CNT กางแผนธุรกิจ มีลุ้นกลุ่มงานใหม่ปี 66
กางแผนเชิงรุกค่ายรับเหมา CNT เดินหน้ากวาดแบคล็อคเพิ่ม เผยงานเก่ายังรับรู้รายได้อีก 2-3 ปี พร้อมมีลุ้นรับงานใหม่กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงาน และดาต้าเซ็นเตอร์และงานบางส่วนจากภาครัฐ ป้อนรายได้ปี 66 ส่วนงานกลุ่มซีพี กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มไทยยูเนียน CNT ยังสามารถเข้าแข่งขันได้งานเพิ่มมาเป็นระยะ
นายพิเชฐ นิ่มพานิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT เปิดเผยว่า โดยปกติปริมาณงานใหม่หรือสัญญาใหม่ของ CNT ที่เกิดขึ้นใน 1 ปีจะมีราว 8,000-1 หมื่นล้านบาท รายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมายังใกล้เคียงเพราะเป็นโครงการที่หามาในปีก่อนนั้น และสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ หลายโครงการภาครัฐจะรับรู้รายได้ช่วง 3-4 ปี ส่วนโครงการระยะสั้นภาคเอกชนจะรับรู้รายได้ปีต่อปี
ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาแม้จะหางานเพิ่มได้น้อย ยอดงานใหม่มีประมาณ 3,000 ล้านบาท เพราะงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีโครงการออกมาน้อยมาก และ CNT ก็ไม่อยากเข้าไปแข่งขันรับงานจนกดยอดมาร์จิ้นต่ำมากเกินไป เพราะ CNT ยังมีปริมาณงานในมือหรือแบคล็อคอยู่บ้าง ส่วนปริมาณงานอยู่ในมือถึงสิ้นปี 2565 ยังมีอยู่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นต้นปีนี้จนถึงกลางปี 2566 ยังทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาป้อน แต่หากไม่มีงานใหม่เข้ามาเพิ่มเติมช่วงครึ่งปีหลังนี้และข้ามไปปี 2567 ก็จะส่งผลกระทบหลายด้านตามมา ค่าใช้จ่ายทางด้านบริหารจัดการก็จะไม่เพียงพอและต้องวางแผนอย่างดีว่าจะยังสามารถสร้างส่วนต่างรายได้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างไร
เป้าหมาย CNT ปี 66
สำหรับเป้าหมาย CNT ปี 2566 มุ่งเน้นหางานบางกลุ่มเข้ามาทดแทน อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงาน กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เริ่มขยับตัวเพิ่มขึ้นแล้วจะเข้ามาเสริม ดังนั้นอุตสาหกรรมหลักที่จะต้องเข้าไปรับงานให้ได้ปีนี้ อาทิ ปิโตรเคมี งานสาธารณูปโภคกลุ่มพลังงาน งานอุตสาหกรรมรถยนต์ EV และรถจักรยานยนต์ EV ซึ่งกำลังจัดทำข้อมูลเพื่อเข้าร่วมแข่งขันต่อไป ล่าสุด CNTเพิ่งดำเนินการงาน LNG TANK แล้วเสร็จบางส่วนของกลุ่มปตท. และมีแผนขยายเพิ่มอีก
เช่นเดียวกับกลุ่ม GULF-PTT TANK ที่เร่งถมทะเลในขณะนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง LNG TERMINAL ช่วงต้นปี 2567 แล้วยังมีงานสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆอีกด้วย โดยจะต้องประมูลแข่งขันกับผู้รับเหมานานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาแข่งขันกับกลุ่มญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมางานของนักลงทุนญี่ปุ่นไม่มี กลุ่มผู้รับเหมาญี่ปุ่นจึงมาร่วมแข่งขันในเวทีประมูลที่สำคัญในไทย ส่วนธุรกิจอาหารยังได้รับอานิสงส์จากงานกลุ่มซีพี กลุ่มไทยเบฟ ส่วนงานธุรกิจอาคารของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีป้อนเข้ามาสู่งานก่อสร้างของ CNT ภายใต้งานของกลุ่ม MQDC มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท
มีลุ้นรับเพิ่มงานใหม่
เมื่อมองผลประกอบการของ CNT ยังมั่นใจว่าจะได้งานสูงกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา แต่งานในมือจะสามารถทำกำไรหรือขาดทุนบางส่วนก็เป็นไปได้เช่นกัน การบริหารจัดการให้เกิดการสมดุลยังต้องเร่งดำเนินการในปีนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อต่อ กรณีงานที่มีอยู่แล้วจะสามารถทำกำไรได้หรือไม่ หากพลาดงานใหม่ที่ได้มาจะเข้ามาเจือจุนได้อย่างไร
“ปีที่ผ่านมาเราไม่มีการปรับลดพนักงาน ไม่มีลดเงินเดือนและสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น ยังเดินหน้าตามปกติ ในช่วงก่อนโควิด ระหว่างโควิด และหลังโควิด แม้ว่าจะมีบางส่วนได้ขอออกไปประกอบอาชีพตามภูมิลำเนา ในกลุ่มวิศวกร กลุ่มสถาปนิก ที่มองว่างานจะมีความเสี่ยงช่วงโควิดจึงต้องการกลับไปอยู่กับครอบครัวก็มีหลายราย โดยเฉพาะช่วงปิดไซต์งานก่อสร้างซึ่ง CNT พร้อมรับกลับคืนมาทำหน้าที่ร่วมกันต่อไป” นายพิเชฐกล่าวในตอนท้าย