บพท.หนุน มทร.อีสาน เร่งแพลตฟอร์มบริหารขยะอัจฉริยะ

บพท.หนุน มทร.อีสานเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการด้านขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) พร้อมโชว์ต้นแบบในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนหารือร่วม DEPA หวังต่อยอดโครงการ ลุ้น บพท.เคาะความชัดเจนเรื่องลิขสิทธิ์ผลงาน ด้านหัวหน้าโครงการวิจัยย้ำ!!วัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้งานวิจัยเป็นผลงานชาวโคราช

ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ หัวหน้าโครงการการพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ : กรณีศึกษาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะด้านขยะเหลือศูนย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนดำเนินการระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ Smart City โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

โดยโครงการวิจัยดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1) กลไกระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มี ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ รับผิดชอบโครงการ 2) ระบบขยะเหลือศูนย์สู่ความเป็นเมืองโคราชอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม มี ดร.ฉัตร พยุงวิวัฒนกูล รับผิดชอบโครงการ และ 3) การจัดทําแผนพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม และประเมินผลการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในเมืองโคราช มี ดร.ศิริพันธ์ ติยะวงศ์สุวรรณ รับผิดชอบโครงการ

เร่งปรับระบบกลไกการใช้งาน

ทั้งนี้ตามแผนดำเนินการจะพบว่าแอพพิเคชั่นเชื่อมกับศูนย์กลางแล้วเสร็จเรียบร้อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำกลไกไปติดที่ตัวถังขยะ โดยจะเร่งหารือคณะทำงานแก้ไขจุดนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว หากออกแบบแล้วยากในการติดตั้งก็ควรจะปรับการออกแบบให้ง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น เนื่องจากระยะเวลาที่จะส่งมอบงานวิจัยเหลืออีก 2 เดือนเท่านั้น ประการแรกหลังสงกรานต์นี้ไปแล้วน่าจะเห็นตัวฟังก์ชั่นชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยโครงการแรกนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำกลไกไปติดตั้งกับถังขยะให้สำเร็จเท่านั้น คาดว่าช่วงหลังสงกรานต์ปี 2564 ไปแล้วจะสำเร็จ พร้อมกับจัดทำแผนของโครงการที่ 3 ทั้งนี้อยากจะทดลองอีกสัก 2-3 เดือนเพื่อให้ได้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงๆ ดังนั้นแนวโน้มการทำร่างแผนโคราชขยะเหลือศูนย์สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะให้สำเร็จก่อนส่งมอบงานจึงมีความเป็นไปได้ แม้ไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่ยังสามารถต่อยอดโครงการต่อไปได้อีก

“ต้องการให้ทุกฝ่ายเห็นว่าโครงการ 1 และ 2 นี้เห็นผลจริงแม้ว่าข้อมูลแสดงพฤติกรรมผู้ใช้งานจะมีไม่มากนักก็ตาม ยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบงานได้ตามเป้าหมายเนื่องจากโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับความสนใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายหน่วยงานต้องการจะนำไปใช้งานด้านการบริหารจัดการขยะในพื้นที่นั้นๆ”

จ่อหารือ DEPA ต่อยอดงานวิจัย

สำหรับแผนการผลักดันระยะต่อไปนั้นจะได้ร่วมหารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อยกระดับโครงการให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้น ดังนั้นหากลงลึกข้อมูลเชิงพื้นที่แล้วสามารถพัฒนาในระดับหนึ่งจะสามารถคาดการณ์ไปในอนาคตได้ว่าจะให้เห็นว่าภายในเมืองนครราชสีมาจะวางได้ทั้งหมดกี่เครื่อง กี่จุด ลงทุนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ โดยนำร่องทดลองใช้ใน 5 พื้นที่ คือ ศาลากลางจังหวัด สถาบันอุดมศึกษา ก่อนที่จะรุกหมู่บ้านจัดสรรต่อเนื่องกันไป คือแยกไปหน่วยอุดมศึกษา 2 แห่ง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา) ภาครัฐ 1 แห่งที่เป็นต้นแบบ (ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา) และหมู่บ้านจัดสรรที่เป็นเอกชน ให้ครบ 5 พื้นที่ดำเนินการ

โดยตัวชี้วัดสำคัญในเบื้องต้นน่าจะทำให้ตัวชี้วัดปริมาณขยะลดลงได้จริง 5-10% จากการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจได้อีกหลากหลาย อาทิ ธุรกิจการขนส่งและรับซื้อขยะรีไซเคิล ธุรกิจการแปรรูปขยะรีไซเคิล ในขณะที่สามารถรวบรวมขยะรีไซเคิลปริมาณที่เพียงพอ อาจจะสามารถนำไปสู่การสร้างต้นแบบโรงงานผลิตพลังงานจากขยะรีไซเคิล จนกลายเป็นระบบพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติต่อไป

เตรียมใช้งาน 11 โรงเรียนเขตเทศบาล

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมประสานกับนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนคราชสีมา และโรงเรียนต่างๆในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมาจำนวน 11 แห่งหากติดตั้งครบทุกแห่งจะได้ปริมาณขยะมหาศาล ให้เกิดระบบเงินหมุนเวียนเป็นรายได้ระหว่างองค์กรชุมชนต่างๆ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชาวเมือง ซึ่งจะมีพาร์ทเนอร์ อาทิ สมาคม หอการค้า ฯลฯ เข้ามาร่วมผลักดันเรื่องนี้

ทั้งนี้ตามคอนเซ็ปต์แล้วไม่ได้มองไปในเรื่องสัมปทานจัดเก็บและบริหารจัดการขยะจึงเรียกว่ากลไก แต่จะเน้นมองในเรื่องประโยชน์ของขยะว่าจะกลับคืนสู่ชุมชนนั้นๆได้อย่างไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น เป็นสิ่งต่างๆที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้ และมาตรการต่าง ๆ จากการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและชุมชนเป็นสำคัญ โดยจะมีสถาบันการอุดมศึกษาและภาครัฐคอยมีบทบาทสนับสนุนเชิงกระบวนการ

สำหรับการร่วมดำเนินการกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมาที่มีผู้ประกอบการราว 30 โครงการนั้นคงต้องรอให้โปรเจคนี้ส่งมอบบพท. แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อน จากนั้นจะเชิญสมาคมอสังหาริมทรัพย์ หอการค้าและสภาอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมขับเคลื่อนต่อไป

“เคยได้ร่วมหารือกับคุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย มาแล้วว่าโครงการนี้ลงทุนเท่าไหร่ จะทำให้ขยะเหลือศูนย์ได้อย่างไร ซึ่งแนวคิดนี้สมาคมอสังหาริมทรัพย์เตรียมจะนำไปใช้ประกอบการขายบ้านว่าหากซื้อบ้านกับผู้ประกอบการในนครราชสีมาจะได้รับการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพกับโครงการ “Compost Bin” ที่เป็นอีกองค์ประกอบที่ทำงานอยู่ภายในระบบนิเวศขยะเหลือศูนย์เชื่อมโยงกับโครงการวิจัยนี้อย่างไรบ้าง”

สำหรับวิธีบริหารจัดการขยะที่ดีนั้นจะใช้กรรมวิธีทำให้อินทรีย์สารไปเป็นปุ๋ย แยกขยะเปียกก็จะได้ขยะแห้ง จะมีผู้รับช่วงโปรเจคนี้ไปดำเนินการ ดังนั้นจึงไม่สามารถพัฒนาให้สำเร็จเฉพาะกรอบของ บพท.เท่านั้นซึ่งน่าจะมีระบุเงื่อนไขข้อมูลไว้ในโครงการด้วย อีกทั้งทราบว่าสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมายังมีการลงทุนด้านนี้รองรับไว้แล้ว

ยันพร้อมโชว์ผลงานเดือนพค.เพื่อส่งมอบ

“คาดว่าการโชว์ผลงานเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการนำผลงานต้นแบบไปนำเสนอด้วย มีการนำเสนอกรอบแนวคิด (Framework) ให้ผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดนครราชสีมาทราบแล้วปรากฎว่าได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะงานวิจัยโครงการนี้แยกขยะระดับครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะป้อนเข้าสู่ระบบบริหารขยะอัจฉริยะดังกล่าว”

