ส่องโปรฟายน์ความสำเร็จ “คุณสมาน บุญยอ” จากธุรกิจการ์เม้นท์สู่อาณาจักรอาหารทะเล “สมานซีฟู้ดสำเพ็ง 2”

(ตอนที่ 1)
ขึ้นชื่อว่า “สมานการ์เม้นท์” ผู้เขียนเชื่อว่าในวงการเสื้อผ้าคงจะคุ้นตาของหลายๆ คนโดยเฉพาะเสื้อสีฟ้าที่นักปั่นทั่วประเทศสวมใส่ในโครงการ “ปั่นเพื่อแม่” ที่สร้างความฮือฮามาตั้งแต่ปี 2557 ล่าสุด “สมานการ์เม้นท์” ภายในการนำของ “คุณสมาน บุญยอ” ยังลุยผลิตเสื้อยืดเพื่อใช้ในเทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ ตลอดจนเสื้อยืดที่ใช้สวมใส่ในเทศกาลบุญบั้งไฟ เสื้อกิจกรรม เสื้อรุ่นและเสื้อที่สามารถนำไปใช้เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ ออกจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งรับจ้างผลิตตามออเดอร์และผลิตเพื่อจำหน่ายเองหน้าร้าน

จุดเริ่มต้นสู่ความพลิกผันทางธุรกิจ

“คุณสมาน บุญยอ” หนุ่มอีสานอดีตคนขับแท็กซี่หาเช้ากินค่ำ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเพจข่าวและเวบไซต์ข่าว www.ucdnews.com ว่าชีวิตพลิกผันลองผิดลองถูกกับธุรกิจใหม่มานับไม่ถ้วนด้วยความหวังว่าอยากจะประสบความสำเร็จมีรายได้ที่ดีและยั่งยืน ลุยดะทั้งงานเย็บเสื้อผ้า ร้านกาแฟ ค่ายมวย หมูกระทะ ร้านลาบ-ส้มตำ ฯลฯ โดยถือหลักดำเนินชีวิตด้วยจักร 3 ตัวที่ภรรยาใช้เย็บผ้ามีรายได้จากค่าแรงควบคู่ไปกับการขับแท็กซี่ทำมาหากินตั้งแต่เข้ากรุงเทพฯต่อสู้ชีวิตเช่นพี่น้องชาวอีสานคนอื่นๆ จนมาเป็น “สมานการ์เม้นท์” ในวันนี้

แต่ละวิกฤติเรียกว่าเขาต้องสู้แทบสุดใจขาดดิ้น เริ่มจากปี 2553 ต่อเนื่องสู่ปี 2554 แถมยังเข้าสู่ปีน้ำท่วมหนักในปี 2555 ออกบ้านไปไหนไม่ได้ จึงมีโอกาสหัดเย็บผ้าเริ่มจากประกอบเย็บเสื้อเป็นตัวแล้ววางขายทั่วไป ทำให้มองเห็นว่างานเย็บผ้าได้อะไรหลายๆ อย่าง หนึ่งวันเย็บได้ราว 100 ตัวได้ค่าแรงตัวละ 5 บาทหากทำได้วันละ 1,000 ตัวคงจะมีรายได้ 5,000 บาท หลักการและแนวคิดง่ายๆ ในขณะนั้น

เมื่อเห็นช่องทางรายได้จึงฟอร์มทีมเดินหน้าสู่การผลิตเต็มรูปแบบมากขึ้น เริ่มจากใช้จักร 3 ตัวเพิ่มเป็น 5 ตัวขยายเป็น 50 ตัว วันหนึ่งทำได้มากถึง 1 หมื่นตัวก็ทำสำเร็จมาแล้ว เดือนหนึ่งเคยวางบิลสูงถึง 8 แสนบาท ครึ่งหนึ่งจ่ายค่าแรงลูกน้อง ส่วนหนึ่งแบ่งมาจ่ายค่าด้ายเย็บราว 2 แสนบาท หักส่วนอื่นๆ คงเหลือราว 1 แสนบาท ทำให้มองเห็นรายได้ค่าเหนื่อยที่ได้จากการทุ่มเทเย็บผ้า เริ่มต้นจากห้องแถวเล็กๆ สู่โรงงานผลิตครบวงจรย่านซอยเอกชัย 76 ถนนเอกชัย เขตบางบอน กรุงเทพฯ นี่เป็นก้าวแรกของ ‘สมานการ์เม้นท์’ นับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ วันที่ 11 มิถุนายน 2566 นี้ก็จะครบรอบสู่ปีที่ 8 ของการก่อตั้งธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าครบวงจร

