ชงอบจ.ปทุมธานี เดินหน้าเชื่อมฟีดเดอร์

บพท.สนับสนุนศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เร่งสรุปโครงการวิจัย “การบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” ทั้ง 11 ชุดโครงการย่อย พร้อมนำแพลตฟอร์มการใช้งานเสนอจังหวัดปทุมธานีเดินหน้าขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
 
รศ.ดร.ภาวีณี เอี่ยมตระกูล หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “การบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” จากศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ /Smart City” ปีงบประมาณ 2563 โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการ
 
โดยทุกโครงการปัจจุบันเข้าสู่ช่วงเร่งรวบรวมโครงการเพื่อส่งมอบงานวิจัยให้บพท. โดยหลายโครงการได้มีความคืบหน้าการพัฒนาด้วยการผลิตออกมาเป็นแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมและข้อมูลเฉพาะส่วนของทั้ง 11 โครงการย่อย และได้นำไปทดสอบเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำเสนอปิดโครงการภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ต่อบพท.
 
ทั้งนี้ในเบื้องต้นต้องการทราบว่าเมื่อนำแพลตฟอร์มไปใช้งานแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร มีข้อมูลเสริมตามมาอีกหรือไม่ อาทิ ข้อมูลด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเดินทาง ซึ่งทั้ง 11 ชุดโครงการได้เร่งดำเนินการแม้ว่าจะประสบปัญหาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างมากก็ตาม ทั้งนี้ความเป็นไปได้อยากเสนอให้ขยับระยะเวลาการส่งมอบงานวิจัยไปเป็นเดือนมิถุนายน 2564
 
เกษตรจังหวัดรับลูกใช้แพลตฟอร์มงานวิจัย
 
“ช่วงนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่กับชุมชนและจังหวัด แต่ก็เจอช่วงโควิด-19 รอบ 3 ในขณะนี้ เบื้องต้นเกษตรจังหวัดปทุมธานีรับลูกเตรียมนำงานวิจัยไปดำเนินการเพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง และส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งเน้นเจาะเชิงพื้นที่มากขึ้น”
 
สำหรับโครงการที่จะเห็นภาพชัดเจนแล้วมี 3-4 โครงการ อาทิ โครงการสมาร์ทแลนด์ยูธ (Smart Land Use) ที่สามารถทำให้จังหวัดเห็นศักยภาพของพื้นที่ต้นแบบ เชื่อมโยงได้กับแต่ละจังหวัดที่รัฐบาลจะทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความอัจฉริยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสถิติจังหวัด โยธาธิการจังหวัด ซึ่งจะเป็นการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริง

หารือจังหวัดเร่งขับเคลื่อนฟีดเดอร์

ต่อมาคือโครงการสมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility) จะนำร่องพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งได้หารือกับทางมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว ทั้งเส้นทางการเดินรถโดยสารอัจฉริยะ (Smart Bus) ป้ายหยุดรถ ระบบติดตามเส้นทางเดินทาง แอปพลิเคชั่น (UMO) ให้ข้อมูลการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ จากนั้นจะนำแพลตฟอร์มไปคุยกับทางจังหวัดต่อไป เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) ให้สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าต่างๆ ที่เชื่อมโยงมายังจังหวัดปทุมธานี
 
หารือนิคมฯ พัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
 
เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ นั่นคือตัวแก๊สเซนเซอร์ตรวจมลพิษทั้ง 12 ประเภท ได้แก่ ค่า PM 1.0 PM 2.5 PM 10 CO O3 NO2 SO2 CH2O TVOC CO2 C2H2OH จัดเป็นกล่องนวัตกรรมออกมาใช้งาน โดยล่าสุดได้ร่วมหารือกับนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี่เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของนิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากนิคมฯต่างๆ เร่งยกระดับไปสู่ความเป็นนิคมสีเขียวอัจฉริยะมากขึ้น โดยโครงการจะไปช่วยออกแบบว่ามีรูปแบบการใช้งานอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนโดยรอบเข้าไปเรียนรู้ได้
 
นอกจากนั้นยังมีบิ๊กเดต้า (Big Data) ชุดโครงการยังได้เขียนโปรแกรมข้อมูลเมืองนำไปเชื่อมโยงใช้กับทั้ง 11 โครงการให้สามารถประมวลผลหาโซลูชั่นของเมือง (Urban Solution) เพื่อแจ้งภาครัฐหรือประชาชนให้เตรียมความพร้อม อาจพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันทางธุรกิจซึ่งสามารถพัฒนาร่วมกับสมาร์ทแลนด์ยูส (Smart Land Use) ได้อีกด้วย
 
“ที่กล่าวมาคือชุดการทำงานที่น่าจะพอเห็นภาพชัดเจนและทำงานกันมาอย่างใกล้ชิด และยังเร่งติดตามชุดโครงการในส่วนที่เหลือคาดว่าจะเห็นชุดโครงการที่สามารถขับเคลื่อนเป็นแพลตฟอร์มใช้งานเพิ่มเติมได้อีกนอกเหนือจากที่นำเสนอมาข้างต้น ปัจจุบันหลายโครงการยังอยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อประมวลผลนำเสนอบพท.ในเดือนพฤษภาคมนี้ต่อไป”
 
เตรียมเสนออบจ.ปทุมฯผลักดันระบบฟีดเดอร์
 
ทั้งนี้โครงการยังมีแผนนำเสนอองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสำนักงานจังหวัดปทุมธานี ให้ขับเคลื่อนโครงการระบบฟีดเดอร์(Feeder System) เชื่อมโยงเนื่องจากจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเกิดขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งจังหวัดยังมีแผนพัฒนาระบบรถโดยสารรูปแบบบีอาร์ที ซึ่งโครงการสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้เนื่องจากได้พัฒนาแพลตฟอร์มรองรับไว้แล้ว ให้ขับเคลื่อนและติดตามระบบสมาร์ทซิสเต็มได้ทันที