มรภ.ลำปาง ชวนเที่ยวนิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร”
สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดงานนิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 11 กันยายนนี้
นิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” ภายใต้โครงการแผนงานโครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นำเสนอมรดกทางภูมิปัญญาของงานช่างหัตศิลป์ในจังหวัดลำปาง ผ่านงานหัตถศิลป์พื้นบ้านและศิลปวัตถุทางศาสนาที่สำคัญของจังหวัดลำปาง อาทิ สัตตภัณฑ์ งานไม้แกะสลัก เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักรสานพื้นบ้าน งานผ้าทอพื้นเมือง และงานตอกกระดาษ เพื่อเผยแพร่ศิลปะและหัตถศิลป์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
จากหัตถศิลป์และวิถีชีวิต สู่มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร
ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งในดินแดนล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นแหล่งงานศิลปกรรมและงานช่างหัตถศิลป์ที่สำคัญของล้านนา โดยงานศิลปกรรมและงานช่างหัตถศิลป์ของลำปางนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภายในลำปางเองและจังหวัดอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงที่มีอิทธิพลของศิลปกรรมล้านนาเหมือนกัน
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของลำปางที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งทรัพยากรจากป่าไม้ ภูเขา และแหล่งน้ำ ทำให้ภูมิปัญญาในด้านงานช่างหัตถศิลป์ของลำปางมีมากมายหลากหลายประเภท และงานช่างหัตถศิลป์เหล่านี้เองได้ผสมผสานและถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนชาวลำปางวิถีชีวิตออกมาให้ได้พบเห็นกันอีกด้วย
โดยงานนิทรรศการที่จัดขึ้นในครั้งนี้นำเสนอผ่านองค์ความรู้งานช่างหัตถศิลป์อันเป็นมรดกของลำปาง วิถีชีวิตและความผูกพันของผู้คนชาวลำปางกับพระพุทธศาสนาภายใต้ชื่อ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” และจัดแสดง ณ หอศิลปะการแสดงนครลำปาง (บ้านบริบูรณ์) อาคารซึ่งตั้งอยู่บริเวณกาดกองต้าอันเป็นศูนย์รวมการค้าขายและการพบปะของผู้คนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และไม่ไกลกันนั้นก็ใกล้กับแม่น้ำวังหรือแม่วัง สายน้ำอันเปรียบเสมือนสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชาวลำปาง ที่เป็นดังจุดเริ่มต้นแห่งการสร้างมรดกและศรัทธาที่ส่งต่อสืบมาหลายชั่วอายุคน
ภาพบรรยากาศกาดกองต้า
มรดกแห่งพุทธศิลป์ วิถีศรัทธาชาวลำปาง
ในงานนิทรรศการครั้งนี้ได้ร้อยเรียงเรื่องราวของงานและวัตถุจัดแสดงชิ้นต่าง ๆ ผ่านวิถีชีวิตและความศรัทธาของของชาวลำปางเข้าไว้ด้วยกัน โดยห้องจัดแสดงจะแบ่งออกเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนชาวลำปาง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยถ้าหากจะกล่าวถึงวิถีความเชื่อความศรัทธาของชาวลำปางหรือแม้กระทั่งชาวล้านนาเอง คือ งานหัตถศิลป์ทางพระพุทธศาสนา หรือ “งานพุทธหัตถศิลป์” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านความผูกพันของผู้คน วิถีชีวิต และศรัทธา โดยงานพุทธหัตถศิลป์เหล่านี้มักจะเป็นในเรื่องของเครื่องสักการะหรือเครื่องบูชาเป็นส่วนใหญ่
โดย ศิลปวัตถุที่สำคัญและโดดเด่นชิ้นหนึ่งที่อยากจะพาทุกท่านมาเยี่ยมชมให้ได้ในครั้งนี้คือ สัตตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องสักการะในพระพุทธศาสนาที่มีความประณีตงดงามที่ปรากฎบนดินแดนล้านนาเท่านั้น มีลักษณะเป็นเชิงเทียนใช้ปักเทียนสำหรับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ หรือพระประธานในพระวิหารหรือพระอุโบสถ โดยสัตตภัณฑ์เป็นงานศิลปกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์และแฝงคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับภูเขาที่ล้อมเป็นวงกลมรอบเขาพระสุเมรุเป็นชั้น ๆ รวม 7 ชั้น ประกอบกับลวดลายประดับที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละช่างหัตถศิลป์
สัตตภัณฑ์ที่จัดแสดงในงานนิทรรศการ
นอกจากสัตตภัณฑ์ที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญในกลุ่มของเครื่องสักการะในนิทรรศการนี้แล้วยังมีศิลปวัตถุที่เป็นงานพุทธหัตถศิลป์อื่น ๆ ที่น่าสนใจและศึกษาเรียนรู้อีกมาก อาทิ หำยนต์หรือหัมยนต์ ลวดลายการแกะสลักไม้ประดับตามอาคารวิหารของวัดและอาคารบ้านเรือนโบราณ, งานแกะสลักวิหารน้อยและพระไม้ศิลปกรรมช่างท้องถิ่นภายในจังหวัดลำปาง, พระบุเงินอันเป็นเอกลักษณ์จากช่างเครื่องเงินของลำปาง และนอกจากนี้ยังมีงานภาพพระบฎที่เป็นงานจิตรกรรมทางพระพุทธศาสนาบนผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาและงานตอกกระดาษหรือโคมศรีล้านนาในลายปูรณฆฎะ หรือ ลายหม้อดอกจากวัดพระธาตุลำปางหลวงที่มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวลำปางและล้านนาอีกด้วย
งานพุทธหัตถศิลป์จากเครื่องไม้และเครื่องเงิน
หัตถศิลป์ลำปาง ภาพสะท้อนวิถีแห่งเขลางค์นคร
จากงานพุทธหัตถศิลป์ที่ได้กล่าวถึงไปในส่วนของนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแล้ว นิทรรศการนี้ยังประกอบด้วยส่วนของวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ของลำปางอีกหลาย ๆ แง่มุมผ่านงานหัตถศิลป์ที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดแต่ละประเภท โดยทางผู้จัดนิทรรศการได้ทำการรวมรวบงานหัตถศิลป์ต่าง ๆ เหล่านี้มีให้ทุกท่านได้เข้าเยี่ยมชมและร่วมกันศึกษาวิถีแห่งเขลางค์นครหรือลำปางของพวกเราผ่านมรดกอันล้ำค่าเหล่านี้
กลุ่มงานเครื่องจักรสาน เป็นงานหัตถศิลป์ที่มีการทำสืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคนและเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นอย่างมากผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้คือ กล่องข้าวบ้านไผ่ มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์มีลวดลายที่สวยงามอันเกิดจากการสานเส้นตอกที่ย้อมสีดำขัดกับเส้นตอกสีธรรมชาติ มีแหล่งผลิตอยู่ในหมู่บ้านไผ่แพะ บ้านนางาม บ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และกล่องข้าวป่าจ้ำซึ่งเป็นกล่องข้าวที่มีแหล่งผลิตในหมู่บ้านป่าจ้ำและบ้านน้ำโจ้ ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อีกหนึ่งแหล่งที่มีชื่อเสียงในจังหวัดลำปาง
กล่องข้าวหรือแอ็บข้าว งานหัตถศิลป์ประเภทเครื่องจักรสาน
หากพูดถึงจังหวัดลำปาง ทุกท่านคงจะนึกถึงงานหัตถศิลป์สำคัญนี้เป็นลำดับแรก นั่นคือ งานเครื่องปั้นดินเผา หรือ งานเซรามิก ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องเคลือบเซรามิกของลำปางมีพัฒนาการยาวนานมากกว่า 600 ปี และยังมีแหล่งผลิตกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นจำนวนมาก เครื่องปั้นดินเผาที่ทุกท่านจะได้พบเห็นผ่านงานนิทรรศการนี้ก็มีรูปแบบที่หลากหลายกันไป ตั้งแต่ถ้วยก๋าไก่ ที่รู้จักทั่วไป ไปจนถึงเตาเมืองวัง เครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในยุคสมัยล้านนา ก็สามารถรับชมและเรียนรู้ไปพร้อมกันผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ได้
ถ้วยก๋าไก่และเตาเมืองวัง งานหัตถศิลป์ประเภทเครื่องปั้นดินเผา
