เลือก “ท่องเที่ยว-วิถีชุมชน” ขับเคลื่อนเมืองลำปางสร้างสรรค์

มช. คัดเลือกแผนการพัฒนา “ลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ในมิติต่างๆ ” ผ่านการขับเคลื่อนโครงการกลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ เลือก “ท่องเที่ยว-วิถีชีวิตชุมชน” พร้อมเร่งจัดเส้นทางท่องเที่ยวเสนอรัฐให้บริการโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ยัน พ.ค.ส่งมอบองค์ความรู้ให้ บพท. พิจารณา
ดร.กรวรรณ สังขกร รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการ “กลไกการขับเคลื่อนลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยในการประชุมระดมความคิดเห็นและรายงานความคืบหน้าแผนดำเนินการต่อเนื่องจากระยะ 6 เดือนว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากทีมลำปางในหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนตลอดช่วงระยะ 10 เดือนที่ผ่านมา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน องค์กรชุมชนต่างๆ โดยหลังจากนี้จะเร่งสรุปรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนเพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้ บพท. ภายในเดือนพฤษภาคมนี้นำเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับชุดโครงการวิจัยดังกล่าวมีการดำเนินงานที่มีกระบวนการวิจัยเป็นลำดับขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย โดยช่วงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารแนวทางและเป้าหมายให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนชุมชนพบว่าได้รับความสนใจและทุกภาคส่วนให้ความร่วมมืออย่างดี ดังนั้นการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการรถม้าท่องเที่ยวในจ.ลำปางไปเมื่อช่วงก่อนนี้จึงได้แนวความคิดที่ดีมาปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องความต้องการของผู้ประกอบการต่างๆ มากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ได้จัดกิจกรรมประชุมระดมความเห็น กลไกในการขับเคลื่อนลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง เพื่อฉายภาพรวมแนวคิด เป้าหมายการพัฒนา ให้ได้กลไกในการขับเคลื่อนที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่แล้วนำไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมอบรมในหัวข้อเรื่อง การเพิ่มมูลค่าอาหารเฉพาะถิ่นของกาดกองต้าให้เป็นเมนูสร้างสรรค์และเมนูลับกาดกองต้าสู่วิถีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดขึ้นที่กาดกองต้า ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ด้วย
โดยเมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมได้คัดเลือกประเด็นด้านการพัฒนาเมืองสู่ความน่าอยู่สร้างสรรค์ ทั้งมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม มาสร้างกลไกในการขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองน่าอยู่สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยมีการพัฒนาพื้นที่นำร่องใน 3-4 พื้นที่ ก่อนขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขับเคลื่อนพื้นที่ทั้งกาดกองต้า เมืองเก่า และรถม้า ที่นำมาขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยขอบเขตพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 เทศบาลให้เห็นผลชัดเจนก่อนขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ
“ลำปางจะเดินหน้าไปได้อย่างไร มีแผนขับเคลื่อนอย่างไร วันนี้เห็นภาพชัดเจนแล้วแม้ลำปางจะมีต้นทุนทางวัฒนธรรมมากมาย แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนอีกหลายด้าน หากจะพัฒนาไปสู่เมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ โดยการต่อยอดด้านต่างๆ แนวคิดทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดทำแผนต่างๆ พร้อมรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในเมืองลำปาง และจะสามารถผลักดันให้นำแผนไปใช้ได้จริงอย่างไร ทั้งแผนของเทศบาลและแผนของจังหวัด ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการวิจัยจะเร่งสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำเสนอ บพท. ได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 ก่อนที่จะนำเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันต่อไป”
ด้าน ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ หัวหน้าโครงการแนวคิดการขับเคลื่อนลำปางสู่เมืองน่าอยู่สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน พร้อมด้วย ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์ และนายสามารถ สุวรรณรัตน์ คณะนักวิจัยได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาคส่วนต่างๆ ของลำปางในครั้งนี้ มีสาระสำคัญที่ว่า เป็นการรวบรวมความเห็นจากหลายฝ่าย ซึ่งมีมุมมองแนวคิดในมิติต่างๆ โดยเฉพาะโครงการย่อยที่ 3 การพัฒนาแผนการจัดการเมืองลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ ได้ศึกษาขีดความสามารถในการรองรับเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ไว้เสร็จแล้ว มีกรอบหรือทิศทางต่างๆ เพื่อเร่งจัดทำแผนให้ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์พร้อมบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนต่อไป
