประมาณแผ่นดิน เอาภาษีของประชาชนชาวพะเยามาลงทุนโครงการนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์นั้นขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้เพราะจะเป็นการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนราว 1,000 ล้านบาทนั้นโดยเอกชนที่รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนเองส่วนหนึ่ง รัฐบาลโดยเทศบาลเมืองพะเยาลงทุนเองส่วนหนึ่ง อาจเป็นทุนด้านที่ดินหรืองบการเวนคืน โดยเอกชนแลกสิทธิ์กับการบริหารจัดการระยะเวลา 30 ปี ประการสำคัญเมื่อครบสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดยังตกเป็นของเทศบาลเมืองพะเยา ดังนั้นประโยชน์จึงไม่ได้ตกอยู่กับเอกชนอย่างเดียวเท่านั้น ประชาชนชาวพะเยายังได้ประโยชน์อีกด้วย รัฐยังได้ภาษีกลับคืนมาพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกในช่วงระยะเวลา 30 ปีนี้

โครงการนี้รอ.ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผลักดันเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องจังหวัดพะเยาให้ได้มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจุดแลนด์มาร์คใกล้กับกว๊านพะเยาเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง และไม่ให้จังหวัดพะเยาเป็นเพียงเมืองผ่านอีกต่อไป

ดึงเครือขาย 9 อำเภอร่วมขับเคลื่อน

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการจะดึงภาคส่วนทั้ง 9 อำเภอเข้ามาร่วมเป็นกรรมการขับเคลื่อนไปด้วยกัน ในเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการวางแผน การวางเส้นทางท่องเที่ยว การดูแลนักท่องเที่ยว อาหาร ของฝาก เรื่องสินค้าการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวจำนวนมาก มีร้านอาหารบริการ ที่พัก โรงแรม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรในพื้นที่สามารถเอามาขายให้กับโครงการนี้ได้อีกด้วย อีกทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารจะต้องสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรสมาชิกในพื้นที่ก่อนหากไม่เพียงพอค่อยไปซื้อจากถิ่นอื่น โดยจะมีการทำข้อตกลงร่วมกัน

“ได้ให้ความสำคัญต่อการดึงเครือข่ายมาร่วมกันบริหารจัดการ บูรณาการร่วมกันให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ปัจจุบันมีคณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอจึงพร้อมรับข้อเสนอจากทุกฝ่ายมาดำเนินการ ดังนั้นจึงไม่ควรออกมาพูดโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงให้ศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ส่วนขั้นตอนต่อไปจะได้เห็นภาพในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนว่ารัฐ-เอกชนจะมีหน้าที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร”

ปัจจุบันได้กำหนดโรดแมปแผนดำเนินการเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีคณะกรรมการแต่ละอำเภอที่พร้อมเปิดรับฟังความเห็นของทุกคนทุกฝ่าย เช่นเดียวกับเรื่องที่พักรูปแบบโฮมสเตย์วัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านนำบ้านมาเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยว โดยสามารถเรียนรู้วิถีชาวบ้าน อาทิ หาปลา ปลูกผัก ทำนา ทำไร่ ทำกับข้าวอย่างน้อยระยะเวลา 2 คืน 3 วัน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชุมชนไหนที่มีความพร้อมเสนอตัวเข้ามาเพื่อหาแนวทางสนับสนุนให้ยั่งยืนต่อไป

จัดกิจกรรมตลอดทั้งปีเน้นท่องเที่ยววิถีชุมชน

ดังนั้นห้องนอน ห้องน้ำ ควรสะอาด ปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวอบอุ่นใจ ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะหากมองข้ามช็อตยังเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาใช้โอกาสนี้ได้เรียนรู้ชุมชนเพื่อนำไปเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องราวที่สนใจได้อีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาแต่ละท้องถิ่นไว้แล้ว สามารถนำไปพัฒนาโฮมสเตย์รองรับไว้จำนวนหนึ่ง แล้วยังสามารถต่อยอดได้อีกหลายแนวทางให้เกิดรายได้กลับคืนสู่ชุมชนนั้นๆ สร้างกิจกรรมตลอดทั้งปีให้หมุนเวียนในชุมชน มีการจัดการแสดงของชาวบ้าน อาทิ เล่นรอบกองไฟตามวิถีเดิมๆเช่นในอดีตก็ยังเป็นมนต์เสน่ห์ให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจชื่นชอบได้

ทั้งนี้บริเวณสะพานแขวนยังมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมเริ่มได้ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงก่อนหมุนเวียนไปแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว หรือเส้นทางท่องเที่ยวหน่วยงานด้านท่องเที่ยวของจังหวัดมีเตรียมไว้พร้อมแล้วสามารถต่อยอดได้ทันที อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังสามารถนำเสนอเพิ่มเติมได้อีก ตลอดจนต้องการจัดให้มีกิจกรรมเพิ่มอย่างไรอีกบ้างเพื่อนำไปบรรจุในแผนดำเนินการต่อไป

