ยผ.พะเยาระดมความเห็น ปรับผังเมืองรับรถไฟทางคู่
โยธาธิการและผังเมืองจ.พะเยา เร่งระดมความเห็นการปรับผังเมือง-ออกแบบศูนย์เศรษฐกิจรับรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ ผู้ว่าฯพะเยาเน้นให้นำองค์ความรู้ไปปรับปรุงผังเมืองให้สอดคล้อง รฟท.เผยควรออกแบบให้แสดงออกถึงมิติใหม่ไม่อิงของเก่าพร้อมรับความเจริญของการขยายเมืองควบคู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจ สนข.หนุนทุกฝ่ายเกี่ยวข้องเร่งยกระดับความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอีก 3-5 ปีนี้โดยเฉพาะกระแสไทย-จีน
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการระดมความคิดเห็นการรองรับระบบโลจิสติกส์ รถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พะเยาได้อะไร ที่จัดโดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา โดยสาระสำคัญตอนหนึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า วันนี้นับเป็นโอกาสของพี่น้องชาวพะเยาที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ประการสำคัญจ.พะเยาจะมีส่วนได้-เสียกับโครงการดังกล่าว จึงเป็นความท้าทายว่าเราจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประสิทธิภาพให้ประโยชน์อย่างไรหรือไม่ซึ่งการมีส่วนร่วมนำเสนอความเห็นจะเป็นส่วนสำคัญต่อการนำไปพัฒนาโครงการจึงอยากให้ทุกคนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจะต้องดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล
“ดังนั้นต่อนี้ไปก็จะต้องนำผลของการสัมมนาหรือองค์ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรและข้อคิดเห็นต่างๆไปปรับปรุงการพัฒนาให้ดีขึ้นนำไปสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน หากมีข้อสงสัยไม่เข้า ให้ถามวิทยากรเพราะท่านเสียสละมารับฟังและแสดงความเห็นกันพร้อมให้ความรู้ในวันนี้จึงน่าจะตอบคำถามได้ทุกประเด็น ผมเชื่อมั่นว่าภายหลังเสร็จการสัมมนาจะได้รับข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงด้านต่างๆให้ดีขึ้นต่อไป”
นายถกนธ์ ข่ายสุวรรณ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา กล่าวว่าตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้เร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสายใหม่ เด่นชัย-เชียงของ เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ เพื่อช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งพื้นที่จ.พะเยาจำนวน 6 สถานีคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2571 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจ.พะเยาคำนึงถึงความสำคัญของโครงการที่สามารถส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เศรษฐกิจการค้า การลงทุน พร้อมตระหนักเรื่องการวางแผนความพร้อมเพื่อให้เห็นถึงการจัดทำข้อมูลกฎหมายด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองจึงเปิดรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนขึ้นในวันนี้ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบใช้ในการปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับความเจริญของการพัฒนาโครงการดังกล่าว
นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรกำกับการ กองควบคุมงานวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กล่าวในการขึ้นเวทีครั้งนี้ว่า ในคราวการจัดประชุมที่จ.แพร่ พบว่าจ.พะเยาได้ส่งทีมงานเข้าไปสังเกตการณ์ ครั้งนี้จึงมาจัดขึ้นที่จ.พะเยา โดยยผ.พะเยาเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดสัมมนา
ในครั้งนี้ได้กล่าวถึงบทบาทแต่ละสถานี เวนคืน ที่ขณะนี้คืบหน้าด้วยดี ที่ดินจังหวัดให้ความร่วมมืออย่างดีราว 1,800 รายพึงพอใจ อีกทั้งยังได้ร่วมหารือกับกลุ่มช.การช่างที่ได้รับดำเนินการงานก่อสร้างในเส้นทางนี้ก็เตรียมความพร้อมไว้เต็มที่แล้วพร้อมร่วมประสานหน่วยงานต่างๆคู่ขนานกันไปด้วยในการเร่งเข้าพื้นที่ ดังนั้นยังเชื่อว่า 5-6 สถานีในพื้นที่พะเยาคงจะสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย
“จุดใกล้ม.พะเยาที่ใกล้กับสนามบินพะเยาซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งผลักดัน และสถานีเมืองพะเยาดูจะโดดเด่นกว่าสถานีอื่นๆ อีกทั้งยังมีลานกองเก็บสินค้าคอนเทนเนอร์ยาร์ดเพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ก็มีตั้งอยู่ในพื้นที่พะเยา จุดเด่นเหล่านี้จึงสามารถจุดพลุทางเศรษฐกิจให้กับจ.พะเยาได้อย่างมาก”
สอดคล้องกับดร.จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ได้นำเสนอให้เห็นนโยบายกระทรวงคมนาคมว่าทำไมถึงต้องพัฒนาระบบรางในเส้นทางรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของนี้ ว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณการลงทุนที่สูง อัตราการสูญเสียอุบัติเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการขนส่งร่วมกับใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในแต่ละพื้นที่ จึงเร่งพัฒนาระบบรางขึ้นมาให้สามารถเชื่อมโยงได้หลายพื้นที่มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีเส้นทางรถไฟไปถึง จากปัจจุบันรฟท.ก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้งเฟส 1 เฟส 2 แล้วหลายเส้นทาง ล่าสุดสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 สายใหม่ คือเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ได้สำเร็จ
เร่งเปิดพื้นที่ใหม่โซนภาคเหนือ
ดร.จิรโรจน์ กล่าวอีกว่าเน้นโฟกัสที่ว่าทำไมถึงต้องมาเร่งพัฒนาเส้นทางเด่นชัย-เชียงของ ว่าจะมีประโยชน์ต่อพื้นที่อย่างไร ให้สามารถเชื่อมประตูการค้าชายแดนที่อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นการเปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ในโซนพื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้นแต่ละจังหวัดที่แนวเส้นทางผ่านจะมองโพซิชั่นของแต่ละจังหวัดว่าเมื่อเกิดโครงข่ายรถไฟเข้าไปในพื้นที่แล้วจะสร้างประโยชน์ให้กับจังหวัดนั้นๆได้อย่างไร
ปัจจุบันโซนภาคเหนือส่วนใหญ่ยังมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปิดให้บริการ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการพัฒนาได้อีกมากมาย อาทิ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า จะสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้อย่างไรต่อไป จะพัฒนารูปแบบของการท่องเที่ยวอย่างไรที่จะสนับสนุนให้มาเที่ยวเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น
ทั้งนี้เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ได้มีความเห็นให้คำนึงการพัฒนาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์พื้นที่ ซึ่ง 3-4 สถานีในเขตพะเยาน่าจะสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ อีกทั้งยังจะมีการพัฒนาสนามบินพะเยาในอนาคตอันใกล้นี้ตามมาอีกด้วย นอกจากนั้นยังเชื่อว่าสถานีเมืองพะเยาจะมีส่วนในการขยายความเจริญของเมืองออกไปสู่โซนตะวันออกในอนาคตอันใกล้ ณ วันนี้หน่วยเกี่ยวข้องจึงต้องวางแผนการเดินทางเชื่อมต่อทั้งระบบถนน รถโดยสาร รถบรรทุกให้เข้าถึงบริการรถไฟทางคู่เอาไว้ได้แล้ว
นอกจากนั้นพะเยายังมีคอนเทนเนอร์ยาร์ดซึ่งเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายตู้ขนส่งสินค้าขนาดใหญ่รองรับเอาไว้ด้วยจึงน่าจะมีส่วนขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์และลดการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในเส้นทางยาวเช่นในปัจจุบันลงไปได้อีกมาก
โดยตนได้ฉายภาพให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของจังหวัดที่มีอยู่จะยกระดับการพัฒนาให้สามารถเป็นสินค้าที่เข้ามาใช้บริการภาคการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟได้อย่างไร เช่นเดียวกับภาคบริการด้านต่างๆ ตลอดจนภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก จังหวัดสนใจจะโปรโมทด้านใดให้เกิดประโยชน์กับทางจังหวัดได้สูงสุดภายใต้ข้อจำกัดและข้อเด่นจากวัตถุดิบที่มีอยู่ อาจพัฒนาเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเกษตรแปรรูป ดังนั้นทุกภาคส่วนบองจังหวัดจึงควรวางแผนหรือเขียนโครงการนำไปขับเคลื่อนให้สอดคล้องต่อไป
ม.พะเยาใช้งบ 30 ล้านจัดทำแผนปฏิบัติโลจิสติกส์สนับสนุน
ผศ.ดร.ดำรงค์ อมรเดชาพล กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยียานยนต์และขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวเสริมว่า สนข.ได้ฉายภาพโครงการว่ารถไฟทางคู่มีความสำคัญอย่างไร โดยไม่ได้มีความเจริญเพียงรถไฟเท่านั้นยังมีถนนเลียบทางรถไฟควบคู่กันไปด้วย โครงการยังเชื่อมโยงไปสู่ภาคอื่นๆได้หลายแนวทาง เช่น พื้นที่อีอีซี เป็นต้น
“สนามบินพะเยา และสนามบินแม่ฟ้าหลวงที่เชียงรายจะต้องเชื่อมโยงได้อย่าง
สะดวกขึ้น บางสถานีขอให้มีการปรับรูปแบบเพิ่มเติม รถไฟเส้นทางนี้เน้นขนของมากกว่าขนคนจึงยังไม่จำเป็นพัฒนาให้เป็นรถไฟความเร็วสูงในวันนี้ ล่าสุดมหาวิทยาลัยพะเยาได้งบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนในการซัพพอร์ตโครงการจึงเร่งทำแผนปฏิบัติเตรียมความพร้อมด้านโลจิสติกส์ให้สำเร็จโดยเร็วต่อไป”