ดังนั้นจึงถือได้ว่าระบบดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการรูปแบบครบวงจร เป็นระบบนิเวศ เป็นกลไกอย่างหนึ่ง หากสนใจจะร่วมพัฒนาช่วงองค์ประกอบไหนก็สามารถทำได้ทันที ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้ครบองค์ประกอบ อีกทั้งยังต้องรอความชัดเจนด้านการผลิตว่าเรื่องลิขสิทธิ์จะเป็นของหน่วยงานไหน เช่น หน่วยสนับสนุนอย่าง บพท. หรือหน่วยงานออกแบบอย่างมทร.อีสาน ซึ่งมทร.อีสานมีลิขสิทธิ์รองรับไว้แล้วจึงสามารถร่วมทุนกับเอกชนได้ทันที เรื่องนี้คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมน่าจะได้ความชัดเจนจากบพท.

“อยากเห็นแนวคิดหรือองค์ความรู้ที่เป็นของชาวโคราชเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืน ไม่อยากเห็นการซื้อเครื่อง ถัง หรือโปรแกรมเข้ามาทำงานเท่านั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ บพท.เข้ามาสนับสนุนการวิจัย นอกจากนี้คณะวิจัยได้รับงบประมาณแผ่นดินเข้ามาสนับสนุนการจัดทำศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง หรือ Urban Informatics Center เพื่อเป็นศูนย์กลางกลไกด้านการรวบรวมข้อมูล ฉายภาพเชิงพื้นที่ ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเมืองโคราชเพื่อการพิจารณาเชิงนโยบาย สู่แผนงานและโครงการอย่างเป็นรูปธรรม สู่ความเป็นโคราชเมืองอัจฉริยะ ดังนั้น ณ วันนี้จึงถือว่าได้ต้นแบบโครงการนำร่องและแพลตฟอร์มบริหารจัดการขยะอัจฉริยะเรียบร้อยแล้วสำหรับเมืองโคราช พร้อมนำเสนอหน่วยงานอื่นที่สนใจได้นำไปต่อยอดการพัฒนาระบบใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เบื้องต้นมีความพยายามนำเนื้อหาโครงการวิจัยดังกล่าวไปบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรวิทยาการสารสนเทศเมือง ภายใต้การบริหารหลักสูตรของสถาบันสหสรรพศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลอีสาน เพื่อตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะให้กับเมืองโคราชและจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมทร.อีสาน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 1) งบประมาณแผ่นดิน 2564 เพื่อจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการต้นแบบศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง ให้เป็นแหล่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง (Urban Infrastructure and Platform) โดยการส่งเสริมจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี กับส่วนงานกองนโยบายและแผนของมหาวิทยาลัย และ 2) แหล่งทุนประจำปี 2563 โดยหน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท. หรือ PMU-A) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) ด้วยการส่งเสริมและให้คำปรึกษา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการประกันคุณภาพ ภายใต้โครงการ “การพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ : กรณีศึกษาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะด้านขยะเหลือศูนย์” ซึ่งมี ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ และได้ความร่วมมือจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง (Urban Informatics Center) คาดว่าจะสามารถทดลองระบบกลไกสู่ความเป็นเมืองโคราชอัจฉริยะ ได้ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และเตรียมการต่อยอดขยายผลสู่ความเป็นศูนย์กลางของระบบความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ต่อไป

นอกจากนี้จากความพร้อมดังกล่าว สถาบันระบบรางฯ เตรียมพัฒนาหลักสูตรวิทยาการสารสนเทศเมืองและระบบราง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานในอนาคตของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ทั้งด้านโลจิสติกส์และด้านดิจิทัล ภายใต้การบริหารหลักสูตรของสถาบันสหสรรพศาสตร์ มทร.อีสาน ที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระยุทธ สืบสุข เป็นคณบดี ขับเคลื่อนการบริหารเชิงบูรณาการสหวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ให้กับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของประเทศไทย