ปั้น “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่” เข้าแผนยุทธศาสตร์ จ.ปทุมธานี
บพท.ผนึก มทร.ธัญบุรี เร่งเครื่องงานวิจัยโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” จัดทำชุดข้อมูลบิ๊กดาต้ามาขับเคลื่อนชุมชนโซนเคหะชุมชนคลองหก เตรียมนำเสนอแผนเข้าบรรจุไว้ในวาระแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา หัวหน้าชุดโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวถึงการดำเนินงานว่าอยู่ในขั้นตอนขับเคลื่อนแผนต่อเนื่องระยะ 6 เดือนตามแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ภายใต้กรอบการวิจัย “เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ / Smart City” ปีงบประมาณ 2563 โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม โดยได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือนต่อหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แล้ว เพื่อที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้ครบ ตามระยะเวลาสิ้นสุดโครงการในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้
โครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” ประกอบด้วย 3 ชุดโครงการย่อย คือ โครงการย่อยที่ 1 เรื่องแนวทางการออกแบบและพัฒนาพื้นที่คลองและพื้นที่ว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม โครงการย่อยที่ 2 เรื่องการพัฒนาออกแบบที่พักอาศัยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ และโครงการย่อยที่ 3 เรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเคหะชุมชนคลองรังสิต(คลองหก)
สำหรับภาพรวมโครงการดังกล่าวจะมีการบริหารจัดการ 3 ส่วน คือ ต้นน้ำ มีการพัฒนาออกแบบพื้นที่คลองใหม่ ปลูกต้นไม้ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นเคหะรังสิต คลองหก โซนด้านหน้า นอกจากนั้นช่วงกลางน้ำยังจะมีการออกแบบที่พักอาศัยที่เหมาะสม รวมไปถึงการทำงานร่วมกับผู้สูงวัยในเคหะชุมชน เข้าไปพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาให้กลุ่มผู้สูงอายุ วัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระด้านการรักษาพยาบาล และการจัดการช่วงปลายน้ำ คือ มุ่งสร้างเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ มีแนวทางการพัฒนาตลาดใหม่ขึ้นมารองรับการผลิตสินค้าในชุมชนป้อนออกสู่ตลาดในชุมชนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
“ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น และประชาชน รวม 11 หน่วยงาน อาทิ อบต.คลองหก อบต.คลองหลวง เทศบาล โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน คณะกรรมการเคหะชุมชน เป็นต้น โดยพร้อมให้ความร่วมมือด้านพื้นที่ และบุคลากร อสม.ในพื้นที่รวมกว่า 46 คน” ผศ.ดร.วารุณี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวพร้อมเสริมว่า แผนการขับเคลื่อนระยะต่อไปจะเร่งขยายสู่ภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ด้วยการเร่งนำเสนอแผนเข้าไปบรรจุไว้ในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ของเทศบาลและจังหวัด
เร่งออกแบบพื้นที่คลองหก รังสิต
นายณัฎฐกฤษฎ์ ศุภกรพินธคุปต์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 แนวทางการออกแบบและพัฒนาพื้นที่คลองและพื้นที่ว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ปัจจุบันได้ชุดข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 4 ชุด พื้นที่ตั้งแต่ทางเข้าปากคลองหกเป็นต้นมา ได้มีการออกแบบภูมิทัศน์ ความสะดวกสบายและความกว้างถนนให้ได้มาตรฐาน ส่วนชุดที่ 2 จะออกแบบพื้นที่ว่างชุมชนเคหะคลองหก ให้ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดยพบว่าขนาดคลองกว้าง 8 เมตรพื้นที่ริมคลองตลอดแนวสองฝั่งคลองสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด รูปแบบพืชแนวตั้งที่สามารถเกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้
ในส่วนชุดข้อมูลที่ 3 พื้นที่ช่วงข้ามไปยังตลาดพรธิสาร ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการรอรถประจำทางออกแบบพื้นที่ให้เป็นลานอเนกประสงค์และป้ายจอดรถใหม่ทั้งหมด ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ ได้ร่วมหารือกับชาวบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการออกแบบ และชุดข้อมูลที่ 4 พื้นที่ในซอยลึกที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณใกล้วัดปัญญานันทาราม และใกล้ชุมชน กศน.ช่วงซอย 52 จะพัฒนาให้เป็นชุมชนเกษตรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และเสริมองค์ความรู้ด้านการเกษตร ให้เกิดเป็นพื้นที่รองรับวิสาหกิจชุมชนได้อีกด้วย