นอกจากงานหัตถศิลป์ที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วยังมีงานหัตถศิลป์พื้นบ้านจากท้องถิ่นต่าง ๆ ของลำปางอีกมากมายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งงานเครื่องเงินที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สลุง พาน และแอ็บมอม งานเครื่องกระดาษ ตอกดอกและโคมศรีล้านนา และงานผ้าทอจากชนเผ่าพื้นเมืองในจังหวัดลำปาง เป็นต้น
เรียนรู้จากครูช่าง นั่งรถม้าแอ่วกาด
นิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” นอกจากการเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านศิลปะงานช่างและหัตถศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของลำปางและล้านนาแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมอบรมทักษะงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นและเรียนรู้วิถีชีวิตผู้ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไปในบริบทของสังคมโลกปัจจุบันอีกด้วย
โดยมีรายละเอียดของกิจกรรมหลักที่เพิ่มเติมจากงานแสดงนิทรรศการนั้นประกอบด้วยกิจกรรมสาธิตและอบรมทักษะการตอกดอกและโคมศรีล้านนา โดยนางทิวาพร ปินตาสี ครูช่างศิลปหัตถกรรมเครื่องกระดาษของจังหวัดลำปาง ที่จะถ่ายงานตอกกระดาษและโคมศรีล้านนาให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้ร่วมกันเรียนรู้และลงมือปฏิบัติไปด้วยกัน เพื่อซึบซับภูมิปัญญาของลำปางและล้านนาอย่างแท้จริง โดยการอบรมทักษะงานช่างหัตถศิลป์ท้องถิ่นผ่านงานตอกกระดาษจะจัดเป็นจำนวนสองวัน ได้แก่ วันที่ 27 สิงหาคม 2565 และวันที่ 3 กันยายน 2565
และกิจกรรมอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ทุกท่านน่าจะชื่นชอบและตื่นเต้นอย่างแน่นอน คือ “แอ่วเขลางค์ นั่งรถม้าชมกาด” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภูมิปัญญางานช่างหัตถศิลป์จากรถม้า พร้อมกับการนั่งรถม้าอันเป็นเอกลักษณ์ของลำปางชมกาดกองต้าศูนย์รวมวิถีชีวิตชาวลำปางริมแม่น้ำวังอันเป็นสายโลหิตหลักของชาวลำปาง โดย ครูบั้ม นายเอกสุพจน์ ใจรวมกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านม้าและรถม้าลำปาง
ตัวอย่างงานต้องดอกและทำโคมศรีล้านนา ตัวอย่างรถม้าและนั่งรถม้าชมวิถีชีวิต
จากนิทรรศการและหัตถศิลป์ สู่การต่อยอดทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ
งานนิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” ครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นในการให้ความรู้ ถ่ายทอด และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างและต่อยอดองค์ความรู้และทักษะให้แก่คนรุ่นใหม่หรือผู้คนที่สนใจให้นำไปต่อยอดในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ต่อไปในอนาคต มีการนำหัตถศิลป์พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าทางการตลาดได้ และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถขับเคลื่อนไปด้วยมิติทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
โดยงานนิทรรศการครั้งนี้ได้นำร่องผ่านการผสมผสานงานหัตถศิลป์ตอกกระดาษด้วยงานพื้นเมืองกับงานสมัยใหม่ และมีการฝึกทักษะอบรมงานหัตถศิลป์การตอกดอกและทำโคมศรีล้านนาผ่านครูช่างที่เชียวชาญจริงเพื่อสร้างโอกาสและแนวทางการต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “หัตถศิลป์ลำปาง : มรดกศรัทธาแห่งเขลางค์นคร” ได้ในวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 13.00 – 21.00 น. ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 11 กันยายน 2565 ณ หอศิลปะการแสดงนครลำปาง (บ้านบริบูรณ์)
#สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ #มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง #นิทรรศการหัตถศิลป์ลำปาง