บพท.หนุน มทร.อีสาน โชว์อัจฉริยะ “ขยะเหลือศูนย์”
บพท.หนุนมทร.อีสานผนึกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งกำหนดแพลตฟอร์มพัฒนากลไกสารสนเทศเพื่อวางแผนพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ กรณีศึกษาด้านบริหารจัดการขยะเหลือศูนย์
ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ โครงการการพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ : กรณีศึกษาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะด้านขยะเหลือศูนย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ Smart City โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงการ
โดยในเบื้องต้นพบประเด็นปมปัญหามาจากขยะล้นเมืองโคราช ตลอดจนความต้องการบริหารจัดการขยะภายในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของกลุ่มสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา จึงเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มขับเคลื่อนนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาด้านขยะให้กับเมือง นอกจากนี้ในระดับประเทศได้มีนโยบายเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ระบบนวัตกรรมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ตลอดจนการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะโดยสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล นำมาสู่การออกแบบชุดโครงการวิจัย “การพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก บพท. ในการทดลองดำเนินการจริงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถถอดองค์ความรู้ด้านวิจัย และนำไปสู่การร่างแผนพัฒนาเมืองบรรจุเข้ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดและเทศบาลต่อไป
ทั้งนี้ ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ได้กล่าวว่าด้วยระบบนวัตกรรม หมายถึง การรวมกลุ่ม 3-4 ภาคส่วน ในการค้นหารูปแบบการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ให้กับเมือง ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา และชุมชนในพื้นที่ ประการหนึ่งนั้นทราบกันดีว่าภาครัฐมีบุคลากรแต่ยังขาดองค์ความรู้ในหลายด้าน ส่วนสถาบันการศึกษามีองค์ความรู้แต่ยังขาดเงินลงทุนสนับสนุนให้นำองค์ความรู้เหล่านั้นไป และภาคเอกชนมีเงินทุนแต่ต้องพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ทางธุรกิจ ซึ่งแต่ละภาคส่วนจะทำหน้าที่เกื้อหนุนกันอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของเมือง และบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละด้านของภาคส่วนนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นกลุ่มภาคเอกชนที่จะสามารถเข้ามาร่วมลงทุนจึงมีความสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปพัฒนา โดยโครงการนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนกันมาราว 2 ปีร่วมกับภาคเอกชนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจจะเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง
ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์หากจะพัฒนาโครงการจะต้องประสานกับท้องถิ่นนั้นๆในการบริหารจัดการขยะของหมู่บ้าน แต่บ่อยครั้งที่ไม่ได้ผลที่ดีจึงรวมกลุ่มกันคิดค้นวิธีการบริหารจัดการขยะเพื่อนำไปใช้ในหมู่บ้านจัดสรรโครงการต่างๆ โดยใช้หลักแนวคิดการจำแนกขยะเปียกกับขยะแห้งออกจากกันในระดับหลังคาเรือนของหมู่บ้าน และแนวคิดธนาคารขยะในการรีไซเคิล การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกลไกต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
โดยในเบื้องต้นจะแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้งก่อนอย่างถูกวิธีระดับครัวเรือน ในส่วนแนวคิดนี้ได้รับการดูแลขับเคลื่อนโครงการโดย คุณนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ชื่อโครงการ “Compost Bin” เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำงานอยู่ภายในระบบนิเวศขยะเหลือศูนย์เชื่อมโยงกับโครงการวิจัยนี้ นำไปสู่ระบบการเชื่อมโยงกลุ่มขยะแห้งซึ่งจะง่ายต่อการจำแนกประเภทขยะรีไซเคิล จึงเกิดคอนเซปต์ธนาคารขยะที่บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีต่าง ๆ ในปัจจุบันเชื่อมโยงกับแนวคิดเมืองอัจฉริยะ จัดเก็บข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยแอพพิเคชั่นเป็นตัวเชื่อมให้นำไปสู่ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ในโครงการวิจัย
