กมธ.อุตสาหกรรม ส.ส.ดันรัฐ เร่งส่งเสริมผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก

มทร.ธัญบุรี นำเสนอ กมธ.อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฏร ชงรัฐบาลเร่งส่งเสริมการผลิตและพัฒนา “ต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก” เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขัน และยกระดับรายได้ของเกษตรกร นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืน คาดเติบโต 8.5 หมื่นล้านบาท

ผศ.ดร.กุณฑล ทองศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาได้รับเชิญให้นำเสนอในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง “แนวทางการผลิตและพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก” ให้กับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและเกษตรแปรรูปในประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดย ดร.พีระเพชร ศิริกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ และคณะกมธ.ให้เกียรติร่วมรับฟังตลอดการนำเสนอ ทั้งนี้เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างศักยภาพการแข่งขัน และยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรยุคใหม่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก เพื่อทำอย่างไรให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตและพัฒนาเครื่องทุ่นแรง เพราะเป็นความหวังอนาคตของเกษตรกรตัวเล็กๆ เลี้ยงชีพยามแก่เฒ่า อยู่กับธรรมชาติ

“พัฒนาต้นแบบรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กใช้ในงานด้านเครื่องจักรกลการเกษตรรูปแบบ 3 in 1 นั่นคือเป็นเครื่องขนาดเล็ก ประกอบด้วยใบเกรดหน้า ผานหลัง และบูมแขนแมคโครไว้ด้านหน้า โดยในนามอนุกรรมาธิการฯ มีความพยายามเร่งผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมต้นแบบการผลิตให้เอกชนผู้สนใจ และมีศักยภาพได้นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป”

โดยแนวทางการผลิตและพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กแบบเอนกประสงค์ 3 in 1 ที่ได้นำเสนอ กมธ.มีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ 1.เพื่อให้เหมาะสมกับเกษตรกรของไทย ที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และถือครองด้วยเกษตรกรรายย่อย
2.เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างศักยภาพการแข่งขันและยกระดับรายได้ของเกษตรกร และ 3.เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้แนวทางดำเนินการดังกล่าวเพราะทราบว่าตัวดีมานด์ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรตามการสำรวจของธนาคารกสิกรไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับกรณีขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรมทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่าปัจจุบันตัวเลขการแข่งขันทางการตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรจะมีอัตราค่อนบ้างสูงก็ตาม นำเข้าจากจีนที่มีราคาถูก รวมทั้งต้นทุนราคาน้ำมันสูง และเหล็กขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเครื่องจักรกลด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ AI หรือ IoT จึงมีความจำเป็นต่อเกษตรกร โดยเฉพาะแปลงเกษตรกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตลอดจนเกษตรรายย่อย ที่มีส่วนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนำประเทศไทยบรรลุเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ได้ปี 2065 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และแผนพลังงานชาติ

“เน้นเพิ่มศักยภาพของเครื่องจักรกลการเกษตรให้มากขึ้น ต้นทุนถูกลง บำรุงรักษาง่าย หากยกระดับสู่ระบบ EV ขณะนี้พบปัญหาแบตเตอรี่ยังไม่ลงตัวในการใช้งาน ก็จะแก้ไขเรื่องจุดชาร์จแบตเตอรี่ได้สนองกับขีดความสามารถของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั่นเอง”

โดยต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนหรือส่งเสริมผู้ประกอบการตลอดจนวิสาหกิจชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานในพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก ดังนั้นหากสามารถดำเนินการแบบครบวงจรทั้งการผลิต จำหน่ายและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพนับว่าเป็นการสนองความต้องการของเกษตรรายเล็กรายย่อยได้อย่างลงตัว

สำหรับแผนระยะต่อไปจะเร่งส่งเสริมสนับสนุนการผลิตบุคลากรด้านช่างซ่อมบำรุง เพื่อให้การบริการดูแลบำรุงรักษาได้เต็มประสิทธิภาพ รวดเร็วครอบคลุมทุกพื้นที่ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับส่งเสริมสินเชื่อการลงทุน เมื่อได้รถต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ความตั้งใจจะกำหนดราคารถต้นแบบไว้ราว 1 แสนบาทต่อคัน แม้ว่ามีผู้ประกอบการผลิตรายย่อยบางรายในราคาอยู่ที่ 8-9 หมื่นบาทก็ตาม สเปคที่ได้ต้องสนองความต้องการได้จริงๆ แล้วยังมีส่วนประกอบใช้งานอื่นๆ ได้อีกมากมายให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการใช้งาน มีใบเกรดหน้า ไฮโดรลิกเพิ่ม หรือบูมแขนแมคโครที่จะใช้เป็นงานหลักของเกษตรกรรายเล็ก ประการสำคัญจาก 3 in 1 สามารถยกระดับเป็น ALL in ONE ต่อไปทั้งการเกรด ขุด เจาะ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง”

นอกจากนั้น มทร.ธัญบุรี และ กมธ.ยังพร้อมดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม และการอนุรักษ์พลังงานเพื่อยกระดับสู่ระบบอีวี (EV) ที่สมบูรณ์แบบต่อไป

“ท้ายสุดคือต้องการเห็นเครื่องจักรกลการเกษตรมีราคาเครื่องที่เกษตรกรเข้าถึงง่าย สามารถทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ เช่น แทรกเตอร์อัตโนมัติไร้คนขับเพื่อใช้ในแปลงนาข้าวขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก เป็นต้น ทั้งนี้ยังเล็งเห็นถึงแนวทางการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์หรือเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดูแลรักษา ซ่อมบำรุงที่มีความทันสมัยและซับซ้อนมากขึ้นซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน” ผศ.ดร.กุณฑล ทองศรี กล่าวในตอนท้าย