“ทำอย่างไรให้อยู่รอดได้” ทำมากได้มาก น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่??? คือคำถามที่ต้องมีคำตอบชัดเจน ปี 2556 เริ่มให้ภรรยานำเสื้อออกไปวางขายปากคลองมหานาคหรือตลาดโบ้เบ้ ส่วนตัวคุณสมานทำหน้าที่ควบคุมการผลิตอยู่ที่โรงงาน ขายตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึง 6 โมงเช้า เริ่มจากแผงขายขนาด 2 คูณ 2 เมตร ขายได้ 2 เดือนยังไม่กระเตื้องเนื่องจากทำเลไม่เป็นใจ วันหนึ่งจึงต้องขอตัวช่วย นั่นคือ ทำตามความเชื่อคนไทยด้วยการบอกเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระแม่ธรณีโดยใช้ฝ่ามือแตะพื้นแล้วอธิษฐานขอโอกาสความสำเร็จทางธุรกิจตามแนวทางที่ถือปฏิบัติมาโดยตลอด นั่นคือ ขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญู รู้คุณคนให้หนุนนำชีวิตประสบความสำเร็จได้ จนปัจจุบันมีร้าน “สมานการ์เม้นท์ สาขาโบ้เบ้” ขนาดห้องแถว 2 ห้องเป็นของตนเองได้สำเร็จ ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่

วันหนึ่งดูเหมือนว่า ‘ฟ้าประทาน’ ให้ “คุณสมาน” มองเห็นลู่ทางที่สามารถดิ้นหนีความยากจนจากโครงการ ‘ปั่นเพื่อแม่’ ของรัฐบาลในปี 2557 จากประสบการณ์จึงมองตลาดได้ดีกว่าด้วยการเร่งผลิตเสื้อยืดออกขาย 6 แสนตัว แม้ท้ายสุดจะเหลือราว 6 หมื่นตัวแต่ก็หักลบกลบหนี้แล้วเหลือเงินราว 7 ล้านบาทจึงพอที่จะทำให้เริ่มเห็นลู่ทางต่อยอดจะก้าวเดินต่อไปได้อย่างเชื่อมั่นมากขึ้น

นำลูกน้องลุยงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม

จะเรียกว่าโหนกระแสและได้จังหวะที่ลงตัว ‘คุณสมาน’ จึงเดินหน้าเร่งสปีดเย็บเสื้อผ้าร่วมกับลูกน้องราว 40 คน ลุยเย็บตั้งแต่ 6 โมงเช้าไปจนถึง 5 ทุ่ม ผลลัพธ์ที่ได้มีลูกน้องหลายคนสามารถเก็บเงินสะสมได้มากถึง 8 แสนบาทหรือเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ส่งผลให้หลายครอบครัวสามารถตั้งตัวได้สำเร็จจากธุรกิจเย็บเสื้อผ้าของสมานการ์เม้นท์อานิสงส์ของการผลักดันโครงการปั้นเพื่อแม่ของรัฐบาลในยุคนั้นนั่นเอง

“ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย เมื่อเห็นจังหวะจะรุกทันที หลักการคือเมื่อเดินบันใดขั้นหนึ่งแล้วจะเห็นอีกขั้นที่จะเดิน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเดินหรือไม่เท่านั้น ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ดังนั้นหากเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ยังขับแท็กซี่และนั่งเย็บผ้า ปัจจุบันเติบโตมาเป็นผู้บริหารธุรกิจ ยังทำให้หันหน้ามองหาเพื่อนๆ ที่จะพึ่งพาอาศัยกันยากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ทำให้ปรับสภาพเข้าหากลุ่มคนบางกลุ่มยากขึ้นเพราะหลายคนมองเห็นว่าเรามีฐานะดีขึ้น รวยขึ้นนั่นเอง ทั้งๆที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านนอก ชีวิตพลิกผันไปมาก”

(มีต่อตอนที่ 2)