สำหรับพื้นที่ศึกษาครั้งนี้จะครอบคลุมเทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร โดยได้มีการจัดประชุมในพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง สกัดออกมาเป็นข้อคิดเห็นที่ชัดเจนแล้ว เห็นว่าลำปางจะมีปัจจัยเกื้อหนุนให้ลำปางเป็นเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์อะไรบ้าง โครงการพัฒนาที่สำคัญ กายภาพเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหา โอกาส และแนวโน้มการพัฒนาเมืองลำปางให้เป็นเมืองน่าอยู่ปัจจุบันมีการสร้างสรรค์อะไรบ้าง และถ้าจะก้าวข้ามสิ่งต่างๆ หากจะต้องพัฒนาลำปางให้เป็นเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ขึ้นอยู่กับปัจจัยมีอะไรบ้าง มีความชัดเจนอย่างไร ความต่อเนื่องนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการสร้างเครือข่ายให้มีการพัฒนาสร้างสรรค์ในพื้นที่ ตลอดจนงานอีเว้นต์หรือธุรกิจใหม่จะนำเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้เริ่มเห็นภาพในหลายๆเรื่องแล้วที่ริเริ่มขึ้นจากคนรุ่นใหม่ในลำปาง
“ได้ 3 เป้าหมายการพัฒนาเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้วจะได้กลไกทางกายภาพพบว่าลักษณะของพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีพื้นที่อนุรักษ์อัตลักษณ์ตัวตนคนลำปาง มีเส้นทางคมนาคมเข้าสู่พื้นที่อย่างสะดวก ส่วนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเริ่มเห็นธุรกิจสร้างสรรค์ขึ้นในหลายพื้นที่ มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายสามารถเชื่อมโยงสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ ส่วนด้านสังคมพบว่าประชาชนในพื้นที่มีความเข้มแข็งและสามารถเข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาเมือง เช่น ก่อตั้งบริษัทลำปางพัฒนาเมือง จำกัด”
โดยการศึกษาระยะ 6 เดือนแรก คนลำปางมองว่าการพัฒนาลำปางให้น่าอยู่สร้างสรรค์ ต้องพัฒนาภายใต้ 3 เป้าหมาย คือ
1) การให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เมืองลำปาง เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่และสร้างสรรค์ รวมทั้งก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่สีเขียวในเมือง พื้นที่ริมแม่น้ำวัง พื้นที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ พื้นที่ศิลปกรรม เป็นต้น
2) การพัฒนาเมืองต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และคุณค่าประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง โดยจะมุ่งไปที่การพัฒนาเมืองที่ยังคงบทบาทของเมืองลำปาง เนื่องจากพื้นที่ศึกษา (เทศบาลนครลำปางและเทศบาลเมืองเขลางค์นคร) เป็นแหล่งเศรษฐกิจทางเชิงวัฒนธรรมที่สําคัญของลำปาง โดยมีชุมชนเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และยังคงรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมในพื้นที่เอาไว้ มีศาสนสถานที่สําคัญกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าและงดงามที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเมืองลำปางในแต่ละยุคสมัย และยังเป็นศูนย์รวมกิจกรรมการท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยว การบริการการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ และสิ่งอํานวยความในการท่องเที่ยว เช่น รถม้า จุดเช่าจักรยาน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายและกรอบข้างต้นจะสนับสนุนการเป็นเมืองน่าอยู่ของลำปาง
และ 3) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในลำปาง มุ่งสู่การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์จะอ้างอิงตามองค์ประกอบของเมืองสร้างสรรค์ ได้แก่ การพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์และพื้นที่สร้างสรรค์ (การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การส่งเสริมและเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ และการเปิดพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างสร้างสรรค์) และการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเมือง ซึ่งจะเป็นกิจกรรมของเมืองที่บ่งบอกรูปแบบ อัตลักษณ์ ความหลากหลาย ที่มีการจัดแบบต่อเนื่องและมาจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยเป้าหมายและกรอบข้างต้นจะสนับสนุนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของลำปาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เป้าหมายสอดคล้องกับเป้าหมายในยุทธศาสตร์ของจ.ลำปางอีกด้วย
“เมื่อวิเคราะห์โดยนำเป้าหมายการพัฒนามาเทียบกับตัวชี้วัดลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ทั้ง 16 ตัวชี้วัด จะเห็นภาพชัดว่าลำปางขาดอะไรบ้างในการเป็นเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ เบื้องต้นพบว่าควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมืองต้องพัฒนาภายใต้อัตลักษณ์และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชน ส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย การสร้างระบบนิเวศน์เมืองลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ให้มีสภาพแวดล้อมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชุมชนเข้มแข็งเอื้ออาทร สะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง มีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและชุมชน”
