นักวิจัย มจธ.พัฒนานวัตกรรม “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน”
“เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” สำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมถือเป็นความสำเร็จของนักวิจัยจาก มจธ. ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม จากความตั้งใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยสังคมไทย นวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง ผลิตโดยคนไทย ราคาไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพสูง ส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องสูญเสียเงินจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงผลงาน “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” สำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม โดยระบุว่า เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้ในการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน เพื่อหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ปัจจุบันกระบวนการตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน ตามหลักสากล มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. นำวัตถุพยานมาอบไอกาว (Super Glue Fuming) ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที
2. ย้อมด้วยสีย้อมเรืองแสงโรดามีน 6 จี (Rhodamine 6G)
3. นำมาดูภายใต้แสงด้วยเครื่องโพลีไลท์ (Polilight) เพื่อดูรอยลายนิ้วมือ และถ่ายภาพนำมาชี้จุดลักษณะสำคัญพิเศษเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อการยืนยันตัวบุคคล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ในการตรวจสอบวัตถุพยาน
“ปลอกกระสุนปืนถือเป็นวัตถุพยานหนึ่งที่มักพบอยู่เป็นจำนวนมากในที่สถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะการก่อเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าการก่อเหตุแต่ละครั้ง “รอยลายนิ้วมือแฝง” (Latent Fingerprints) มักจะปรากฏบนปลอกกระสุนปืนและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปหาตัวผู้กระทำผิดได้”
ทั้งนี้ เครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ออกแบบและพัฒนาโดย ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ น.ส.อวิกา แสงวิมาน นายอดิเรก พิทักษ์ และนายอภิวัฒน์ เพ็ชรสหาย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ร่วมกับ พ.ต.อ.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ และ พ.ต.อ.หญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศ อดีตนักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กลุ่มงานตรวจ
รอยนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการพัฒนาจากเวอร์ชั่นแรกซึ่งใช้ระยะเวลาการตรวจ 60 วินาที สำหรับเวอร์ชั่นใหม่ ที่พัฒนาขึ้น มี 2 รูปแบบการใช้งาน ดังนี้
1. เครื่องตั้งโต๊ะสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ สามารถตรวจปลอกกระสุนปืนได้ครั้งละ 10 ปลอก
2. เครื่องแบบพกพาใช้ในสถานที่เกิดเหตุ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักเบา สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ตรวจปลอกกระสุนปืนได้ครั้งละ 1 ปลอก
ซึ่งทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพการทำงานเหมือนกัน ภายใต้คุณสมบัติ คือ สะดวกรวดเร็ว ใช้งานง่ายเพียง 1 ขั้นตอนทำให้รอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืนปรากฏชัดเจนขึ้น ลดระยะเวลาจากการตรวจหา 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 20 วินาที ก็สามารถเห็นลายเส้นและจุดลักษณะสำคัญพิเศษบนรอยลายนิ้วมือที่ปรากฏนำไปสู่พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว โดยในขณะนี้เครื่องดังกล่าวได้เลขคำขอสิทธิบัตรแล้ว
ผศ. ดร.เขมฤทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เครื่องเวอร์ชั่นใหม่ ทีมวิจัยออกแบบและผลิต โดยใช้เครื่อง 3D ปริ้นเตอร์ในการปริ้นตัวเครื่องตามแบบที่ได้ปรับปรุงพัฒนาจากเครื่องต้นแบบรุ่นก่อนหน้านี้ ตามข้อแนะนำจากทางสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจที่ได้นำเครื่องต้นแบบรุ่นก่อนไปใช้งานจริง ทำให้เรานำมาพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น”
เมื่อเร็วๆ นี้ “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” รุ่นใหม่นี้ ได้ถูกส่งมอบและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ที่มีความรับผิดชอบหลักครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ถือเป็นการตอบโจทย์และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายนัก
#มจธ. #เครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝง #ปลอกกระสุนปืน #ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม