บพข. เร่งต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

บพข.ยกระดับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม ต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการมูลค่าสูง หนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่าน 7 กรอบอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรม

ด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงหรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดและพัฒนาสินค้าและบริการของประเทศให้มีมูลค่าสูงขี้นได้ ตลอดมานักวิจัยไทยได้สร้างงานวิจัยชั้นเยี่ยมที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติออกมามากมาย แต่งานวิจัยเหล่านั้นยังไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่าที่ควร ข้อต่อสำคัญที่ขาดหายไปก็คือ ‘การพัฒนาเทคโนโลยี’ ของงานวิจัยให้ไปสู่การผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม

ต่อเรื่องนี้รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการนโยบายกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า บพข. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และศาสตร์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูง สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

บพข. เข้ามาทำงานในช่องว่างสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไทยไปไม่ถึงการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม นั่นคือการเข้ามาสนับสนุนทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการให้ทุนวิจัยกับงานวิจัยที่อยู่ในกระบวนการ ‘Translational Research’ หรือที่ภาคอุตสาหกรรมจะเรียกว่าการ ‘Development’ นี่จึงเป็นการทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน บพข.จะจับคู่นักวิจัยและเอกชนให้เข้ามาทำงานร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อนำเทคโนโลยีที่ได้ไปใช้ประโยชน์จริงในอุตสาหกรรม สิ่งที่เราได้มากกว่าตัวเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแล้วนั่นคือการได้การเกิดการเรียนรู้ร่วมระหว่างนักวิจัยและเอกชน เราทำให้นักวิจัยรู้ว่าถ้าจะทำงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จริงต้องมีอะไรเพิ่มเติมบ้างและเราก็ช่วยให้เอกชนรู้ว่าก่อนที่จะนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์นั้นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน

นอกจากนั้นบพข.ยังสนับสนุนทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ให้กับมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยให้สามารถทดลองขยายงานวิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรมที่จะสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดสรรทุนในรูปแบบนี้

บพข.มุ่งสนับสนุนทุนวิจัยใน 7 กรอบอุตสาหกรรมคือ 1. เกษตรและอาหารมูลค่าสูง ที่สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มูลค่าสูง ได้แก่ ส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional ingredients)และสารสกัดจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรฐานห่วงโซ่ความเย็น(Cold Chain) และเครื่องจักรกลเกษตรและอาหาร 2. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดการมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางธรรมชาติของประเทศไทยให้เป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยวตามแนวทางที่เป็นสากล 3. พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ เน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพและสารเคมีชีวภาพ

4. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม สนับสนุนแผนงานการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง 5. เศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาธุรกิจรูปแบบความร่วมมือใน Value Chain ที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 6. ระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง การบิน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สุดท้ายคือ 7. สุขภาพและการแพทย์ อย่างการพัฒนายา ชีววัตถุ เซลล์บำบัด เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงระบบการผลิต ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อการขึ้นทะเบียนแม้จะเป็นหน่วยงานที่เริ่มทำงานได้เพียง 1 ปี

แต่การสนับสนุนทุนของบพข. ได้สร้างงานวิจัยที่ได้รับความสนใจจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต Functional ingredients และการประยุกต์ใช้ (แผนงานเกษตรและอาหาร) แบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้จากขยะแบตเตอรี่ (แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (แผนงานระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) การบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทาง
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ (ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) และชุดตรวจโควิด SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR หรือการพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพเทียบเท่าและสามารถแข่งขันได้ (แผนงานสุขภาพและการแพทย์)

รศ.ดร.สิรี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง ด้วยทรัพยากรที่มีความหลากหลาย หากนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเสริม ให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการนำงานวิจัยหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปยกระดับสินค้าและบริการของประเทศไปสู่สินค้ามูลค่าสูง ไปสู่เศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจฐานนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล