บูรณาการรัฐ-เอกชน ปั้น 22 ชุมชน “บางกอกน้อยสมาร์ทซิตี้”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือร่วมบูรณาการภาครัฐ-เอกชนมุ่งพัฒนา 22 ชุมชนย่านบางกอกน้อยให้เป็นพื้นที่สมาร์ทซิตี้ เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ-สังคม ล่าสุดดึงกลุ่ม NT เตรียมติดตั้งเสาโพลเร่งพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
รศ.เรือโท ดร.ทวีศักดิ์ รูปสิงห์ หัวหน้าโครงการกลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษาย่านบางกอกน้อย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการหลังระยะเวลาผ่านไป 6 เดือนว่า ได้จัดสัมมนาไปจำนวน 2 ครั้งช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งตามแผนจะจัดสัมมนาปิดโครงการอีกครั้งช่วงเดือนพฤษภาคมนี้แต่ก็มาเจอโควิด-19 รอบ 3 จึงทำเรื่องขอขยายระยะเวลาไปอีก 2 เดือนต่อหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เรียบร้อยแล้ว
เบื้องต้นได้ความชัดเจนของแผนพัฒนาโครงการเรียบร้อยแล้ว จากทั้งหมด 22 ชุมชนตามที่ได้จัดประชุมสัมมนาทั้ง 2 ครั้งในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เห็นความสนใจของแผนพัฒนาในแต่ละชุมชน
หารือกลุ่ม NT ตั้งเสาโพลอัจฉริยะ
สำหรับภาคส่วนอื่นที่แสดงความสนใจจะเข้ามาร่วมการขับเคลื่อนโครงการหรือจะต่อยอดโครงการดังกล่าวต่อไปนั้น หน่วยงานของสำนักงานเขตบางกอกน้อย สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ล่าสุดยังได้หารือร่วมกับกลุ่ม NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเสาโพลศูนย์รวมเทคโนโลยีอัจฉริยะมาติดตั้งในพื้นที่ทั้ง 22 ชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารและความปลอดภัยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะของ NT ได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับแนวทางการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจากการลงพื้นที่ของคณะผู้วิจัยจะพบว่าคณะกรรมการชุมชนและประชาชนได้มีมติเสนอแนวทางให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก เนื่องจากในพื้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย อาทิ โบราณสถาน สถานศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังมีสินค้าชุมชน ซึ่งเป็นส่วนประกอบทำให้สามารถพัฒนาชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในชุมชนได้ เพียงมีการบริหารจัดการที่ดี เป็นระบบ พร้อมมีการสนับสนุนส่งเสริมโดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพเท่านั้น
รศ.เรือโท ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทางด้านเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีแผน 3 ระยะใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายแรก เกี่ยวกับระบบจัดการขยะ การบริหารจัดการขยะจากชุมชน ไม่ให้ตกค้าง โดยมีการกำหนดตารางการจัดเก็บที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนสามารถทราบช่วงเวลาให้นำขยะมาวางรอในจุดที่จะจัดเก็บขยะ ทำให้ไม่มีขยะตกค้าง พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป้าหมายที่ 2 เมืองมีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม ปลอดภัย โดยการปรับปรุงสายไฟฟ้า สายสื่อสาร ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น และเป้าหมายที่ 3 นวัตกรรมการพัฒนาเมืองประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการติดตามสภาวะแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยกระดับการบริหารจัดการติดตามคุณภาพอากาศ ด้วยการตรวจวัดระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจวัดอุณหภูมิความชื้นให้ประชาชนทราบในแต่ละวันได้อย่างรวดเร็ว
“ยังเน้นถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดเก็บและทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ใช้เทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของเขตบางกอกน้อยทำงานได้สะดวก รวดเร็วขึ้น”
ทั้งนี้หากมองผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมจะพบว่าช่วยลดผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพ เนื่องจากมีการติดตั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ยกระดับการบริหารจัดการและการติดตามสถานการณ์ด้านสภาวะแวดล้อมที่รวดเร็ว แม่นยำขึ้น ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลคำแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี มีการป้องกันตัวอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว ลดงบประมาณของรัฐในการรักษาพยาบาลผู้ได้รับผลกระทบจากคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้หากมองผลลัพธ์ที่ได้จะพบว่าทำให้ประชาชนทราบถึงวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อมีการแจ้งเตือนในสถานการณ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในระยะยาวนั้นประชาชนสามารถป้องกันสุขภาพตัวเองได้จากการได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
“สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ยกตัวอย่างความเห็นและมติของประชาชนชุมชนบ้านช่างหล่อได้มีมติร่วมกันให้รัฐ-เอกชนเข้าไปมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนในด้านพลเมืองอัจฉริยะ(Smart People) นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคนให้ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เป็นคนที่มีคุณภาพที่มีปัญญา ที่นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งของความเป็นสมาร์ทซิตี้ของพลเมืองอัจฉริยะนั่นเอง”