ฟื้นย่านสบตุ๋ย-สถานีรถไฟ ขับเคลื่อน “ลำปางพัฒนาเมือง”

“ลำปางพัฒนาเมือง” ประเดิมผลงานเตรียมพลิกย่านพื้นที่ “สบตุ๋ย-สถานีรถไฟลำปาง” นำร่องการพัฒนาตามแผน บพท.-สกสว. กำหนด นักวิจัย มช.ผนึกเครือข่ายในพื้นที่เร่งระดมแนวคิดและรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อนำไปออกแบบให้สอดคล้อง

นายกิตติ จิวะสันติการ ประธานกรรมการ บริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า พร้อมแล้วสำหรับการขับเคลื่อนบริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.) ที่มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองอันเป็นภารกิจหลักของบพท.ที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น เมืองน่าอยู่ และกระจายศูนย์กลางความเจริญในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

สำหรับการวางเป้าหมายการพัฒนาลำปางพัฒนาเมืองนั้น ได้จัดกิจกรรมลำปาง ฟอรั่ม( Lampang Forum) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาโดยนำเอาพื้นที่ “สบตุ๋ย-สถานีรถไฟลำปาง” ขึ้นมานำร่องก่อนแต่จะต้องมีการกำหนดกรอบการพัฒนาไว้ทั้งจังหวัด เพียงแต่ย่านพื้นที่สบตุ๋ย-สถานีรถไฟลำปาง จะเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าหากนำไปพัฒนา หลังจากนั้นจึงค่อยขยายการพัฒนาไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อเนื่องกันไป

“ในอนาคตสถานีรถไฟลำปางจะได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะพบว่าบางอาคารมีอายุมากว่า 80 ปีถูกปล่อยโทรมทิ้งร้างไม่ได้รับการพัฒนา ปัจจุบันพบอีกว่ามีการนำป้ายโฆษณาสินค้าไปห้อยแขวนจนดูรกตาเสียทัศนียภาพ ไม่สมคุณค่ากับการได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นของอาคารดังกล่าว ดังนั้นหากได้รับการพัฒนาพื้นที่เชื่อว่าพื้นที่โซนนี้จะใช้เป็นโมเดลการพัฒนาไปสู่พื้นที่อื่นๆของจังหวัดลำปางได้อีกด้วย”

นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ นักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมืองและนโยบายสาธารณะ(E-CUP) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ดำเนินการในบทบาทนักวิชาการที่ให้การสนับสนุนหน่วยงานภาคนักพัฒนาของเมืองต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายนักพัฒนาเมืองโดยเน้นเมืองรอง ภายใต้เป้าหมาย 30 โครงการของสกสว. โดยมีภารกิจ 5 เมืองหลักนำไปขับเคลื่อนคือ ลำปาง ร้อยเอ็ด เลย บุรีรัมย์ และบึงกาฬ

“กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบการวิจัย เพื่อทำให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยเฉพาะคนในชุมชนสบตุ๋ย ได้มีส่วนในการออกแบบโจทย์วิจัยร่วมกัน ภายใต้กรอบความเชื่อที่ว่าการพัฒนาใดๆต้องไม่ใช่การพัฒนาที่นักพัฒนานำเอากิจกรรมเครื่องมือไปวางไว้กับชุมชนคาดหวังว่าสิ่งที่นำไปลงไว้ในพื้นถิ่นนั้นๆจะก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนนั้นๆ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าคนในชุมชนต้องเป็นผู้ที่ออกแบบแนวทางการพัฒนา ทักคนจะชาวยกันพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง”

โดยการสนับสนุนลำปางพัฒนาเมืองเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาร่วมหารือการพัฒนาเมืองลำปาง ให้ออกแบบพัฒนาด้วยทุกคนเอง ปัจจุบันได้บริษัทลำปางพัฒนาจำกัดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน ส่วนในอนาคตจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนต่างๆเข้ามาพัฒนามากขึ้น ทั้งนี้ด้วยลำปางมีทุนด้านการพัฒนารองรับไว้แล้วจึงได้รับการออกแบบโดยใช้ฐานรากของทุนวัฒนธรรมดังกล่าวไปออกแบบกิจกรรมด้านการพัฒนา ซึ่งมี 2-3 กิจกรรมที่เป็นเครื่องมือไปดำเนินการ อาทิ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่แบ่งการพัฒนาเมืองลำปางออกเป็น 3 ประเภท คือระดับยุทธศาสตร์ มาสเตอร์แพลน ซึ่งภายใต้กรอบยุทธศาสตร์นี้มองระยะ 5 ปีข้างหน้าว่าลำปางจะเป็นอะไร ใครจะมาทำอะไรที่ลำปาง ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือแผนยุทธศาสตร์การลงทุนจังหวัดลำปางนั่นเอง

