มรภ.สุราษฎร์ธานีผนึกเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเดินหน้า “เมืองเก่าสมาร์ทซิตี้”

มรภ.สุราษฎร์ธานีผนึกเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองเก่าสมาร์ทซิตี้ เตรียมเสนอบรรจุไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ของเทศบาลและระดับจังหวัด พร้อมเร่งขยายเครือข่ายรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.นรา พงษ์พานิช หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเพื่อยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่เมืองอัจฉริยะ” ของสาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่าโครงการนี้อยู่ในแพลตฟอร์มที่ 4 โปรแกรมที่ 15 การวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนเรื่องนี้นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานีได้ติดต่อขอหารือเพื่อเดินหน้าโครงการอย่างจริงจังแล้ว

ผนึกเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีพลิกเมืองเก่าสู่เมืองอัจฉริยะ

เดิมนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของ ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี ได้ขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 มีการร่วมหารือร่วมกับนายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี และนายเอกพจน์ ยอดพินิจ รองนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ว่าจะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างไรบ้าง

ต่อจากนั้นได้ฟอร์มทีมนักวิจัยของ มรภ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเพื่อหาแนวทางว่าในปีแรกจะขับเคลื่อนกันอย่างไรต่อไป ตามแนวทางของสมาร์ทซิตี้ให้ครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน หลังจากนั้นจึงทำบันทึกลงนามความร่วมมือต่อกันเพื่อขับเคลื่อนสุราษฎร์ธานีเมืองอัจฉริยะในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

ประกอบกับช่วงนั้นทางหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมีโครงการการสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเพื่อยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่เมืองอัจฉริยะ โดยคณะผู้วิจัยประกอบไปด้วย ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์, ผศ.เบญญา จริยวิจิตร, ผศ.ดร.ดลลักษณ์ พงษ์พานิช จึงนำเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนดังกล่าวที่ครอบคลุม 4 โครงการย่อย และมี ดร.นรา พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าชุดโครงการหลัก

โดยโครงการย่อยที่ 1 ซึ่งจัดว่าเป็นโครงการหลัก คือ การสร้างกลไกเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่าในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อใช้เป็นโครงการสำหรับสร้างกลุ่มคนในพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชนทั้ง 7 ชุมชน ในย่านเมืองเก่าฯ ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชนที่เข้าเป็นภาคีเครือข่าย และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและการจัดทำแผนและผังแม่บทชุมชนย่านเมืองเก่าแห่งนี้

ส่วนการวิจัยโครงการย่อยที่ 2 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยปัจจุบันนี้ย่านเมืองเก่าจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของเทศบาล และของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีร้านค้าเกิดขึ้นมานมนาน บางร้านย้ายออกไปอยู่นอกพื้นที่เมือง ตามการปรับเปลี่ยนรูปแบบคมนาคมขนส่ง และการขยายพื้นที่เมืองจึงส่งผลให้พื้นที่เมืองเก่าเงียบเหงาไม่คึกคักทางเศรษฐกิจเช่นในอดีต ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงเห็นว่าข้อมูลบิ๊กดาต้ามีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าที่พบว่ามีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ถนนคับแคบ จึงมีการนำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลไว้ในโครงการย่อยที่ 2 นี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วขึ้น

สำหรับโครงการย่อยที่ 3 เป็นการพัฒนากลไกสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีสู่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจากข้อจำกัดที่ย่านเมืองเก่าคับแคบกระจุกตัวทำให้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างทำได้ยาก เมืองทรุดโทรม พื้นที่สาธารณะมีน้อย ทั้งพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ในเขตเมือง พบเกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อาทิ ขยะส่งกลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสีย หรือฝุ่นของ PM 2.5 เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเข้าไปบริหารจัดการ

ในส่วนโครงการย่อยที่ 4 การพัฒนาระบบให้บริการและแนะนำข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวอัจฉริยะในย่านเมืองเก่าเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยกำหนดว่าโครงการย่อยที่ 4 นี้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนในพื้นที่มีช่องทางทำมาหากินได้กว้างมากขึ้น ด้วยการเข้าไปส่งเสริมการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ข้อมูลสำคัญที่นำมาพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ในเบื้องต้นผลการศึกษาวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก เรื่องปากท้องประชาชน รายได้และอาชีพของประชาชน ซึ่งทั้ง 4 โครงการย่อยจะมีจุดเน้นเรื่องของการสร้างอาชีพและรายได้ให้ประชาชนในชุมชน อาทิ เรื่องการท่องเที่ยวก็จะลงพื้นที่สำรวจว่าพื้นที่ไหนชุมชนใดมีจุดท่องเที่ยวที่จะสามารถนำไปพัฒนาได้ จุดไหนต่อยอดได้ หรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะต้องเร่งผลักดันต่อไป

เช่นเดียวกับร้านอาหาร ขนม ของดีเมืองเก่า ตลอดจนประวัติความเป็นมา ย้อนอดีตความเป็นมาเรื่องราวน่าสนใจเพื่อนำไปสร้างคอนเทนต์นำเสนอด้านการท่องเที่ยว โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าเพื่อการอนุรักษ์ เน้นการออกแบบชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสร้างแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมหรือกำหนดเป็นแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าต่อไป

เบื้องต้นมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่สามารถระบุย้อนหลังไปได้หลายร้อยปี เล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมากรณีที่ชาวจีนอพยพเข้ามาค้าขายในพื้นที่ เข้ามาตั้งอู่ต่อเรือ ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันยังพบเห็นมีการต่อเรือ ซ่อมเรืออยู่หลายราย จึงควรเข้าไปพัฒนาหรือส่งเสริมรายได้อีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ตามกรอบการศึกษาทั้ง 7 พื้นที่หรือ 7 ชุมชนนั้นขณะนี้คณะกรรมการและชุมชนทั้งหมดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนไปบ้างแล้ว พร้อมกับการระดมแนวคิดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 5-6 ครั้ง จนเกิดเป็นกลุ่มการพัฒนาย่านเมืองเก่ามุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะสุราษฎร์ธานี ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในไลน์กลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแต่ละโครงการย่อยยังได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วนอีกด้วย

สำหรับการเชื่อมโยงโครงสร้างบุคลากรในแต่ละชุมชนนั้นพบว่าเนื่องจากมีทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ของแต่ละชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างกลมกลืนและสอดคล้องกันทางคณะผู้วิจัยได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและง่ายต่อการเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น ร่วมแรงร่วมใจพัฒนา เนื่องจากเล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนโครงการจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ถ่ายทอดต่อกันจากคนในรุ่นต่อรุ่นให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

“ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่าทั้งคนในชุมชน นิสิต นักศึกษาของ มรภ.สุราษฎร์ธานี ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จึงสร้างการรับรู้และเกิดการส่งต่อแนวคิดการพัฒนาชุมชนได้ในวงกว้างมากขึ้น ขยายเป็นโครงข่ายการพัฒนาเมืองไปในทุกชุมชน”

นอกจากนี้ ดร.นรา ยังกล่าวถึงแผนการพัฒนาในระยะต่อไปอีกว่า มีการวางเป้าหมายไว้อย่างน้อย 3 ปี พร้อมกับเร่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีและของจังหวัดต่อไป ดังนั้นภายในปีนี้จึงกำหนดว่าทุกโครงการย่อยจะต้องมีแผนแม่บทหรือแผนปฏิบัติการกำกับไว้อย่างชัดเจนเพื่อนำเสนอเทศบาลไปตั้งงบประมาณไว้ดำเนินการในปี 2564-2566 ต่อเนื่องกันไป

“ปัจจุบันภาคประชาสังคมมีความชัดเจนแล้วเหลือเพียงภาครัฐที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเลือกตั้งเทศบาลท้องถิ่นช่วงเดือนธันวาคมนี้ เมื่อผ่านพ้นไปแล้วคงจะได้เห็นความชัดเจนของภาครัฐมากขึ้น ส่วนทีมคณะผู้วิจัยพร้อมสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้การพัฒนาชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะสามารถขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ดร.นรา กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้มีการเรียนเชิญกูรูด้านการพัฒนาเมืองเก่าระดับประเทศมาให้ความรู้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง ให้ทุกฝ่ายเห็นภาพชัดเจนในทุกมิติ อีกทั้งยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงการพัฒนาเมืองเก่าอื่นๆไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงคาน (จ.เลย) อุดรธานี เป็นต้น

