ระบบถังขยะอัจฉริยะ ช่วยคลายทุกข์ชุมชนเขตภาษีเจริญ

มหาวิทยาลัยสยามออกแบบเทคโนโลยีบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษจากขยะด้วยเทคโนโลยีระบบถังขยะอัจฉริยะช่วยคลายทุกข์ชุมชนเขตภาษีเจริญ แจ้งเตือนผ่านระบบแอพพิเคชั่นเมื่อขยะเต็ม และส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขทันที เล็งพัฒนาเพื่อนำไปบริหารจัดการขยะทางน้ำตามลำคลองต่างๆมั่นใจตอบโจทย์ชุมชนโดยรอบให้เป็นพื้นที่มีสุขภาวะที่ดี

ผศ.ดร.ไตรทศ ขำสุวรรณ หัวหน้าโครงการการศึกษาบริบทการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองเขตภาษีเจริญเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษจากขยะด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเข้าไปบริหารจัดการมลพิษจากขยะตอบโจทย์ชุมชนต่างๆในพื้นที่เขตภาษีเจริญซึ่งจัดให้มีพื้นที่สุขภาวะรองรับไว้แล้ว

โดยคัดเลือกชุมชนนำร่องที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยสยามมาดำเนินการก่อน คือ ชุมชนรุ่งฟ้า 36 จำนวน 70 กว่าครัวเรือนได้หารือคณะกรรมการชุมชนราว 30 คนผลสรุปทำให้ทราบว่าปัญหาขยะไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดี ปริมาณขยะมีจำนวนมาก ล้นถังบ่อยครั้ง และส่งกลิ่นเหม็นรบกวนพื้นที่

ดังนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม จึงอาสาเข้าไปช่วยชุมชนด้วยการออกแบบถังขยะอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเปิด-ปิดอัตโนมัติ หากขยะเต็มจะมีระบบแจ้งเตือนผ่านแอพพิเคชั่นไลน์ไปยังคณะกรรมการชุมชนและเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญให้เข้ามาเก็บไปทิ้ง พร้อมกับมีการแจ้งเตือนเรื่องกลิ่นรบกวนให้ทราบ โดยหลังจากนี้มีแผนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆให้เขตภาษีเจริญสามารถบริหารจัดการเรื่องขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

25 พย.เปิดตัวทดสอบงานระบบผ่านฉลุย

ปัจจุบันด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงได้ทำต้นแบบถังขยะพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะเสร็จเรียบร้อยแล้ว มี 4 ถังต้นแบบแยกประเภทขยะไว้อย่างชัดเจน โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมามีการทดสอบผ่านระบบสมาร์ทโฟนผลปรากฎว่าได้ผ่านการทดสอบด้วยดี ขณะนี้ถังขยะอัจฉริยะอยู่ระหว่างการติดตั้งเพื่อทดสอบระบบไว้ที่ในชุมชนรุ่งฟ้า 36 เพื่อนำผลการทดสอบไปออกแบบรุ่นที่ 2 ให้ใช้งานอย่างเหมาะสมกระจายไปยังชุมชนอื่นๆ ในเขตภาษีเจริญตามแผนต่อไปโดยเฉพาะบ้านผู้สูงอายุบางแคที่ยังขาดการบริหารจัดการขยะที่ดีในปัจจุบัน

“เบื้องต้นชุด 4 ถัง มีราคาไม่รวมค่างานระบบเทคโนโลยีแอพพิเคชั่นประมาณ 8-9 หมื่นบาท ออกแบบเป็นโครงสร้างสแตนเลส ระบบฮาร์ดแวร์ที่ต้องให้ชุมชนดูแลออกแบบไม่ยุ่งยาก ติดตั้งระบบโซลาเซลไว้ด้านบนให้แสงสว่างยามค่ำคืน อยู่ระหว่างการต่อยอดให้ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ในการออกแบบมีทีมนักวิจัยหลัก 4 คนร่วมกันและที่ปรึกษา 2 ท่านจากหน่วยงานศูนย์วิจัยเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม พร้อมเตรียมดึงพาร์ทเนอร์เอกชนอย่างบริษัท ดนุเดช อุตสาหกรรมจำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงขยะแชมเปี้ยน ผู้นำตลาดถุงขยะประเภทถุงดำสำหรับใส่ขยะในประเทศไทย มาร่วมทีมด้วย โดยช่วงที่ผ่านมาได้ออกแบบและทำต้นแบบถังขยะให้ประชาชนในชุมชนใช้งานแล้ว ส่วนการแจ้งเตือนผ่านระบบยังเป็นการใช้งานของนักวิจัยเท่านั้นก่อนที่จะพัฒนาเป็นแอพพิเคชั่นไลน์ใช้งานตามวัตถุประสงค์ต่อไปโดยได้ทดสอบงานระบบไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

บูรณาการความร่วมมือรัฐ-เอกชน

ปัจจุบันพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนมีความสนใจและอยู่ระหว่างการจัดทำถุงขยะแยกสีให้เห็นชัดเจนเพื่อขยายเทคโนโลยีให้เข้าถึงชุมชนต่างๆ เก็บขยะได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้นประการสำคัญชุมชนต่างๆจะต้องดำเนินการควบคู่กับการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะต่างๆออกจากกันให้เรียบร้อยก่อนนำมาทิ้ง หรือนำไปขายหรือรีไซเคิลอย่างถูกต้องต่อไป ปัจจุบันพบว่าประชาชนให้ความร่วมมือด้วยการคัดแยกขยะไว้ขาย หรือจะทิ้งออกจากกันอย่างชัดเจน จึงเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีในการบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนได้อย่างลงตัว

แผนระยะ 6 เดือนต่อไป

เป้าหมายจะทำต้นแบบถังขยะอัจฉริยะมอบให้กับบ้านบางแคเป็นจุดต่อไปหลังจากได้ข้อมูลในการติดตั้งและทดสอบถังต้นแบบระยะที่ 1 ไปแล้ว คาดว่าอีก 2-3 เดือนจะสามารถนำไปติดตั้งที่บ้านบางแคเพื่อทดสอบระบบต่อไป ขณะนี้พบว่าปัญหาอุปสรรคอยู่ที่ความต่างของชุมชนต่างๆทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่จะมีการบริหารจัดการขยะที่แตกต่างกันไปสุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตภาษีเจริญจะรับผิดชอบในการจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันพบว่าเขตภาษีเจริญมีรอบการวิ่งรถจัดเก็บขยะตามจุดต่างๆในวันอังคารและวันพฤหัสบดีซึ่งจุดหลักนอกเหนือจากขยะในพื้นที่ชุมชนยังมีตลาดสดบางแคและอีกหลายพื้นที่ให้เข้าไปบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับการเข้าไปบริหารจัดการขยะทางน้ำตามลำคลองต่างๆในเขตภาษีเจริญให้จัดเก็บวัชพืชลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแหล่งทุนสนับสนุนนั้น ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในเบื้องต้นและอยากเสนอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมสนับสนุนการต่อยอดโครงการดังกล่าวให้สามารถพัฒนาไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนต่างๆได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด

“สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯหากสำนักสิ่งแวดล้อมของกทม.เล็งเห็นความสำคัญตามที่สำนักงานเขตภาษีเจริญนำเสนอก็อาจนำไปวางระบบงบประมาณเข้าไปดำเนินการพัฒนาถังขยะอัจฉริยะนี้ใช้งานในเขตอื่นๆต่อไปได้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการขยะของกทม.ได้ไม่มากก็น้อย”