ชวนยลโฉม 6 ไลฟ์สไตล์แฟชั่น งาน...เชียงใหม่ครีเอทีฟมายน์
กฎบัตรเชียงใหม่ผนึกภาคส่วนภาคีเครือข่ายของกฎบัตรการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมภาครัฐ ภาคเอกชน ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือนเก้าเปิดความพร้อมจัดงาน ChiangMai Creative Mind 2020 ชมไฮไลต์งาน ChiangMai Creative Fashion & Lifestyle 6 รูปแบบ 6 สัปดาห์ให้ได้ยลโฉม เจาะกลุ่มชุมชนเพื่อสัมผัสแหล่งที่มาอย่างใกล้ชิดคาดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทในแต่ละชุมชน
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ร่วมกับภาคส่วนภาคีเครือข่ายของกฎบัตรการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนเมืองเชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมือง จัดงาน ChiangMai Creative Mind 2020 ประเดิมรูปแบบ ChiangMai Creative Fashion & Lifestyle 6 รูปแบบ 6 สัปดาห์
โดยมีหลายกลุ่มเข้ามาบูรณาการร่วมกันทั้งสมาคมนักร้องนักดนตรีจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในปี 2562 ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมไปดำเนินการแต่มีวิกฤติโควิด-19 จึงได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นี้โดยจะจัดแถลงข่าวเพื่อแสดงความพร้อมจัดงานในวันที่ 9 กันยายนนี้เอาฤกษ์เอาชัย “วันที่ 9 เดือนเก้า” วัตถุประสงค์เพื่อต้องการฟื้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งโดยเร็ว
ประการสำคัญผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 ลุกลามและรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปคงเอาไม่อยู่ และสร้างความเดือดร้อนหนักไปสู่ทุกหย่อมหญ้าที่อาจจะยากต่อการป้องกันแก้ไขหรือเยียวยา ยิ่งช่วงนี้หากหวังให้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐมาช่วยเหลือคงไม่ทันการณ์แน่จึงเร่งขับเคลื่อนโครงการนี้เพื่อจุดประกายความร่วมมือร่วมกันทุกฝ่าย โดยใช้งบวิจัยเข้าไปกระตุ้นให้เกิดประโยชน์เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบราว 2-3 ล้านบาทซึ่งภาคส่วนอื่นๆที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถเข้ามาร่วมกันได้ทันที
“ล่าสุดได้กำหนดการ 6 สัปดาห์งาน fashion everywhere เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมนี้น่าจะเป็นเพียงไม่กี่งานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ (ยกเว้นการสนับสนุนงบวิจัยบางส่วนจากกฎบัตรกลาง และ สกสว.) ดังทราบกันดีว่าเครื่องยนต์กลไกเศรษฐกิจปัจจุบันตกอยูในภาวะยากลำบาก มีแต่การเลิกจ้างและชะลอการดำเนินงาน หากจะนั่งรอดูกันเฉยๆ ก็คงจะใช่ที่ ภาคส่วนภาคีเครือข่ายของกฎบัตรการท่องเที่ยวยั่งยืน (Thailand Charter for Sustanable Tourism) และกฎบัตรเชียงใหม่จึงตัดสินใจจัดงานนี้ หวังจะทดสอบรูปแบบกลไกใหม่ที่ผูกดึงหัวจักรเศรษฐกิจหลายๆ หัวมาทำงานร่วมกัน จะเรียกว่าเป็น action research หรืออะไรก็สุดแท้แต่”
กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวอีกว่ากลไกที่นำมาผูกรวมขับเคลื่อน ได้แก่ ภาคชุมชนวัฒนธรรมพื้นถิ่น ว่ากันตั้งแต่พี่น้องชาติพันธ์ุ มาจนถึงชุมชนพื้นถิ่นล้านนา ชุมชนหัตถกรรม ชุมชนที่เป็นเลิศด้านศิลปะการแต่งกายและการดนตรี และชุมชนพาณิชยกรรมแฟชั่นสมัยใหม่ มอบนักออกแบบแฟชั่นทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นให้ช่วยออกแบบที่นอกกรอบ เพื่อที่จะดูว่าหากลองพัฒนาศิลปะแฟชั่นจากฐานดั้งเดิมต่อยอดจนเป็นงานใหม่ที่รวมนวัตกรรมสร้างสรรค์เข้าไปแล้ว ผู้คนนักท่องเที่ยวจะสนใจหรือไม่