ดังนั้น เมืองเก่าสุราษฎร์ธานีจึงต้องเร่งกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนแล้วร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ได้โดยเร็ว นั่นคือ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีจึงต้องมีแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการพัฒนา ชุมชนหรือภาคประชาสังคมมีเป้าในการขับเคลื่อนสร้างเครือข่ายหรือคณะทำงานพัฒนาเมืองเก่าสู่เมืองอัจฉริยะ ก่อนที่จะยกระดับในปีที่ 2 ปีที่ 3 ต่อเนื่องกันไป จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดที่จะตั้งเป็นบริษัทพัฒนาเมืองเช่นภูเก็ตและเมืองอื่นๆ ในวันนี้จะรอให้เข้มแข็งอย่างเต็มที่ก่อน ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายในปีที่ 2 เพื่อก้าวสู่วิสาหกิจชุมชนอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

“สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้า-ออกมามากมายตั้งแต่ครั้งอดีต จึงมีหลากหลายกลุ่มก้อนในสังคมจึงต้องใช้ระยะเวลาในการรวมแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวมากพอสมควรต่อการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมือง ดังนั้นการพัฒนาในพื้นที่เมืองเก่าจึงต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันก่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

ดร.นรา ยังกล่าวถึงความร่วมมือตลอดจนการสนับสนุนส่งเสริมของสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และอีกหลายภาคส่วนในพื้นที่ว่า แนวคิดเดิมของการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้เป็นแนวคิดของนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นช่วงต้นปี 2563 มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง มรภ.สุราษฎร์ธานีกับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อีกทั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานียังได้เรียนเชิญหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเรื่องสมาร์ทซิตี้พร้อมกำหนดทิศทางการพัฒนาพร้อมมอบหมายให้ มรภ.สุราษฎร์ธานีดำเนินการในเรื่องนี้

“ปัจจุบันท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายกเทศมนตรี และท่านอธิการบดี มรภ.สุราษฎร์ธานี ให้การสนับสนุนตามแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นหากสามารถกำหนดข้อมูลการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัดก็จะสามารถขับเคลื่อนโครงการได้รวดเร็วขึ้นต่อไป”

ทั้งนี้ตามแผนระยะ 6 เดือนหลังจากนี้จะขับเคลื่อนไปพร้อม 2 ส่วนหลัก คือ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีจะเดินหน้าตามบันทึกความร่วมมือที่ทำร่วมกันไว้เรียบร้อยแล้ว มีการสนับสนุนภาควิชาการต่อกัน ล่าสุดเดือนธันวาคมนี้เตรียมจัดงานสตรีทอาร์ตบริเวณถนนคนเดินในพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เปิดโอกาสแสดงความสามารถของคณาจารย์ นิสิต นักศึกษาในพื้นที่มาร่วมแสดงออก การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงดนตรี เพื่อสร้างบรรยากาศท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า

ล่าสุดวันพฤหัสบดีที่ 26 พย. ร่วมหนุนแพพันวารีย์ (โซนเดอะกรีนเนอร์รี่) จัดงานแสดงสินค้าชุมชนในโครงการ Goal Together “เติบโต ร่วมใจ ไปด้วยกัน” ณ ร้านเลอเวอริเดียน โฮทาว์นแอนด์คาเฟ่สุราษฎร์ธานี และจับมือกับเทศบาลและ YEC หอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อเตรียมจัดงานแสดงศิลปะและงานหัตถกรรม ครั้งที่ 1 หรืองาน TAC (Tapee Art and Craft 2020) ณ สะพานนริศในย่านใจกลางเมือง

สำหรับแผนการวิจัยนั้นมีเป้าหมายจะทำให้เกิดแผนการวิจัยและนโยบายขึ้นมาก่อน การสร้างเครือข่ายกลุ่มคนทำงานให้มากขึ้น รวมทั้งการยกระดับคุณภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะปิดโครงการในเดือนเมษายน 2564 นี้ให้มีโครงสร้างคณะทำงานสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. และร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกับเครือข่ายในปีต่อๆ ไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของเมืองเก่าสมาร์ทซิตี้