‘กสิกรไทย-ศุภาลัย’ จับมือพันธมิตร จัดสินเชื่อ 5 หมื่นล.ติดโซลาร์รูฟ 5 แสนหลัง
‘ธนาคารกสิกรไทย-ศุภาลัย’ จับมือพันธมิตรเดินหน้า GO GREEN Together สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดของประชาชน เปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนฟรี เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย เตรียมวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ลงทุน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดสู่การเป็น Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศ นำร่องโครงการหมู่บ้านศุภาลัย ตั้งเป้าติดตั้ง 5 แสนหลังทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารฯ ได้จัดทำโครงการ GO GREEN Together เพื่อผลักดันให้เกิด Green Ecosystem ขึ้นมานั้น ที่ผ่านมาธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุน เช่น สินเชื่อธุรกิจเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ สินเชื่อบ้านสีเขียว สินเชื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บริการให้เช่าใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สาขา และจับมือกับพันธมิตรทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยใช้ชีวิต Green Lifestyle ได้ง่ายขึ้น
ล่าสุดธนาคารฯ ร่วมกับ 4 พันธมิตรใหญ่ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดตัวโครงการ SolarPlus ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนให้คนไทยใช้พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่มีความสนใจอยากติดตั้งโซลาร์รูฟ แต่มีความลังเลเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาคืนทุนนาน และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวโครงการ SolarPlus ซึ่งเป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย เจ้าของบ้านไม่ต้องลงทุนติดตั้งและเสียค่าบำรุงรักษา อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้า 20% ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ โดยเริ่มนำร่องโครงการแรกกับหมู่บ้านศุภาลัย
ทั้งนี้ธนาคารฯ ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด เพื่อใช้ลงทุนติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนที่ร่วมโครงการ และธนาคารฯ ยังรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดที่เหลือจากการใช้งานของบ้านที่ร่วมโครงการนี้ เพื่อนำมาใช้ในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเพิ่ม Carbon Handprint ให้กับองค์กร
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประธานคณะกรรมการ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโซลาร์เซลล์ของบ้านเรือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษา พร้อมทั้งตกลงให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่บ้านเรือน
ทั้งนี้เงื่อนไขและข้อตกลงในการจัดเก็บค่าไฟจะเป็นไปตามสัญญาการให้บริการ โดยกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้จากบ้านเรือนจะถูกจำหน่ายเข้าไปในระบบไฟฟ้า ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท หรือนำมาซื้อขายพลังงานแบบ Peer to Peer Energy Trading ทั้งนี้บริษัทมีความคาดหวังให้โครงการนี้ช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่บ้านเรือนของตัวเอง เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และหวังว่าโครงการดังกล่าวจะถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับ โครงการซื้อขายพลังงานแบบ Peer to Peer Energy Trading ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด Green Design โดยเน้นออกแบบเป็นบ้านประหยัดพลังงานมาอย่างยาวนาน และในปีนี้บริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี ซึ่งเตรียมเดินหน้าติดตั้งโซลาร์ที่อาคารศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ ตลอดจนมีแผนการติดตั้ง EV charger ที่โครงการทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
“พร้อมจับมือร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่มีนโยบายใส่ใจรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผนึกกำลังกับธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ โดยประเดิมที่โครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 ซึ่งเป็นโครงการแนวราบที่มีลูกบ้านเข้าอยู่แล้วจำนวนมาก และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากลูกบ้านเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการดังกล่าว”
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการของ กฟผ. นอกเหนือจากภารกิจหลักในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งไฟฟ้าแล้ว กฟผ. ยังมี Solutions ใหม่ในด้านนวัตกรรมพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย ทั้งในส่วนของการเข้าถึงพลังงานสะอาด และการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งในส่วนของโครงการ SolarPlus นี้ ทาง กฟผ. ก็ได้นำแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมงาน กฟผ. เอง และผ่านการทดลองใช้งานจริงในโครงการ ERC Sandbox เฟส 1 มาแล้ว เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ ซึ่งความคาดหวังในส่วนของตัวแพลตฟอร์มเองจะต้องมีการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ง่าย และเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะสามารถขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคในอนาคตต่อไป
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาด โดยบริษัทให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ของโครงการพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายใบรับรอง Renewable Energy Certification (REC) แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาด โดย REC เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศ
นายพิพิธ กล่าวทิ้งท้ายว่าโครงการนี้มีแผนขยายไปทั่วประเทศ และตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์รูฟจำนวน 500,000 หลังภายใน 5 ปี เตรียมวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ลงทุน 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นและจะเป็นตัวเร่งให้เกิด Green Ecosystem ได้จริงในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่ Net Zero ได้ตามเป้าหมายของประเทศ