กรอบแนวคิดระบบนิเวศการบริหารจัดการขยะหมู่บ้านด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์
โดยโครงการวิจัยประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1) กลไกระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มี ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ รับผิดชอบโครงการ 2) ระบบขยะเหลือศูนย์สู่ความเป็นเมืองโคราชอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม มี ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูล รับผิดชอบโครงการ และ 3) การจัดทําแผนพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม และประเมินผลการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในเมืองโคราช มี ดร.ศิริพันธ์ ติยะวงศ์สุวรรณ รับผิดชอบโครงการ ซึ่งโครงการที่ 1 ตนจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมดของการวางโครงสร้างรูปแบบ City Dashboard ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปจัดทำต้นแบบ คาดว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 จะสร้างเสร็จ ให้เป็นห้องวอลลูมที่ติดตั้งระบบซอฟท์แวร์อย่างสมบูรณ์
ห้อง Urban Informatics Center โครงสร้างทางกายภาพรองรับโครงสร้างระบบกลไกสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ
ในส่วนซีโร่ เวด (Zero est) หรือขยะเหลือศูนย์จะเป็นโครงการที่ 2 ให้เป็นโปรเจคนำร่องได้จริง ซึ่งประเด็นหลักคือได้รู้ปมปัญหาจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กว่า 30 โครงการในจังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายกว่า 6,000 หลัง หรือเทียบกับ 1 ตำบล นั่นเอง
เชื่อว่ากระบวนการทำซ้ำน่าจะเปลี่ยนเมืองได้ สอดคล้องกับนโยบายความเป็นเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า)ที่จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะจะต้องบรรลุตัวชี้วัดจาก 2 ใน 7 ด้าน ทั้งนี้เงื่อนไขหลัก 1 ใน 2 ของความเป็นเมืองอัจฉริยะ คือ ต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองอัจฉริยะ โดยหลังจากประสบความสำเร็จแล้วจะเร่งนำเสนอบรรจุเข้าไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดต่อไป ล่าสุดเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมามีการหารือเรื่องการลงนามความร่วมมือกับดีป้าและสำนักงานจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นทางการต่อไป
ดังนั้นจึงน่าจะเป็นจังหวัดต้นๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เตรียมประกาศยุทธศาสตร์ “เมืองอัจฉริยะจังหวัดนครราชสีมา” ซึ่งปัจจุบันได้รับการติวเข้มจากสำนักงานดีป้าสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากคณะรัฐมนตรีรับรองจะสามารถประกาศเป็นเมืองที่มียุทธศาสตร์จังหวัดเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์ต่อไป
โดยรายละเอียดนั้นจะต้องมีแผนงานกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัดจึงจะได้รับการรับรอง เพื่อเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันเร่งจัดทำแผนงานเข้าบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดโดยแม้จะเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนอื่น คนใหม่เข้ามาก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ครบทั้งแผนงานโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไประบุไว้ในแผนงานด้านคมนาคมขนส่ง
