“นิด้า” ดึงเครือข่ายพัฒนาเมือง ร่วมสร้างกรุงเทพฯสู่มหานครน่าอยู่

นิด้าเดินหน้าถอดบทเรียนพัฒนาย่านบางกะปิ จัดเวทีรับฟังความเห็น ‘ร่วมสร้างกรุงเทพฯสู่มหานครน่าอยู่ : : Make Livable Bangkok” ล่าสุดได้ 8 พื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทางเท้าเร่งพัฒนา ย้ำ!!! ทางเดินลอยฟ้าย่านบางกะปิเร่งเปิดใช้ต้นปีหน้า ส่วนตค.นี้เป็นต้นไปเตรียมปรับปรุงทางเท้ารับพื้นที่อัจฉริยะพร้อมเล็งตั้ง ‘ประชาคมกรุงเทพฯ โซนตะวันออก’ เพื่อเป็นแกนนำขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่

ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการวางแผนและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ย่านบางกะปิ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมสัมมนา “ร่วมสร้างกรุงเทพฯ สู่มหานครน่าอยู่ : Make Livable Bangkok” โดยได้รับเกียรติจากนายณัฐพล เทศขยัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ(สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุม โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชนตลอดจนประชาชนในพื้นที่และสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม ณ ห้อง3001 ชั้น 3 อาคารนวมินทราธิราช นิด้า

กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีการนำเสนอผลการศึกษาด้านผลการออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะและทางเท้า 8 พื้นที่ โดยนายพงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ กรรมการบริษัท ไอซอร่า ดีไซน์ จำกัด จากนั้นอาจารย์ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ จากสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานปรับสภาพแวดล้อมเดินทางสู่กรุงเทพฯเมืองของคนทั้งมวล ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมนำเสนอกรุงเทพมหานครเร่งผลักดันพร้อมจัดงบประมาณพัฒนาโครงการต่อไป

นอกจากนั้นเป็นช่วงการจัดเวทีเสวนาเรื่องความร่วมมือเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อทุกคนโดย ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ กล่าวถึงหัวข้อ “ถอดบทเรียนพัฒนาย่านบางกะปิ” ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจากกรุงเทพมหานคร ภาคประชาสังคมโดยมูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน ภาคประชาชน โดยพ.ต.อ.สรพงษ์ นาคะโยธี ผู้แทนชุมชนบางกะปิ พระอาจารย์ ดร.บุญชอบ จากวัดสามัคคีธรรม นายพีรัชฌ์ สมุทรโชติช่วง ประธานหมู่บ้านนาริสา เขตบึงกุ่ม ร่วมเสวนา

เร่งเสนอกทม.-หน่วยเกี่ยวข้องบรรจุไว้ในแผนงาน

ผศ.ดร.ณพงศ์กล่าวว่า โครงการนี้ได้เปิดรับฟังความเห็นมาแล้วในเวทีใหญ่ครบ 7 ครั้ง หลังจากนี้จะมีเปิดเวทีย่อยอีกบางส่วน พร้อมขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในโซนใกล้เคียงทั้งบางกะปิ วังทองหลาง และบึงกุ่ม โดยมีหน่วยงานหลักกรุงเทพมหานครมีทั้งสำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักวัฒนธรรม ที่ล่าสุดจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาห้องหนังสือและลานกีฬา เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการตามผลศึกษา

สำหรับแผนดำเนินการต่อจากนี้ นิด้าจะนำข้อมูลรายละเอียดเสนอหน่วยที่เกี่ยวข้องบรรจุไว้ในแผนงาน พร้อมจัดงบประมาณเข้าไปสนับสนุน เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานได้ตามแผนต่อไป ทั้งนี้ในเบื้องต้นนั้นพบว่าปัจจุบันภาคเอกชนได้ก่อสร้างทางเชื่อมเข้า-ออกแต่ละอาคารรองรับไว้แล้วหากทางยกระดับลอยฟ้าเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการก็สามารถเชื่อมต่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงแต่ละอาคารได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

เตรียมเจรจาภาคเอกชนเปิดพื้นที่ทางเท้ากว้างขึ้น

ผศ.ดร.ณพงศ์ กล่าวอีกว่า แผนดำเนินการต่อไปด้านการพัฒนาเมืองภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพบว่ามีประชาชนเข้ามาทำธุรกิจและติดต่อธุรกิจในโซนนี้เพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือการเพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขวาง สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงเตรียมหารือกับกลุ่มผู้ค้าบนทางเท้าเข้าไปค้าขายในพื้นที่มีความเหมาะสมบริเวณใกล้เคียงเพื่อเร่งคืนทางเท้าให้เกิดความสะดวก สะอาด ปลอดภัยให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางบริเวณทางเท้าได้อย่างสะดวกพร้อมกับจะติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิดและระบบเทคโนโลยีอื่นๆให้เป็นพื้นที่อัจฉริยะรองรับการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อปรับภูมิทัศน์ทางเดินเท้าโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้เมื่อได้ผลการศึกษาและการรับฟังความเห็นครบถ้วนแล้วนิด้าพร้อมนำข้อมูลเสนอต่อกรุงเทพมหานครเร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมกับประสานภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมสนับสนุนเพราะไม่อยากให้เกิดขึ้นเฉพาะทางเดินลอยฟ้าเท่านั้น ควรจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ของภาคเอกชนได้อีกด้วย สำหรับทางเดินลอยฟ้าจะเชื่อมกับสวนสีเขียวคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งจะเป็นโครงการแรกที่จะเห็นภาพชัดเจน แล้วยังจะมีอีกหลายโครงการทยอยก่อสร้างหรือพัฒนาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่องกันไป ทั้งนี้ด้านแผนการพัฒนาทางเท้าโซนด้านล่างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและทางเดินลอยฟ้านั้นนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 นี้เป็นต้นไปจะเริ่มทยอยเห็นภาพการพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567

“โดยหลังจากนี้นิด้าเตรียมก่อตั้ง ‘ประชาคมกรุงเทพฯ โซนตะวันออก’ เพื่อเป็นแกนนำขับเคลื่อนแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนต่อไป” ผศ.ณพงศ์ กล่าวในตอนท้าย