ด้าน ดร.ขวัญนภา สุขนคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การพยายามขับเคลื่อนลำปางเมืองน่าอยู่ริเริ่มทำกันต่อเนื่องมานาน ยอมรับว่าเป็นภาพกว้างไม่สามารถทำตัวชี้วัดได้ชัดเจน หากคณะนักวิจัยสามารถทำตัวชี้วัดได้จึงเป็นสิ่งที่ดี ส่งผลให้แผนระดับจังหวัดจะมีตัวชี้วัดความชัดเจนตามไปด้วย จัดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบ การจัดทำแผนแม่บทระดับจังหวัดเริ่มมีทิศทางบ้างแล้ว มีการจัดทำแผนไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง งบจังหวัดปีละประมาณ 200 ล้านบาทจึงจะใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้นหากภาคประชาชนจัดทำแผนมาเชื่อมกับแผนภาครัฐจึงน่าจะเกิดประโยชน์ได้จริง ประการสำคัญลำปางมีรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลชุดนี้จึงน่าจะเห็นโครงการเป็นรูปธรรมได้เร็ว
“ถ้าจะทำแผนเมืองลำปางสร้างสรรค์ไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทของจังหวัด จะต้องทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีแนบไปด้วย และควรจะเข้าไปอยู่ในทีมคณะทำงานด้วย มองเศรษฐกิจที่จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะครอบคลุมด้านไหนบ้าง เริ่มอย่างไร จึงวางกรอบให้เห็นภาพชัดเจนได้ ให้เกิดการเชื่อมโยงฐานความรู้ทางสังคมได้อย่างไร”
นายกิติศักดิ์ สินวนาทรัพย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ปีต่อไปเมื่อแผนแม่บทจังหวัดลำปางชัดเจนก็จะมีตัวชี้วัดเข้าไป จะเห็นแผนการขับเคลื่อนทั้ง 6 ด้านได้อย่างชัดเจน ในมุมมองภาคการลงทุนยังเห็นว่าลำปางขาดพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซ ขาดศูนย์เทคโนโลยี -การสื่อสารยุคใหม่ระบบ AI โดยเฉพาะพื้นที่สร้างสรรค์จุดต่างๆ
“อยากเห็นศูนย์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของธุรกิจเซรามิคของจ.ลำปาง มีนักดีไซน์ชั้นนำระดับโลกและอาเซียนมาประจำที่นี่ ให้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆเป็นสินค้าป้อนสู่ตลาดด้านต่างๆไม่จำเป็นจะต้องเฉพาะเซรามิคเท่านั้น ใช้เทคโนโลยีเข้าไปร่วมพัฒนาเมืองสร้างสรรค์มากขึ้นน่าจะทำให้การพัฒนาเมืองลำปางก้าวกระโดดเร็วขึ้น เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้เพิ่มได้หลายเท่าตัว”
ด้านคุณรุ้งลาวัลย์ จันทร์ยอด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ลำปาง กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างสรรค์ด้านต้นทุนทางวัฒนธรรมของจ.ลำปาง โดยเฉพาะวงการเซรามิคน่าจะสามารถสร้างให้เป็นจุดแลนด์มาร์คของจ.ลำปางได้อีกด้วย เช่นเดียวกับบริการรถม้า สมาคมรถม้ามีความต้องการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่สามารถจอดรถม้าที่สง่างามได้อีกด้วย พร้อมบูรณาการร่วมเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปัจจุบันยังคงเห็นภาพจอดอยู่ใต้ต้นไม้ดูไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และไม่มีความสง่างาม
ด้านผู้แทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานลำปาง กล่าวว่า ช่วงนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 จึงไม่สามารถดำเนินการบางอย่างได้เต็มที่ หากพื้นที่ใดมีแนวทางการตลาดของพื้นที่ไว้แล้วททท.จะเข้าไปขับเคลื่อนให้ได้ทันที ปัจจุบันแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน
ล่าสุดรับนโยบายดึงนักท่องเที่ยวนอกเขตเข้ามาสู่พื้นที่มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่งเสริมท่องเที่ยวทางรถไฟ ขณะนี้พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่เข้ามาท่องเที่ยวในลำปางมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อเด่นอีกด้านคือ ภาคเหนือเหมาะที่จะท่องเที่ยวในวันหยุดจำนวนมากซึ่งททท.อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องนี้เสนอส่วนกลางเห็นชอบเพื่อผลักดันต่อไป อีกทั้งปีนี้เป็นปีฉลูจึงเตรียมจัดท่องเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวงเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้เกิดปีนี้ได้ชวนมาเที่ยวลำปางตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป
นายต่อศักดิ์ ประคำทอง ประธานกรรมการ บริษัท แอ็ดว้านซ์ เซรามิก ฟอร์มเมอร์จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจ.ลำปาง กล่าวว่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดลำปางไว้แล้ว ซึ่งนำเสนอคราวจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปแล้ว
“ทราบกันดีว่าลำปางเป็นเมืองผ่านมานาน ถ้าจะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวต้องดูก่อนว่ามีจุดเด่นอะไรที่จะให้นักท่องเที่ยวแวะค้างหลายวัน สามารถพักค้างได้ทั้งในเมืองและนอกเมือง เคยมีการเสนอปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยทางเข้าจังหวัด ณ จุดเกาะคา แต่เรื่องก็เงียบหายไป จนถึงขณะนี้ยังไม่มีจุดแลนด์มาร์คเซรามิคเกิดขึ้นที่ลำปาง เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้ามประเด็นนี้”