ดังนั้นจึงเป็นการระดมความเห็นชาวโคราชในการเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จุดพลุเริ่มจาก 1 ตำบลนำร่องก่อนขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อเนื่องกันไป ซึ่งยังมั่นใจว่าโครงการที่ได้รับทุนจากบพท.ในครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะหัวใจหลักหรือปัญหาหลักคือเรื่องขยะที่จะต้องทำโครงการธนาคารขยะอัจฉริยะ เมื่อลงทะเบียนผ่านระบบแอพพิเคชั่น จะได้เห็นการเชื่อมแต่ละตัวแอพว่าจะบริหารจัดการอย่างไรบ้าง อยู่จุดไหนก็สามารถจะรู้ข้อมูลขยะจุดนั้นๆได้ทันทีโดยการสแกนคิวอาร์โค้ด จะสามารถนับรวมพร้อมประเมินผลตามสภาพพื้นที่นั้นๆได้ทันที
การเชื่อมโยงระบบขยะเหลือศูนย์ระหว่างพื้นที่นำร่อง ธนาคารขยะรีไซเคิลอัจฉริยะ Scavenger Application และฐานข้อมูล
ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นบิสสิเนสโมเดลเรียบร้อยแล้วและร่วมกันพัฒนากับภาคเอกชนคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเสนอผลักดันในรูปแบบบริษัทพัฒนาเมืองขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป ให้เกิดเป็นกลไกสารสนเทศเมืองในการรับไปขับเคลื่อน ซึ่งตั้งเป้าหมายว่ากลางปี 2564 หรือปลายปีจะมีภาคเอกชนเข้ามาต่อยอดโครงการเหล่านี้ในอีกหลายแพลตฟอร์มโดยเฉพาะกลุ่มหอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรมที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และครอบคลุมไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ต่อไป
ประการสำคัญหากจะขับเคลื่อนนครราชสีมาให้เป็นเมืองอัจฉริยะจะต้องเซ็ตระบบนวัตกรรมเมืองที่มีอย่างต่ำ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ภาครัฐทุกระดับ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นแนวทางดังกล่าวจึงสามารถประยุกต์ไปให้กับเนื้อหาการแก้ปัญหาเมืองด้านอื่น ๆ และสามารถพัฒนาไปสู่รูปแบบธุรกิจอื่นๆ หรือการร่วมทุนพัฒนาเชิงพื้นที่ได้อีกหลายแนวทาง ซึ่ง 3-6 เดือนที่ผ่านมาสามารถผ่านขั้นตอนดำเนินการต่างๆไปได้ด้วยดี
สำหรับแผนขับเคลื่อนระยะต่อไป จะเสนอแพลตฟอร์มแอพพิเคชั่นเดินหน้าควบคู่กันไป โดยจะเร่งสรุปต้นแบบถังขยะอัจฉริยะให้เชื่อมกับแพลตฟอร์มได้อย่างลงตัว โดยนำร่องทดลองใช้ใน 5 พื้นที่ คือ ศาลากลางจังหวัด สถาบันอุดมศึกษา ก่อนที่จะรุกหมู่บ้านจัดสรรต่อเนื่องกันไป คือแยกไปหน่วยอุดมศึกษา 2 แห่ง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา) ภาครัฐ 1 แห่งที่เป็นต้นแบบ (ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา) และหมู่บ้านจัดสรรที่เป็นเอกชน ให้ครบ 5 พื้นที่ดำเนินการ
ตำแหน่งพื้นที่นำร่องทดลองติดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลอัจฉริยะ 5 พื้นที่ของเมืองโคราช
หากผลสำเร็จมีผู้ต้องการทำซ้ำจะต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร สามารถขับเคลื่อนตามแผนธุรกิจได้อย่างไรต่อไป จึงมีลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งการให้อปท.ในพื้นที่รับถังขยะอัจฉริยะไปติดตั้งในแต่ละพื้นที่ได้หรือไม่เพื่อให้การขับเคลื่อนเมืองได้อย่างชัดเจนและมีเป้าหมายจริงๆ โดยจะมีข้อมูลแรงกิ้งบ่งบอกไว้ในแต่ละพื้นที่เพื่อเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและมีรางวัลอวอร์ดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ ซึ่งโครงการหลักและโครงการย่อยที่ 2 จะสร้างแรงจูงใจได้อย่างมาก
ซึ่งผลการทดลองคาดว่าจะสามารถนำไปสู่กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของโครงการที่ 3 คือ จัดทำแผนพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และประเมินผลการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำแผนพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะในด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ
“คาดหวังว่าหากลุยจริงๆจะเกิดผลตอบกลับที่ดี โดยภายหลังมีการลงนามความร่วมมือเสร็จแล้ว ต้นปี พ.ศ.2565 นี้จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ได้รับงบสนับสนุนจากบพท.ครั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบให้ชัดเจนก่อน ทั้งความคุ้มค่า รูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแอพพิเคชั่น โดยจะติดตั้งระบบถังที่สามารถใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้อีกด้วย”