พม.แถลงโต้ปมผลงาน “จุติ ไกรฤกษ์” ไม่เข้าตา
ปลัดกระทรวงพม. นำทีมตั้งโต๊ะแถลงผลงาน 2 ปี ภายใต้การนำของ รมว.พม. “จุติ ไกรฤกษ์” ยันเดินหน้าพร้อมขับเคลื่อนงานด้านสังคมร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
วันนี้ (17 ก.ย. 64) เวลา 15.30 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานแถลงผลงาน 2 ปี ของกระทรวง พม. ภายใต้การนำของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัด พม. ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. และนางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมแถลงข่าว ผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ผ่าน เพจ Facebook พม. (SocialMsociety) ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม.
นางพัชรี กล่าวว่า จากกรณีเครือข่ายองค์กรชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคมทั่วประเทศได้มีแถลงการณ์ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระทรวง พม. จึงจำเป็นต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เนื่องจากในแถลงการณ์ดังกล่าวมีหลายข้อที่ไม่เป็นความจริงและเป็นข้อมูลบิดเบือนความเป็นจริง อาทิ
1. ทัศนคติเชิงลบต่อองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และงานด้านสวัสดิการชุมชน ซึ่งเห็นได้จากท่าทีการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงรายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน อันเป็นกฎหมายที่มีเจตนาควบคุม ปิดกั้นและจำกัดสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มขององค์กรภาคสังคม นั้น
ข้อเท็จจริงคือพระราชบัญญัติดังกล่าว มีการเสนอโดย 2 กระทรวง ไม่ใช่กระทรวง พม. เพียงกระทรวงเดียวซึ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว เราไม่ได้ปิดกั้นประชาชนเลย จึงอยากจะทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและภาคองค์กร กระทรวง พม. ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและยังคงรับฟังประชาชน
2. ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกลุ่มเปราะบางทางสังคม อันสะท้อนได้จากการลดงบประมาณส่วนนี้ลง ทั้งนี้ การจัดทำแผนงบประมาณประจำปีของกระทรวง พม. ครั้งล่าสุด นั้น
ขอชี้แจงว่า กระทรวง พม. ได้เสนอของบประมาณประจำปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ ผ่านความเห็นชอบกรรมาธิการและวุฒิสภา ซึ่งมีการปรับลดงบประมาณลงในส่วนของงบการฝึกอบรม งบลงทุนการก่อสร้าง งบประมาณจ้างเหมาบริการ ซึ่งงบประมาณเหล่านี้ ไม่ได้กระทบถึงภาคประชาชน ในขณะที่งบประมาณที่ถึงภาคประชาชนไม่ได้ถูกปรับลดแต่อย่างใด เราได้รับงบเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ และเงินค่าจัดการศพผู้สูงอายุ
3. การแทรกแซงหรือส่อเจตนาที่จะเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดการแต่งตั้งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชนในกำกับของกระทรวง พม. ทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชนทั้งประเทศ เพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี นั้น พอช. และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. โดย รมว.พม. ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงานแต่อย่างใด อาทิ บอร์ด พอช. ยังคงเป็นชุดเดิม
ทั้งนี้ นางสาวพรรณทิพย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าเรื่องบุคลากรและงบประมาณ ทาง รมว.พม. ไม่เคยเข้าแทรกแซง สำหรับงบประมาณ พอช. ในการแก้ไขปัญหาชุมชนได้ลงสู่ชุมชนโดยตรง ทั้งโครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท สวัสดิการชุมชน ตลอดจนสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายยังเป็นหน้าที่ของบอร์ด พอช. และเมื่อเร็วๆ นี้ จะมีการสรรหาผู้อำนวยการ พอช.คนใหม่ ซึ่ง รมว.พม. ได้กำชับให้ดำเนินการตามกฎหมาย
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการช่วยเหลือประชาชน รมว.พม. ได้กำชับเจ้าหน้าที่เสมอว่า ประชาชนคือคนในครอบครัวต้องเข้าช่วยเหลือในระยะเวลาที่รวดเร็ว ประชาชนเดือดร้อนก็ให้ช่วยเสมือนญาติพี่น้อง จึงมีข้อสั่งการว่าให้กระทรวง พม. นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเร่งด่วนภายใน 3 ชั่วโมง
นอกจากนี้ มีข้อหนึ่งในแถลงการณ์ฯ ที่บอกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 กระทรวง พม.และ รมว.พม.ไม่ได้ดูแลประชาชนเลย ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ซึ่งในช่วงโควิด-19 กระทรวง พม.ไม่เคยไม่ลงพื้นที่ ในความเป็นจริงกระทรวง พม.ถือเป็นกระทรวงหนึ่งที่ผู้บริหารลงพื้นที่ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก เช่นโครงการเรา มีเรา ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน พม.จะตามไปช่วย ฯลฯ
นอกจากนี้กระทรวง พม. มีผลงานมากมายเด่นชัดในรอบ 2 ปีที่ผ่าน โดยการนำของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน เราดูแลประชาชนในทุกมิติ ตลอดช่วงระยะเวลา ซึ่ง รมว.พม.ให้ความสำคัญกับภาคประชาชน และกระทรวง พม.ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ หากอะไรที่กระทรวง พม.ทำไปแล้วไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่ เราพร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือเท่าเทียมกันโดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นขอความร่วมมือภาคประชาชน หากไม่เข้าใจการทำงานอะไร เรายินดีจะรับฟัง และพร้อมปรับเปลี่ยน เพื่อเดินไปด้วยกัน
นางพัชรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของกระทรวง พม. ตลอดระยะเวลา 2 ปี ภายใต้การบริหารงานของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่ประสบปัญหาทางสังคมและได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโควิด-19 รวมจำนวน 9,166,079 ราย มีการจัดงบเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 เดือน รวมจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท รวมทั้งการจัดโครงการ “พม. Mobile ปันสุข สู่ชุมชน” มอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค ให้ชุมชนที่เดือดร้อน และโครงการ “ตู้ พม.ปันสุข” แบ่งปันอาหารให้กับผู้ที่ต้องการ และช่วยเหลือ “กลุ่มเปราะบาง” ให้เข้าถึงสิทธิเราชนะมากกว่า 200,000 คน
นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้ดำเนินการช่วยเหลือครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ 1. ด้านการช่วยเหลือเด็ก ได้มอบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2,304,347 ราย จำนวน 1,447,962,000 บาท ต่อปี และมีการจัดกิจกรรมสภาเด็กและเยาวชน ทั่วประเทศมากกว่า 2,614 กิจกรรม ตลอดจนการพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนให้ได้มาตรฐานจำนวน 1,361 แห่ง พร้อมหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กมากกว่า 5,300 คน 2. ด้านสตรีและครอบครัว ด้วยจำนวนแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีสูงถึง 52,118 ราย และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 374,628 ครอบครัว กระทรวง พม. จึงจัดให้มีศูนย์แม่เลี้ยงเดี่ยวรวม 9 แห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดฝึกอาชีพไปแล้วกว่า 1,000 ราย โดยมีการอบรมอาชีพทั้งแบบปกติ และออนไลน์รวม 25,237 ราย
นอกจากนี้ มีการทำ Butler-go-inter ไปแล้ว 16 คน ซึ่งสร้างรายได้ให้คนละมากกว่า 30,000 บาท/เดือน อีกทั้ง ยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว โดยจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน” รวม 878 แห่ง โดยพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนครอบครัว ครอบครัวมือใหม่ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว และเปิดคลินิกครอบครัว พร้อมจัดเสริมอาชีพช่างผมอุ่นใจรวม 1,000 ร้าน ตลอดจนจัดทำสมุดพกครอบครัว กับครัวเรือนเปราะบาง 20,000 กว่าครอบครัว
3.ด้านผู้สูงอายุ ได้มีการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ 2,164 แห่ง โดยมีผู้เข้าร่วม 128,247 คน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับร้านคาเฟ่อเมซอน เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน พร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุน โดยสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพให้กับผู้สูงอายุรวม 24,056 คน
4. ด้านที่อยู่อาศัย ได้สร้างบ้านเคหะสุขประชาจำนวน 572 หลัง ซึ่งเป็นบ้านพร้อมอาชีพ โดยมีโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 572 หลัง และโครงการบ้านมั่นคง ที่ได้ซ่อมบ้านไปแล้ว 15,994 หลัง และมีการสร้างบ้านพอเพียงชนบท 22,276 หลัง ตลอดจนซ่อมแซมบ้านให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ 9,657 หลัง
5. ด้านคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีคนพิการมากกว่า 2 ล้านคน ได้เพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,000 บาท/เดือน รวมเป็นเงิน 24,000 ล้านบาท/ปี และได้เพิ่มการจ้างงานคนพิการ 70,000 คน โดยมีผู้ดูแลคนพิการ 1,400 คน และผู้ดูแลเด็กออทิสติก 10,000 คน
และ 6. ด้านคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ทำการขอทาน มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ จำนวนทั้งสิ้น 185,973 คน 7. ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ และสมาชิกนิคมสร้างตนเอง มีการส่งเสริมอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาชนเผ่ารวม 55,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้เงินกู้ให้แก่คนพิการ และผู้สูงอายุรวม 147,402 ราย และมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ที่เป็นพลังสำคัญในการช่วยทำงาน เกือบ 2 แสนคนทั่วประเทศ และในปี 2564 ตั้งเป้าทำให้ถึง 300,000 คนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวง พม. ยังได้บูรณาการ 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ทำงานในชื่อ “ทีมประเทศไทย” ดำเนินโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน