บพท.เช็คลิสต์ 14 โครงการวิจัยเมืองเชิงพื้นที่

บพท. ติดตามความคืบหน้ารอบ 6 เดือนของ 14 โครงการวิจัยเมืองเชิงพื้นที่ จาก 11 ประเภทงานวิจัยรอบคลุม 4 เขตในกทม. และในภูมิภาค 8 จังหวัดของมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 14 แห่งทั่วประเทศ
 
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ได้ติดตามความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน ในแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ / Smart City” ปีงบประมาณ 2563 โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม จำนวน 14 ชุดโครงการ โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ,รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค,อ.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ร่วมเสนอความคิดเห็นต่อโครงการต่างๆในครั้งนี้ด้วย
 
โดยการขับเคลื่อนในครั้งนี้บพท.มุ่งให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะพบว่าโครงการต่างๆล้วนมีศักยภาพ ดังนั้นจึงพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยล้วนมีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นหมายถึงมหาวิทยาลัยสามารถเป็นอีกหนึ่งบทบาทการพัฒนาเมืองได้อย่างดีอีกด้วย และโครงข่ายต่างๆสามารถผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง
 
“หลายโครงการมีศักยภาพดีกว่าที่คาดไว้มาก แล้วยังสามารถต่อยอดได้อีก แต่ละมหาวิทยาลัยจึงใช้ศักยภาพของบุคลากรได้อย่างเต็มที่ มีบุคลากรจำนวนมากดังนั้นบพท.จึงพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองนโยบายในการทำให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่สามารถเป็นที่พึ่งทางวิชาการให้กับจังหวัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาสำคัญและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่บนทุนเดิม รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง”
 
ด้านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญนั้นอ.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กล่าวว่า บางโครงการวิจัย สามารถฉายภาพที่จะสามารถนำไปสู่การลงทุนได้อีกด้วย อาทิ โครงการด้านการพัฒนารอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD ด้วยการสร้างชุดข้อมูลโครงข่ายเส้นทาง ข้อมูลเศรษฐศาสตร์ และการเงิน แบบจำลองป้อนให้กับผู้สนใจ หรือให้สามารถใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์อื่นๆได้อย่างไรบ้าง ประการหนึ่งนั้นยังพบอีกว่าแผนยุทธศาสตร์จังหวัดด้านความเป็นเมืองอัจฉริยะบางจังหวัดยังไม่มี ตลอดจนการขยายผลภูมิปัญญาท้องถิ่น ฟื้นฟูเมือง บางโครงการนำไปใช้ได้อย่างดีอีกด้วย
 
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ กล่าวว่า ตัวอย่างโครงการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี หากทั้ง 5 เทศบาลสามารถตั้งเป็นบริษัทเข้ามาร่วมบริหารจัดการน่าจะเห็นศักยภาพมากขึ้น หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้าไปขับเคลื่อน ส่วนภาพรวมนั้นพบว่าบางโครงการต้องการให้เห็นความเชื่อมโยงในทุกมิติ อีกทั้งนวัตกรรมองค์ความรู้จะนำไปสู่การสร้างงานได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เช่นเดียวกับเรื่องการใช้กลไกที่จะมาบริหารจัดการ โดยเฉพาะกลไกทางเศรษฐศาสตร์แต่ละโครงการยังพบไม่มีการนำมาใช้อย่างเต็มที่
 
รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค กล่าวว่า ภาพรวมนั้นอยากให้เน้นเรื่องการจัดเก็บข้อมูลมาตรการ การสังเคราะห์ เนื่องจากยังพบว่าบางโครงการยังไม่สอดคล้องเป้าหมาย พร้อมกับสนับสนุนให้ดึงภาคีเข้ามาร่วมผลักดันโครงการต่างๆ ตัวอย่างกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของที่ดินว่าจะมีการจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่เกษตร ตลอดจนการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาเมืองเผื่อให้นักลงทุนสนใจในการดำเนินการต่อไปได้จริง
 
สำหรับ 14 ชุดโครงการตามแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ / Smart City” ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะนำเสนอรายงานในรายละเอียดความก้าวหน้าแต่ละโครงการต่อเนื่องกันไปนั้นประกอบไปด้วย
 
1.โครงการ “การเพิ่มผลิตภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร” พื้นที่การศึกษาย่านพญาไท โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์  เป็นหัวหน้าคณะวิจัย จัดเป็นประเภทงานงานวิจัย Smart Living
 
2. โครงการ “กลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์”   พื้นที่การศึกษาจังหวัดลำปาง  ที่กาดกองต้า และกาดท่ามะโอ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีดร.กรวรรณ  สังขกร เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart city / Smart Economy
 
3. โครงการ “กลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาย่านบางกอกน้อย”  พื้นที่การศึกษาบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มี รศ.เรือโท ดร.ทวีศักดิ์ รูปสิงห์ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart Economy
 
4. โครงการ “การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีเมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน”  พื้นที่การศึกษาเมืองเก่า จังหวัดราชบุรี โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร มีรศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ  เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Cultural /Smart Economy /Smart Living
 
5. โครงการ “แนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่พัฒนารอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่กรณีศึกษาสถานีศาลายา”  พื้นที่การศึกษาโซนศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย TOD / Smart Living
 
6. โครงการการสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเพื่อยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่เมืองอัจฉริยะ พื้นที่การศึกษาในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีดร.นรา พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Cultural /Smart Economy /Smart Living /Smart Environment
 
7. โครงการ “การพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา”  พื้นที่การศึกษาเทศบาลนครสงขลา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีรศ.จรูญ  เจริญเนตรกุล  เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart city /Smart Living /Smart Environment
 
8. โครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” พื้นที่การศึกษาคลอง 6 จ.ปทุมธานี โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมีผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart city/ Smart Environment/ Housing
 
9. โครงการ “กลไกสร้างสรรค์ พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาย่านบางกะปิและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” พื้นที่การศึกษากทม. บางกะปิ โดยสถาบันบัณฑิตย์พัฒนบริหารศาสตร์ มีผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart city /TOD
 
10.โครงการ “การพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวบูรณาการร่วมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง”  พื้นที่การศึกษาแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน  เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย  TOD / Smart Mobility
 
11. โครงการ “การบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน”  พื้นที่การศึกษาโซนรังสิตรัศมี 10 กม.รอบ ม.ธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Smart city/ Platform Housing
 
12.โครงการ “การพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ : กรณีศึกษาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะด้านขยะเหลือศูนย์”  พื้นที่การศึกษาจังหวัดนครราชสีมา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Platform ขยะ
 
13.โครงการ “การศึกษาบริบทการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองเขตภาษีเจริญ เพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษจากขยะ ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ”  พื้นที่การศึกษากทม. โซนเขตภาษีเจริญ โดยมหาวิทยาลัยสยาม มีผศ.ดร.ไตรทศ ขำสุวรรณ  เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Platform ขยะ / Smart city และ 14.โครงการ “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์คุณค่าอัตลักษณ์และภูมิปัญญาด้านที่อยู่อาศัยและมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนและเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : กรณีศึกษากลุ่มเครือข่ายท้องถิ่นย่านชุมชนเก่าเมืองจันทบุรี (จันท์ช่วยจันท์)” พื้นที่การศึกษาจังหวัดจันทบุรี โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีผศ.ดร.ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย จัดเป็นประเภทงานวิจัย Cultural Heritage / Smart Living