กทม.พัฒนาระบบบำบัดนำ้เสียในคลองแสนแสบ

กทม.เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและระบบความปลอดภัยทางน้ำนำร่องในคลองแสนแสบ

(4 ส.ค.63) เวลา 14.00 น. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจิตอาสาพระราชทาน โครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ (คลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ) โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการโยธา และผู้แทนสำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา 21 เขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง

สืบเนื่องจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) มีคำสั่ง ที่ 8/2563 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2563 แต่งตั้งคณะทำงานจิตอาสาพระราชทาน โครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ (คลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ) โดยแบ่งคณะทำงานย่อยออกเป็น 3 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานที่ 1 งานพัฒนาบำบัดน้ำเสีย โดยสำนักการระบายน้ำ คณะทำงานที่ 2 งานพัฒนาสิ่งแวดล้อมริมฝั่งคลอง โดยสำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา และคณะทำงานที่ 3 งานดูแลความปลอดภัยทางน้ำ (การเดินเรือ) โดยสำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านจิตอาสาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และขับเคลื่อนงานให้บรรลุผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ภายในระยะเวลา 6 เดือน เริ่มวันที่ 1 ก.ย.63 ทั้งนี้คลองแสนแสบมีความยาวประมาณ 45,450 ม. มีคลองสาขา 101 คลอง โดยมีสำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา 21 เขต

โดยในที่ประชุมได้นำเสนอแผนการดำเนินงานของสำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ในงานพัฒนาบำบัดน้ำเสีย เริ่มต้นที่ถนนที่มีท่อระบายน้ำเชื่อมต่อกับคลองโดยตรง และชุมชนอาคารริมคลอง ดังนี้ 1.สำนักงานเขตดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 2.จัดทำแผนรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำกับอาคาร สถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย เพื่อให้คำแนะนำการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด 3.จัดทำบัญชี สถานประกอบการ ร้านค้า อาคาร เพื่อประกอบในการติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินการ 4.ตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงาน 5.ดำเนินคดีกับสถานประกอบการ ร้านค้า อาคาร ที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ และ 6.ทำแผนจัดการน้ำเสียในคู คลอง

ทั้งนี้สถานประกอบการ อาคาร ที่ต้องตรวจแนะนำ ได้แก่ 1.ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงเรียน หอพัก ภัตตาคาร คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล วัด ตลาด ทุกประเภท สถานีบริการน้ำมัน หมู่บ้าน และชุมชนที่อยู่ติดคลอง สถานที่เพาะพันธุ์เลี้ยงและอนุบาลสัตว์ทุกชนิด 2.ร้านอาหารทุกประเภท และหาบเร่แผงลอยที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จทุกประเภท 3.สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ล้างอัดฉีดรถยนต์ ร้านเบเกอรี่ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย 1.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 2.ฝ่ายเทศกิจ 3.ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และ 4.ฝ่ายโยธา

สำหรับงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมริมฝั่งคลอง ในส่วนความรับผิดชอบของสำนักงานเขตให้ต้องดำเนินการ ดังนี้ ระยะเวลา 1-3 เดือน ได้แก่ 1.จัดระเบียบทางเดินริมสองฝั่งคลอง ไม่ให้มีการตั้งวาง ตาก แขวน สิ่งของตามทางเดิน ทางเท้า และที่ราวกันตกริมเขื่อน 2.รื้อย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางเดินริมเขื่อน เช่น เพิงหลังคา ผ้าใบกันสาด เสาซุ้มต่างๆ 3.บริหารจัดการการจัดเก็บขยะ ที่พักขยะริมคลอง ให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้มีขยะตกค้างหรือตกหล่นลงในคลอง 4.ล้างทำความสะอาดราวกันตกและคานหลังเขื่อน พื้นทางเดิน หลังเขื่อนไม่ให้มีคราบตะไคร่ คราบน้ำสกปรก

ระยะเวลา 1-6 เดือน ได้แก่ 1.ซ่อมแซมราวกันตก ทาสีใหม่ ซ่อมแซมพื้นทางเดินริมเขื่อน 2.ซ่อมแซมสะพานทางเดินข้ามคลอง ทำความสะอาด และทาสีใหม่ 3.ซ่อมแซมไฟฟ้าแสงสว่างตามทางเดิน และติดตั้งเพิ่มเติมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย 4.กำจัดวัชพืช ต้นไม้ที่ขึ้นบนกำแพงเขื่อน และตามทางเดินริมเขื่อน 5.ซ่อมแซมโป๊ะ ท่าน้ำ ท่าเรือ ทำความสะอาด และทาสีให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ระยะเวลา 1-12 เดือน ได้แก่ 1.รื้อย้ายโป๊ะ ท่าน้ำ ท่าเรือที่ชำรุดใช้งานไม่ได้และที่ไม่ได้รับอนุญาต 2.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปรับปรุงพื้นที่ของตนเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรก 3.ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอาคาร บ้านเรือน ทำความสะอาด ซ่อมแซม หน้าบ้านด้านริมคลอง ทาสีตัวอาคาร รั้ว และสิ่งก่อสร้างที่เก่าทรุดโทรม 4.ปรับปรุงภูมิทัศน์ตามทางเดินริมคลองเป็นจุดๆ ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม 5.สร้างกิจกรรม และฟื้นฟูวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง ตามชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม

ระยะ 1-24 เดือน ได้แก่ ออกแบบชุมชนเมือง ทั้งสองฝั่งคลอง ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ให้ฟื้นคืนทั้งสุนทรียภาพ คุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ดี มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในเบื้องต้นนำผลการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่เคยศึกษาไว้แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงย่านต่างๆ เช่น ชุมชนบ้านครัว ชุมชนริมคลองแสนแสบตลาดเก่ามีนบุรี ชุมชนเมืองหนองจอก ชุมชนเมืองย่านบางกะปิ คลองแสนแสบ

ส่วนงานดูแลความปลอดภัยทางน้ำ (การเดินเรือ) ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงเรือสำรวจสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและกำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป