เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุน พัฒนา TOD -รถไฟฟ้ารางเบาชลบุรี

ม.เกษตรฯ-สจล.เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุนเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวร่วมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียงรวม 5 เทศบาลของพื้นที่อบจ.ชลบุรี ดีเดย์จัดประชุมสรุปทุกภาคส่วน 30 เม.ย.นี้ผ่านระบบออนไลน์ก่อนชงบพท.ภายใน พ.ค.64


รศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวบูรณาการร่วมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน(TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เปิดเผยว่า ชุดโครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่

1) โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาระบบการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวโดยการประยุกต์ใช้แบบจําลองสภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง (การวางโครงข่าย ระบบการเดินรถ ระบบปฏิบัติการ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุน ออกแบบการเดินรถเสมอระดับถนน ไฟจราจร)

2) โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นท่ีใกล้เคียง โดยมีรศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2


โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ด้านโครงการประสานงานจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมือง โดยเป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ได้มีการศึกษาการพัฒนาโครงการเฉพาะพื้นที่แหลมฉบังรองรับไว้แล้ว ได้มีการขยายพื้นที่ให้กว้างมากขึ้น และประยุกต์ปัญหาจากโครงการก่อนนี้มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และระบบปฏิบัติการ ทั้งเรื่องการเดินรถ ความถี่ ความเร็ว


ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าพร้อมเร่งส่งมอบบพท.ตามสัญญาภายในเดือนพฤษภาคมนี้โดยอยู่ระหว่างการสรุปผลรายงานเบื้องต้นกำหนดจะมีจัดประชุมทุกภาคส่วนในวันที่ 30 เมษายนนี้ก่อนนำเสนอโครงการวิจัยต่อบพท.ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ต่อไป


สำหรับการร่วมหารือกับเทศบาลแหลมฉบังนั้นต่างเห็นชอบด้วยกันทุกฝ่าย สถานีที่แนะนำ ตลอดจนกรณีที่บริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด แสดงความสนใจพร้อมกับนำผลการศึกษาเดิมไปจัดระบบเส้นทาง มีเพิ่มเติมคือต้องการเพิ่มเส้นทางเข้าไปเชื่อมถึงประชาชนในจุดต่างๆให้มากขึ้น อาจจะต้องใช้ระบบฟีดเดอร์เข้าไปเชื่อมโยง


ขณะนี้ขอเพียงรัฐบาลหรือหน่วยงานที่สนใจมีงบประมาณการลงทุนเท่านั้นก็สามารถจะขับเคลื่อนโครงการนี้ได้ทันที มั่นใจว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วโครงการนี้คงจะมีความคืบหน้าเรื่องแนวทางดำเนินการมากขึ้น


“ระหว่างนี้ทราบว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจะมีการปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับพื้นที่ TOD ของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ซึ่งเชื่อมได้กับ 5 เทศบาล ทั้งนี้เมื่อสรุปผลการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็จะเร่งเสนอบพท.เสนอผู้เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าต่อไป”


โดยแนวทางนั้นจะนำเสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี(อบจ.)และทั้ง 5 เทศบาลเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยจะผลักดันทั้งเรื่องโครงข่ายเส้นทาง จุดสถานี TOD โดยเฉพาะสถานีนำร่องเกาะลอย และศรีราชาให้เห็นว่าหากจะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนควรจะพัฒนารูปแบบ TOD ควบคู่กันไปด้วย


ทั้งนี้หากพิจารณาถึงเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนเรื่องเอกสารร่วมลงทุนเพื่อเป็นรายละเอียดให้นักลงทุนนำไปศึกษาก่อนจะมาร่วมลงทุนนั้น คาดว่าในครั้งนี้จะสามารถแนบรายละเอียดให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้นักลงทุนสามารถเตรียมความพร้อมได้ก่อน


“แนวทางคงจะออกมาในรูปการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPPs เป็นไปได้ทั้งสิ้นสำหรับการลงทุนระหว่างอบจ.ชลบุรีร่วมกับ 5 เทศบาล กับบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ตลอดจนภาครัฐลงทุนเองทั้งหมด โครงการนี้ได้วิจัยเผื่อไว้มากกว่าที่ได้รับงบประมาณมาจากบพท.อย่างมาก ผลสรุปขั้นตอนมีความชัดเจน พร้อมเสิร์ฟด้านการลงทุนให้สำเร็จได้ทันที แต่ก็ยังเป็นห่วงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งคงต้องเว้นระยะเวลาอีกนาน เมื่อกลับสู่ภาวะปกติอาจจะมีบางสิ่งต้องปรับเปลี่ยนไปก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น”


รศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในอนาคตหากมีโครงการอื่นๆ ที่จะต่อยอดจากโครงการวิจัยในครั้งนี้ได้สามารถดำเนินการได้ทันที อีกทั้งโครงการวิจัยดังกล่าวยังจัดทำแผนปฏิบัติการได้พร้อมนำเสนออบจ.ชลบุรีและอีก 5 เทศบาลนำไปพิจารณารายละเอียดต่อไป


เล็งดึง 3 ฝ่ายร่วมลงทุนพีพีพี

ประการสำคัญนักวิจัยของโครงการยังพร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่าง 5 เทศบาลในจังหวัดชลบุรี กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.) และบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ดังที่จังหวัดขอนแก่นร่วมมือหลายฝ่ายขับเคลื่อนโครงการจนเป็นรูปธรรมได้จริง


“เกาะลอย-ศรีราชาน่าจะได้เห็นภาพชัดเจนก่อนที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไปเพื่อให้เกิดการพลิกโฉมในหลายๆด้านที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเมืองตามแนวทางที่ถูกต้องโดยเฉพาะรอบๆสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งเหตุที่เลือกพื้นที่เกาะลอยและศรีราชามาดำเนินการก่อนเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม มีปริมาณประชาชนหนาแน่น เป็นพื้นที่ย่านธุรกิจใหม่ ศูนย์ราชการและเป็นพื้นที่เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีศักยภาพมาก”


ทั้งนี้รูปแบบการเดินรถไฟฟ้ารางเดี่ยวและรางเบา รอบพื้นที่การพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการบูรณาการร่วมกับ 5 เทศบาลเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแหลมฉบัง แสนสุข เมืองชลบุรี เมืองพัทยา และศรีราชา มีแนวเส้นทางจากเทศบาลเมืองชลบุรี แสนสุข ศรีราชา แหลมฉบัง และพัทยา แนวเส้นทางการศึกษาแล้วเสร็จ ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร จำนวน 54 สถานี


สำหรับโครงข่ายตามผลการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 5 เมือง 3 อำเภอของจังหวัดชลบุรี โดยร่วมขับเคลื่อนในเบื้องต้นกับเทศบาลแหลมฉบัง มีการรวมรายละเอียดการเดินรถช่วงทางแยกเสมอระดับไว้ด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเดินรถ ใช้เทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สัญญาณแก่รถไฟฟ้าสามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ก่อปัญหาจราจรตามที่หลายฝ่ายมีความกังวล