พร้อมโชว์เทคโนโลยีระดับโลก

ในการเข้าชมแต่ละครั้งจะจัดให้มีการลงทะเบียนผ่านแอพพิเคชั่นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างพอดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระเรื่องต่างๆมากจนเกินไป โดยเฉพาะเรื่องที่จอดรถจึงจะจัดให้มีลานจอดรถขนาดใหญ่รองรับไว้อีกจุดหนึ่งเพื่อลำเลียงนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างสอดคล้องกัน ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจได้อีกหลายจุดซึ่งเป็นการกระจายผลลัพธ์ที่ได้ไปสู่พื้นที่โดยรอบได้อย่างดีโดยเฉพาะร้านค้าร้านอาหารตามแนวริมกว๊านพะเยาจะได้มีลูกค้าแวะเวียนเข้าไปใช้บริการในแต่ละวันได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ประการสำคัญพื้นที่บริเวณสะพานแขวนสามารถจัดกิจกรรม แสง สี เสียงอย่างอลังการ พร้อมจะได้เห็นภาพสามมิติสื่อถึงภาพพญานาคหรือนกยูง ตลอดจนม่านน้ำมนต์เสน่ห์ของกว๊านพะเยาได้อย่างสวยงามด้วยเทคโนโลยีระดับโลก อีกทั้งมีลานสำหรับจัดงานขันโตกดินเนอร์ ได้อีกด้วยเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกลิ่นไอล้านนา วันรุ่งขึ้นค่อยหมุนเวียนไปพื้นที่ต่างๆได้นับเป็นอีกมิติของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในด้านต่างๆอาทิ เชิงนิเวศน์ ธรรมชาติ ที่หลายคนชื่นชอบเดินป่า ปีนเขา เล่นน้ำ ดำนา หรือท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี

“พื้นที่จะมีห้องสุขา ห้องอาหารทั้งของพื้นถิ่น อาทิ ข้าวซอย น้ำเงี้ยว – ขนมจีนและแบรนด์ชั้นนำ มีลานแสดงกลางแจ้ง-ในร่ม สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวและบุคลากรบริการจัดการแต่งกายตามวิถีล้านนา ติดป้ายชื่อ พร้อมโลโก้โครงการไว้อย่างชัดเจน”

ส่วนบนหอคอยจะมีพื้นที่แสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและจังหวัดพะเยา ด้วยการฉายผ่านระบบแอลอีดีที่เน้นความเป็นมาของล้านนาที่มีหลักศิลาจารึกกว่า 200 หลัก ที่เป็นที่มาของเรื่องราว 3 กษัตริย์ล้านนาสร้างบ้านสร้างเมืองให้จังหวัดพะเยาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาคเหนือตอนบนมาจนตราบทุกวันนี้ แล้วยังจะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยาในหลากหลายมิติให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ในเชิงลึกหลากหลายแง่มุมตามความสนใจได้ทั้งสองหอคอย

จัดพื้นที่ 60 ไร่สร้างสวนนงนุชให้สวยงาม

นอกจากนั้นยังจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับจัดสวนดอกไม้ ต้นไม้รูปแบบเช่นเดียวกับสวนนงนุชพัทยา จัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อให้เป็นมุมถ่ายภาพที่ระลึกให้เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ดังนั้นพื้นที่จึงมีพร้อมเรื่องลานการแสดง ลานพักผ่อน และพื้นที่รองรับสินค้าโอท็อปท้องถิ่นจังหวัดพะเยา มีพื้นที่จอดรถรองรับอย่างเพียงพอ

ขณะนี้ยังพบอีกว่าในจังหวัดพะเยามีชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านดนตรีประเภทสะล้อ ซอ ซึง จำนวนมากสามารถสืบสานต่อยอดได้อีกด้วย โดยหน่วยวัฒนธรรมจังหวัดได้ให้การส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางจังหวัดมีแนวคิดจัดประกวดแข่งขันเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในแต่ละปี กิจกรรมเหล่านี้ยังจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย

“เช่นเดียวกับการผลิตมัคคุเทศก์ท้องถิ่นยังมีความสำคัญเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ได้แสดงออกถึงความสามารถด้านการสื่อสารและภาษาให้นักท่องเที่ยวได้ความรู้จากการเดินทางมาท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่แล้วยังเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ โดยขณะนี้มีมหาวิทยาลัยพะเยาพร้อมสนับสนุนโครงการ” ผู้อำนวยการมูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา กล่าวในตอนท้าย