ยผ.ดันผังภูมิสังคม Geo-social Map เพื่อบูรณาการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างยั่งยืน

กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) เร่งขับเคลื่อนการนำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน นำร่องที่นครสวรรค์ ก่อนขยายสู่พื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ


นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สั่งการเร่งขับเคลื่อนการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการและกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชน พัฒนาเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการของผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และภาคีเครือข่าย


พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัด นำแผนงานโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมมาดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ


จังหวัดนครสวรรค์โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครสวรรค์ ได้ขับเคลื่อนโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ไปสู่การปฎิบัติงานจริง โดยการจัดกิจกรรมโครงการขุดลอกคลองสาธารณะ (ลำเหมืองหน้าเขา) เลียบถนนหนองกรด – เนินศาลา (อบจ.นว4100) พร้อมวางท่อระบายน้ำ ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร เพื่อการบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่ตำบลบางประมุง อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์


โดยการดำเนินงานมีการขุดลอกคลองสาธารณะ (ลำเหมืองหน้าเขา) ความกว้างคลองประมาณ 17 เมตร ความลึกคลอง 7 เมตร ความกว้างก้นคลอง 4 เมตร มีการเสริมคันคลองทางด้านทิศตะวันตกของคลองความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร พร้อมวางท่อคอนกรีตขนาด 60 เซนติเมตร ระยะห่างประมาณ 200 เมตร รวม 15 จุด ซึ่งในการดำเนินการใช้งบประมาณของเทศบาลตำบลบางประมุง เพื่อจัดชื้อท่อคอนกรีต และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีผู้เข้าร่วมดำเนินงานประกอบด้วย จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครสวรรค์ เทศบาลตำบลบางประมุง อำเภอโกรกพระ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน 7 ภาคีเครือข่าย


“การดำเนินงานโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือกันดำเนินโครงการตามโครงการการจัดทำผังภูมิสังคม ฯ แบบการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป” นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในตอนท้าย