บพท. ผนึกภาคีเครือข่าย เร่งถอดบทเรียนพัฒนาเมือง

บพท. ผนึกภาคีเครือข่ายเร่งถอดบทเรียนด้านการพัฒนาเมือง ผุดแพลตฟอร์ม “ปูเสื่อ” ชี้แนวทางการพัฒนาให้เกิดมรรคผลตามแผนยุทธศาสตร์ พร้อมแนะทุกฝ่ายเร่งทำงานเพื่อบ้านเมือง
 
การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านพัฒนาเมืองและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมือง รวมถึงประกาศทิศทางการสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมือง
 
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “กลไกการพัฒนาเมืองและพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในพื้นที่” ว่าการปฏิรูปด้านการพัฒนาเมืองมีทิศทางหนึ่งที่หลายคนช่วยกันขับเคลื่อนอยู่แล้วด้วยการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง นับตั้งแต่ปี 2560 พ.ร.บ. งบประมาณใหม่จะดึงงบลงไปพัฒนาพื้นที่มากกว่า 3 แสนล้านบาท มีการจัดตั้งตัวชี้วัดเชิงระบบให้กับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทุกหน่วยจะต้องทำงานตามแผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด
 
ดังนั้นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แต่ละพื้นที่ให้เกิดเป็นมรรคผล เป้าหมายที่ต้องการเห็นชัดเจนคือทำอย่างไรจะทำให้งบประมาณเกิดผลลัพธ์ได้มากที่สุด ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดิมนั้นได้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างคือการรวบรวมหน่วยงานเข้ามาร่วมกัน คือ 1.กระทรวงวิทยาศาสตร์ 2. มหาวิทยาลัย 3.สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรม เป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป้าหมายคือ ขับเคลื่อนองค์ความรู้บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม
 
สำหรับงานพัฒนาพื้นที่นี้มีฐานทุนเดิมที่สนับสนุนการวิจัยที่เรียกกันว่า สกว. ทำงานมากว่า 10 ปี มีข้อค้นพบว่าการพัฒนาพื้นที่ในภูมิศาสตร์ของประเทศ คือจังหวัด และ กลุ่มจังหวัด มีโครงสร้างสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ 1.โครงสร้างงบประมาณ ขณะนี้งบประมาณได้ส่งตรงไปยังพื้นที่นั้นๆ แล้ว หน่วยจังหวัด ส่วนท้องถิ่นสามารถรับแผนทำงบประมาณได้เองตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา 2. แต่ละพื้นที่มีโครงสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างที่เกาะติดพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบทุกจังหวัด 3. คือโครงสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่กระจายตัวอยู่ในภูมิภาค ทั้งส่วนพื้นที่ ส่วนท้องถิ่น และส่วนฟังก์ชั่นในพื้นที่ และส่วนสุดท้ายคือภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นถ้าทุกภาคส่วน หรือเราจะเรียกว่าฟันเฟืองทำงานแบบบูรณาการกัน
 
สำหรับยูนิตการทำงานในพื้นที่มีตั้งแต่ระดับคน ครัวเรือน กลุ่มอาชีพ ชุมชน สังคม และระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด แต่จะค้นพบว่าจากฐานการทำงานจะมีกลุ่มในการพัฒนาชุมชนสังคมระยะ 20 ปีจนถึงการจัดการชุมชนด้วยตนเอง มีช่องว่างอยู่ 2 วิธี คือ ส่วนที่ 1 สเกล การพัฒนาบนฐานความรู้ของเราจะขยายผลได้ยาก มีการประมาณการว่าถ้าจะพัฒนาชุมชนสังคมด้วยฐานองค์ความรู้ที่กระจายตัวอยู่ 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศจะใช้ระยะเวลาประมาณ 400 ปี ส่วนที่ 2 คือ สปีด การพัฒนาชุมชนสังคมในประเทศไทย การจะทำให้ชาวบ้านคิดด้วยตัวเองบนองค์ความรู้ให้เกิดการสานพลังทำแผนโครงการให้ตรงเป้าใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีต่อยูนิต แต่พอเจอโควิดจะส่งผลกระทบทั้งหมด ทุกพื้นที่ตายสนิท
 
ดังนั้นจึงวางกลไกการพัฒนาเมืองของไทยไว้ 4 เสาหลักเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือ ส่วนที่ 1 กลไกการพัฒนาเมืองขับเคลื่อนโดยมีฐานเดิมของกลไกการพัฒนาเมืองที่ขับเคลื่อนกันอยู่แล้วเพียงเติมข้อมูล ความรู้ หลักคิดแล้วมาปรับใช้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องข้อมูล โดยดาต้าที่มาแสดงผลให้เห็นหลักของการพัฒนาจะเป็นสิ่งจำเป็น
 
“ปัจจุบันมีระบบข้อมูลเปิดด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาคนจนและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำร่องใน 10 จังหวัด กว่า 7 หมื่นครัวเรือน รวมกว่า 1.3 แสนคน ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนในการรวบรวม ข้อค้นพบสำคัญพบว่าคนกว่าครึ่งจะหลุดจากสวัสดิการของภาครัฐ เนื่องจากเข้าไม่ถึง”
 
ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า เสาหลักที่ 3 คือแผนการพัฒนาการลงทุน ระบบการระดมทุนเพื่อชี้ให้เห็นส่วนการขับเคลื่อนเมือง ปัจจุบันการขับเคลื่อนเมืองไม่ใช่ไปสู่การแข่งขัน แต่เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้และกระจายศูนย์กลางความเจริญของพี่น้องประชาชนกับเมืองรอบข้าง เมืองที่ทุกคนอยู่แล้วเป็นสุข
 
ดังนั้นงานในวันนี้จึงเป็นการถอดบทเรียน ถอดความรู้ของเครือข่ายพัฒนาเมืองที่เป็นหน่วยงานทุกๆ เครือข่ายที่ทำงานล่วงหน้าไปแล้ว ข้อสำคัญคือการสานพลัง ได้เห็นข้อสรุปในการตกผลึกร่วมกัน เป้าหมายร่วมกัน ขับเคลื่อนร่วมกัน
 
“หน่วย บพท.จึงขอเสนอแพลตฟอร์ม ปูเสื่อ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้วยระบบ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนอย่างชัดเจน การจัดเวทีโดยเป็นเวทีที่จัดขึ้นโดยคนในพื้นที่ เป็นเวทีของจังหวัด โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยสนับสนุน ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ ลำปางฟอรั่ม เลยฟอรั่ม เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามานั่งหารือร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแผนการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันและเกิดมรรคผลได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาแต่ละพื้นที่”
 
ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า เสาหลักสุดท้าย คือ ต้องการให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยน โดยยึดประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลักให้เกิดเป็นมรรคผลจริงๆ โดยจะชี้ให้เห็นคุณลักษณะสำคัญที่จะทำให้การทำงานของพวกเราทุกคนในแต่ละพื้นที่คือจุดที่ว่าทุกคนยินดีทำงานเพื่อบ้านเมืองไม่ต้องการชี้ให้เห็นว่าใครจะดีกว่าใคร ทุกคนอยากจะสานพลังเพื่อทำงานให้เกิดมรรคเกิดผล