เช่นเดียวกับอีกกลุ่มกลไกที่นำมาเป็นหัวจักรการขับเคลื่อนโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มมัคคุเทศน์ กิจการนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร กิจการขนส่งนักท่องเที่ยว ได้ขอให้กลุ่มดังกล่าวนี้จัดแพคเกจนำผู้สนใจเข้าชมงาน ขอให้มากันตามจำนวน วันเวลาที่กำหนด จำนวนที่ต้องการประมาณไว้ให้พอเหมาะกับการรองรับของสถานที่ พอให้คนขายของได้หมด และสอดคล้องกับกิจกรรม สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้แต่ต้องลงทะเบียนเพื่อทราบจำนวน จะได้ไม่ล้นงานและไร้คุณภาพในการจัดการพื้นที่ กิจกรรมที่จัดเราคาดหวังทั้งการสร้างความพึงพอใจสูงสุดจากการได้ร่วมสัมผัสอย่างแท้จริงกับทุกสไตล์แฟชั่น จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้าง หรือจะทำการค้าขายกันต่อไป ส่วนที่คาดหวังมากที่สุดคือหลังจากเสร็จกิจกรรมแล้วรูปแบบความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงอยู่และมีการต่อยอดต่อไป
“กิจกรรมนี้ไม่ใช่งาน event ขายสินค้าราคาถูก คอนเสิร์ตหรือแฟชั่นโชว์ จบงานแล้วเลิก แบบนี้ไม่เอา ในเกือบทุกขั้นตอนทีมงานพยายามออกแบบสร้างสร้างสรรค์ แม้ไม่เยอะจนดูเวอร์ แต่ก็จะทำให้ประทับใจได้ มีความสุขเล็กๆ ร่วมกันได้ โดยการแถลงข่าวรายละเอียดการจัดงานมีขึ้นในวันที่ 9 กันยายน ตรงกับฤกษ์ดีวันที่ 9 เดือนเก้า เวลา 18.00 ที่สะพานขัวเหล็ก สิ่งที่คาดหวังเพื่อต้องการฟื้นเศรษฐกิจชุมชน โดย 5 สัปดาห์เป็นการจัดงานในแต่ละชุมชน แล้วนำมารวมกันจัดในสัปดาห์ที่ 6 ณ ศูนย์ประชุมเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อให้แต่ละชุมชนนำผลิตภัณฑ์มาครีเอทใหม่ ให้สวยงาม สอดคล้องกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ใส่แนวคิดสร้างสรรค์ใหม่เข้าไปเพิ่มเติม”
สำหรับภาคปฏิบัติในวันงานเนื่องจากอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงยังเน้นไปที่กลุ่มบริษัททัวร์และมัคคุเทศก์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีกว่า 1 หมื่นคนที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานเป็นหมู่คณะนำผู้สนใจเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมงานแต่ละชุมชนๆละ 2-3 วัน ไม่เน้นคนจำนวนมาก เบื้องต้นนำเสนอแพ็คเกจ 200-300 คนต่อครั้ง จำแนกเป็นทริปละประมาณ 50 คนวันละประมาณ 3 -5 ทริปเพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงเกิดความประทับใจ หากจะซื้อ-ขายระหว่างกันสามารถตกลงกันได้ให้เกิดการติดต่อทางธุรกิจต่อกันได้
“ดึงมัคคุเทศก์ บริษัททัวร์เข้ามาร่วมจัดแพ็คเกจ คาดว่าจะส่งผลให้มีเงินสะพัดช่วงจัดงานในแต่ละชุมชนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และยังจะมีการซื้อ-ขายต่อเนื่องได้อีก ซึ่งน่าจะมีสินค้านวัตกรรมใหม่ป้อนเข้ามาในงานอีกหลายรายการ ในครั้งนี้ยังได้รับการอาสาจากศิลปินหลายท่านไปออกแบบสินค้าให้อีกด้วย โดยได้รับงบประมาณจากโครงการไปใช้ในการตกแต่งสินค้าให้โดดเด่นเป็นพิเศษเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองสวมใส่หรือไว้ถ่ายแบบที่ระลึกของงานครั้งนี้ ในส่วนบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ซื้อแพ็คเกจโครงการอาจจะต้องควบคุมปริมาณจึงขอแนะนำให้เข้ามาร่วมแพ็คเกจจะได้รับความสะดวกมากกว่า โดยผลลัพธ์ที่ได้น่าจะได้เห็นความร่วมมือต่อกันของคนในชุมชน สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ อาทิ บริษัททัวร์ท่องเที่ยว โรงแรม ฯลฯ กลุ่มศิลปิน ศิลปะรูปแบบต่างๆ ร่วมกันทำงานมากขึ้นคาดว่าจะเป็นงานแรกของไทยภายหลังวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้” กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวในตอนท้าย