ส่วนระดับเมืองนั้นจะมีการออกแบบการขับเคลื่อนระดับเมือง ซึ่งในอดีตลำปางคือจุดยุทธศาสตร์และพาณิชย์ของภาคเหนือ มีสาขาของธนาคารแห่งประเทศไทย มีสถานีรถไฟก่อนจะไปสู่จังหวัดเชียงใหม่ ยิ่งในสมัยราว 100 ปีที่ผ่านมาจะมีความโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด จึงครบครันด้วยโครงข่ายรถไฟ รถโดยสาร สนามบิน จึงต้องใช้จุดเด่นเหล่านี้ไปพลิกฟื้นเมือง โดยเฉพาะแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟลำปาง ภายใต้บริบททุนทางวัฒนธรรม

ในส่วนระดับสุดท้ายนั้นคือการพัฒนาระดับย่าน จะมีการออกแบบย่านเศรษฐกิจเดิม ที่เป็นย่านของชาวจีนมาตั้งแต่ในอดีต คือ ย่าน “สบตุ๋ย-สถานีรถไฟลำปาง” ที่ในอดีตจะมีสินค้าจากหลายพื้นที่ถูกขนส่งมารวมไว้ที่จุดนี้ก่อนจะกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆของลำปางและอีกหลายจังหวัดโดยรอบด้วยการขนส่งทางบก

“จะพบว่ามีร้านค้าส่ง ค้าปลีกของร้านค้าพี่น้องชาวจีนจำนวนมาก ย่านสบตุ๋ยจึงรวมชาวจีนของลำปางที่เข้มแข็งอีกเมืองหนึ่งของภาคเหนือ ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมพิพิธภัณท์มีชีวิต การนำเอาศิลปะของแต่ละร้านค้า แต่ละชุมชนมานำเสนอซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมได้ทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับยุทธศาสตร์ ระดับเมือง และระดับย่าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนชาวลำปางที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จกันต่อไป สำหรับการเปิดพื้นที่การพูดคุยร่วมกันจะกำหนดรูปแบบของการสานเสวนา แลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้หน่วยงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาเรื่องเมืองและนโยบายสาธารณะ(E-CUP) จึงเป็นเสมือนการนำเอาความรู้ความสามารถภาควิชาการไปขับเคลื่อนช่วยลำปางพัฒนาเมืองให้ไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง”

ทั้งนี้หากมองเรื่องข้อจำกัดของเมืองจะเห็นว่าลำปางจัดเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เคยยิ่งใหญ่แต่ปัจจุบันได้ลดความยิ่งใหญ่ลงมาแล้ว แต่ยังมีตัวตนกลุ่มก้อนคนของเมืองอยู่บ้าง ความยากจึงไปอยู่ที่วิธีการคิดของคนกลุ่มดังกล่าว และกลุ่มที่แตกต่าง บริษัท ลำปางพัฒนาเมืองจึงเป็นตัวประสานคนในแต่ละกลุ่มให้เกิดเครือข่ายของการพบปะพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด จึงต้องออกมาแสดงตัวตนของตนเองพร้อมร่วมกับกำหนดแนวทาง ทิศทางการพัฒนาเมืองกันให้มากที่สุด โดยสลายกรอบวิธีคิดที่ไม่สร้างสรรค์ออกไป ไม่ควรคิดอิจฉาริษยากัน หรือกลัวใครจะเด่นกว่าแต่ควรร่วมกันสร้างมิติใหม่การพัฒนา ก่อให้เกิดการบูรณาการในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาเมืองลำปางโดยเร็วต่อไป

“อยากเห็นลำปางมีการอยู่อาศัยที่มีความสุขกายสุขใจ ให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันในครอบครัวมากกว่าจะไปใช้เวลาอยู่บนถนน เกิดเป็นพื้นที่ที่มีเพื่อนๆมากขึ้น และมีเงินเหลือใช้ในกระเป๋ามากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากออกแบบย่านการพัฒนาสบตุ๋ย -สถานีรถไฟลำปาง ได้อย่างถูกต้องแล้ว ดึงดูดให้ชาวลำปางจากถิ่นอื่นกลับคืนสู่พื้นที่ได้มากขึ้นก็จะเป็นโมเดลให้อีกหลายพื้นที่นำไปใช้ พร้อมกับการกลับมาลงทุนในพื้นที่ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ลำปางก็จะเป็นเป้าหมายใหม่ให้ทุกคนอยากสัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้น”