สกายวอล์คเชื่อมกว๊านพะเยา ฝันปั้นจังหวัด ”เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน”

หลังจากเผยแพร่ภาพให้ชาวพะเยาเห็นถึงความสวยงามของการออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานแขวนพื้นกระจก (Sky Walk) ข้ามกว๊านพะเยา จัดเป็นทางเดินกระจกที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะเป็น “แลนด์มาร์คใหม่” ผลักดันให้จังหวัดพะเยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป

ผู้อำนวยการมูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา และเครือข่ายสภาประชาชน พะเยา ผู้ออกแบบโครงการนี้ (นายชุมพล ลีลานนท์) ให้สัมภาษณ์กับ UCD News ว่า มูลนิธิฯ ได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานและออกแบบโครงการสกายวอล์คข้ามกว๊านพะเยา จากดำริของอดีตนายอำเภอเมืองพะเยา (นายสุวิทย์ สุริยวงค์) เพื่อต้องการก่อสร้างถนนรอบกว๊านพะเยา

“เดิมนั้นเทศบาลเมืองพะเยาขอรับการสนับสนุนการออกแบบจากมหาวิทยาลัยพะเยา (ม.พะเยา) ได้ออกแบบให้ก่อสร้างตอม่อในพื้นที่กว๊านหลายต้น เกรงจะกระทบในหลายด้าน ตนเองจึงปรับแบบใหม่เป็นสะพานแขวนแทน และเมื่อทำถนนรอบกว๊าน พบว่าจุดสุดท้ายจะไปเชื่อมต่อกับพื้นที่ตั้งของสำนักงานประมงจ.พะเยา ดังนั้นหากออกแบบเป็นสะพานแขวนก็จะไม่มีตอม่อปักลงไปในกว๊านหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆรุกล้ำไปในพื้นที่กว๊าน”

*ทำไมต้องใช้หลักการรับแรงดึงของสะพานแขวน

รูปแบบของสะพานแขวน เบื้องต้นกำหนดความยาวไว้ประมาณ 400 เมตร เนื่องจากจุดก่อสร้างสะพานพื้นที่เป็นจุดคอคอด การออกแบบดีไซน์จะต้องมีตอม่อสะพานที่สามารถรับแรงดึงสะพานแขวนนี้ โดยไม่มีสลิงดึงช่วงท้ายของตอม่อซึ่งต้องใช้พื้นที่มากและกระทบสภาพแวดล้อมด้วย ส่วนจะใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างไรหรือไม่นั้นคงต้องรอรับฟังเสียงส่วนใหญ่ให้ชัดเจนก่อน

สำหรับการใช้ประโยชน์นั้นจะกำหนดให้เพียงคนเดินเท้า ปั่นจักรยาน ส่วนรถยนต์จะยังบังคับให้ใช้สะพานคอนกรีตเช่นเดิม สะพานแขวนและสกายวอล์คจะเน้นเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ออกกำลังกาย รูปแบบสะพานกว้าง 6 เมตร โดย 3 เมตรแรกแบ่งออกเป็นเส้นทางจักรยาน และเดิน-วิ่งออกกำลังกาย แบ่ง 1 เลนเพื่อจัดสร้างสกายวอล์ครองรับนักท่องเที่ยว

โครงการนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพะเยา เบื้องต้นการขับเคลื่อนต้องให้โยธาธิการและผังเมือง จ.พะเยา ร่วมกับหลายฝ่าย อาทิ กรมประมง สิ่งแวดล้อมจังหวัด ท่องเที่ยวจ.พะเยา ฯลฯ

*แลนด์มาร์คแห่งใหม่พะเยา

ตัวสะพานแขวนได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา จุดยอดสูงสุดจะเป็นรูปปั้นนกยูง พร้อมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีไทย มีพื้นที่รองรับไว้ในส่วนนี้ประมาณ 400-500 ตร.ม. ประเด็นหลักต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เป็นแลนด์มาร์คดึงดูดนักท่องเที่ยวคู่กับกว๊านพะเยา ที่สำคัญอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์วัดกลางน้ำ

“หลายคนมองว่าพะเยาแม้จะมีบึงขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 12,000 ไร่ ติดภูเขา ติดเมือง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยว ยังเป็นเพียงเมืองผ่านไป-มาของนักท่องเที่ยวเท่านั้น จึงควรจะสร้างแรงดึงดูดใหม่ให้นักท่องเที่ยวอยู่พักได้หลายวันมากขึ้น ยังถือว่าไม่มีมูลค่าในการท่องเที่ยว ถ้าเทียบกับจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย”

หากโครงการสะพานแขวนเกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ จ.พะเยา มีแลนด์มาร์ค (Landmark) แห่งใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจึงควรกำหนดไว้ตลอดทั้งปี มีเส้นทางการท่องเที่ยวให้เลือกหลากหลาย เช่น ทางน้ำ เดินป่าภูเขา เชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตามวิถี ประวัติศาสตร์ล้านนา 900ปี มีหลักศิลาจารึก 200 กว่าหลัก ร่องรอยประวัติศาสตร์ล้านนาเกิดที่จังหวัดพะเยา ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ มาเรียนรู้อีกมากมาย


“ขอย้ำว่าโครงการนี้หลายภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถึงแม้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะช่วยผลักดันโครงการ การลงทุนโครงการนี้เฉพาะค่าก่อสร้างประมาณ 600-700 ล้านบาท (เฉพาะตัวสะพานราว 400-500 ล้านบาท) ยืนยันว่าไม่เน้นเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น เน้นผู้ลงทุนภาคเอกชน แบบร่วมลงทุนหรือ PPPs เน้นเรื่องการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ กิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยว และการแสดง แสงสีเสียง ควบคู่ไปกับการยกระดับ คุณภาพ ทำให้ ปริมาณที่พัก ร้านอาหาร การบริหารจัดการด้านต่างๆ โดยได้ร่วมหารือกับกลุ่มเอสเอ็มอีและอีกหลายภาคส่วนดีขึ้น เพื่อจะร่วมบูรณาการยกระดับทุก ๆ ด้านควบคู่กันไป สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐได้รับการปันผลประโยชน์ตามกฏหมาย เพื่อนำไปพัฒนาจังหวัดด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างยั่งยืน”

สำหรับพื้นที่สะพานแขวนอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยาราว 60 ไร่ มากพอที่จะรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆได้ ประการสำคัญโครงการนี้มี 2 พื้นที่ที่จะขออนุญาตใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่ของเทศบาลเมืองพะเยา กับพื้นที่ของประมง จ.พะเยา ซึ่งเทศบาลพร้อมร่วมสนับสนุนเนื่องจากเล็งเห็นถึงผลดีต่อการท่องเที่ยว ส่วนการบริหารจัดการคงจะต้องอาศัยมืออาชีพเข้ามาบริหารในรูปแบบร่วมทุนภาครัฐและเอกชนหรือ PPPs ก็จะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนที่จะต้องเกี่ยวข้องเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องอื่นๆ ขณะนี้โยธาธิการและผังเมือง จ.พะเยา ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่นเดียวกับเรื่องอีไอเอ เสนอความคิดเห็นไปยังหน่วยงานรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าหากเป็นโครงสร้างสะพานจะไม่เข้าข่ายจะต้องทำอีไอเอ โครงสร้างต่อม่อสะพาน จัดอยู่ในส่วนของสะพาน

*ภาครัฐหรือเอกชน ลงทุน

เนื่องจากโครงการสร้างสะพานแขวนทางเดินกระจกเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมาก จึงต้องรอบคอบในขั้นตอนดำเนินการ ไม่ต้องการให้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นแล้วไม่ยั่งยืน เกิดเป็นภาระให้เทศบาลมากกว่าจะเกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์จริงๆ

แนวทางหนึ่งคือ หากเอกชนลงทุนสะพาน ควรจะได้รับสิทธิ์พัฒนาเชิงพาณิชย์ในส่วนที่ควรจะได้ไปดำเนินการ ตลอดจนการแบ่งรายได้มาดูแลรักษาซ่อมบำรุงสะพานดังกล่าว โดยต้องนำพื้นที่มาพัฒนาปรับภูมิทัศน์ จัดกิจกรรมต่างๆ มีร้านค้าบริการ จำหน่ายสินค้าโอท็อปของจ.พะเยา เน้นอาหารเด่นๆ ของจ.พะเยาเป็นหลัก ดังนั้นต้องรับฟังความเห็นของนักลงทุนในส่วนนี้ด้วยว่ามีข้อเสนอหรือความเห็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนั้นยังจะได้กำหนดไปเลยว่าจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีปลูก หรือผลิตในจ.พะเยา ก่อนเท่านั้น เช่นผลิตภัณฑ์การเกษตร ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่างๆ ทั้งร้านอาหาร และโรงแรม จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีรายได้ ใช้แรงงานในจ.พะเยาให้มากที่สุด ยกเว้นระดับผู้บริหารที่เอกชนร่วมทุนอาจจะคัดเลือกมาเอง

หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กล่าวมา โครงการนี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดความเจริญในหลายด้านเข้ามาสู่จ.พะเยา ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด สามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3-4 พันล้านบาทหมุนเวียนต่อปี จากเดิมประมาณพันกว่าล้านบาทเท่านั้น

*ประชาชน 9 อำเภอจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

ในส่วนของงานบริหารจัดการโครงการดังกล่าว จะเป็นหน้าที่ของเทศบาลเมืองพะเยาร่วมทุนกับภาคเอกชนได้รับสิทธิ์บริหารระยะเวลาตามสัญญา 30 ปี หากครบ 30 ปีส่วนที่ได้ลงทุนไปทั้งหมดต้องยกให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมืองพะเยา ภาคเอกชนจะแปรสภาพมาเป็นผู้รับจ้างบริหารจัดการ จากผู้ร่วมลงทุนมาเป็นผู้รับจ้างต่อไปอีก 30 ปี
ดังนั้นงบประมาณที่เห็นจากการลงทุนราว 1,000 ล้านบาทของโครงการนี้จึงต้องมีการสร้างกิจกรรมหารายได้เข้ามาให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่เห็นจากการลงทุนนอกเหนือจากภาครัฐ ภาคเอกชนแล้วจะพบว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เกิดธุรกิจเกี่ยวข้องขึ้นในจ.พะเยา อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร โลจิสติกส์ ของชำร่วย โฮมสเตย์ หรือสถานบันเทิงต่างๆ

“ผู้ที่รับประโยชน์จริงๆคือพี่น้องชาวพะเยา ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวทั้ง 9 อำเภอ ซึ่งทั้ง 9 อำเภอพบว่ามีจุดขายแต่ละอำเภออย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจะชอบเที่ยวแบบไหน เที่ยวแหล่งอารยธรรม ย่ำดินแดนประวัติศาสตร์ เดินป่า ชมธรรมชาติ เล่นน้ำตก พายเรือ ล่องแพ ปั่นจักรยาน มีครบครันให้เลือกตามชอบ”

นอกจากนั้นถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ายุทธศาสตร์ 8 จังหวัดภาคเหนือ จุดจ.พะเยาจะเป็นจุดศูนย์กลางพอดี ดังนั้นในอดีตกาลจ.พะเยาจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ คอยส่งเสบียงให้กับหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพี่น้อง 3 กษัตริย์ที่มีตำนานมาช้านานครั้งในอดีต ดังนั้นจึงสามารถต่อยอดกิจกรรมต่างๆได้เลยทันที

*สถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมขับเคลื่อนหรือไม่

ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำประชาคมในโซนอำเภอเมือง และโซนแม่ต๋ำ ซึ่งคงจะเป็นช่วงหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 28 มีนาคมนี้ไปแล้ว ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่จะอยู่ใกล้โครงการสำคัญครั้งนี้มากที่สุด ส่วนหลายอำเภอได้ทำประชาคมครบทั้งหมดแล้ว ล้วนเห็นชอบให้ดำเนินการ เนื่องจากมองว่าหากจ.พะเยามีกิจกรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทุกคนเชื่อว่าจะสร้างงานสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจ.พะเยาได้อย่างแน่นอน

แผนงานหนึ่งมุ่งเร่งสร้างงานนักศึกษาให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยว มีกิจกรรมการแสดง ทำหน้าที่ไกด์นำเที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆ ร่วมงานแสงสีเสียง จัดเป็นอีกหนึ่งเวทีการเรียนรู้จากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนอีกด้วย ดังนั้นหากโครงการสกายวอล์คและสะพานแขวนเกิดขึ้นได้จริงจะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนพะเยาได้ไม่มากก็น้อย จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดพะเยา

“หลายความเห็นมีข้อสงสัยแต่หากโครงการ สิ่งไหนสามารถทำควบคู่กันไปได้ก็ดำเนินการไป แต่สำหรับสะพานแขวนโครงการนี้ท้ายที่สุดแล้วคงต้องขึ้นอยู่กับว่าพี่น้องชาวพะเยาจะร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงสำเร็จโดยเร็วแค่ไหน ทั้งนี้เพื่อรองรับความเจริญที่ขณะนี้รถไฟทางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของเปิดประมูลแล้ว ตลอดจนสนามบินจ.พะเยา ที่หลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันในขณะนี้ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่กำหนดจะเปิดให้บริการในอีก 4-5 ปีนี้ก็จะสอดคล้องทันการณ์ได้อย่างลงตัว” ผู้อำนวยการมูลนิธิน้อมเกล้าเพื่อแผ่นดิน จ.พะเยา และเครือข่ายสภาประชาชน พะเยา กล่าวในตอนท้าย