“วัตถุประสงค์ต้องการสร้างต้นแบบเคหะชุมชนชานเมือง จึงยังคงเดินหน้าบรรจุแผนการพัฒนานำเสนอให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งระบบเทศบาลและจังหวัด พร้อมกันนี้จะบูรณาการจัดทำชุดข้อมูลไว้เป็นของชุมชนในภาพรวมทั้งระบบเพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างสอดคล้องความต้องการจริงๆ ให้เป็นโจทย์วิจัยในการใช้อ้างอิงหรือนำไปใช้สังเคราะห์ใช้งานได้อย่างตรงตามเป้าหมายต่อไป”
ส่งเสริมชุมชนร่วมออกแบบที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย
ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ คณะพยาบาลศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 เรื่องการพัฒนาออกแบบที่พักอาศัยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือลดภาวะอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุภายในชุมชนที่รับผิดชอบเนื่องจากภายในชุมชนคลองหกพบว่ามีจำนวน 1,426 หลังคาเรือน และมีผู้สูงอายุมากถึง 800 คน โดยโครงการย่อยที่ 2 มีจำนวน 6 กิจกรรม ทำไปแล้ว 3 กิจกรรมในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา เป้าหมายหลักคือต้องการให้ชาวบ้านเป็นคนออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในชุมชนของตนเอง
ดังนั้นกิจกรรมแรกจึงเน้นไปที่การออกแบบที่อยู่อาศัยรูปแบบการปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุร่วมอยู่อาศัย ฝ่ายพยาบาลจะลงพื้นที่ไปทดสอบ IQ ของผู้สูงอายุที่จะทำให้ทราบถึงศักยภาพของสมองแต่ละคน หลังจากนั้นจะนำมาสู่การออกแบบปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยภายใต้ทฤษฎีการออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ฝ่ายพยาบาลจะออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เข้ากับบริบทของชุมชน พบว่าคัดมาได้ 3 กิจกรรมจาก 5 กิจกรรมที่นำเสนอเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางสมองให้กับผู้สูงวัยในชุมชน ทั้งการกรอกตา การเดินออกกำลังกาย การนำเสนอเชิงเรขาคณิตเพื่อวัด IQ โดยทีมวิจัยจะเข้าไปดำเนินการ 3 วันต่อสัปดาห์
“เป็นการบูรณาการการออกแบบบ้านมาร่วมกับกิจกรรมการพัฒนาทางสมอง หลังจากนี้จะพัฒนาแกนนำสุขภาพของชาวบ้านให้นำอุปกรณ์ที่คิดค้นร่วมกันนำไปใช้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้านของตนเองให้เกิดความยั่งยืน จึงได้เห็นผลงานนวัตกรรมและแนวทางการต่อยอดอย่างชัดเจนพร้อมกับเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วยให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง”
ยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน
ผศ.ว่าที่ร.ต.กิติศักดิ์ วิทยาโกมลเลิศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 เรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเคหะชุมชนคลองรังสิต(คลองหก) กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมพื้นฐานของเมืองธัญบุรีจะครอบคลุมในหลายมิติ ซึ่งพร้อมรองรับการพัฒนาที่นำไปสู่ความเจริญในอนาคตได้อย่างดี มหาวิทยาลัยในพื้นที่พบว่ามีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อสภาพแวดล้อมโดยรอบกำลังมุ่งสู่เมืองแห่งความเจริญ จึงต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมรองรับความเจริญไว้ตั้งแต่วันนี้ แม้จะเป็นชานเมืองที่มีความเจริญในวันนี้ก็ตาม ควรมีการเพิ่มมูลค่าสินค้ามากกว่าจะเป็นเพียงการซื้อมา ขายไปเท่านั้น จึงต้องนำรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้ดำเนินการในชุมชน
“ทุนเดิมมีอะไรบ้างที่จะสามารถนำมาพัฒนาได้ ปัจจัยหนุนเสริมทั้งภายใน ภายนอก โดยจากการลงพื้นที่พบว่าในนครรังสิต ปทุมธานี มีตลาดสดมากกว่า 25 แห่ง โดยได้คัดเลือกตลาดเคหะรังสิตมานำร่องการพัฒนา ให้เป็นพื้นที่การค้าของชุมชน ให้ค้าขายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยประเภทอาหารและโชว์ห่วยยังเป็นที่นิยมของประชาชน มีทั้งแผงขายถาวร สตรีทฟู้ดขายหน้าบ้าน รถเข็นขายภายในชุมชน โดยดูเรื่องการพัฒนาระดับย่าน จึงได้คัดเลือกร้านก๋วยเตี๋ยวมานำร่องการออกแบบร้านให้ทันสมัย สวยงามเป็นรายแรกก่อนขยายไปสู่ร้านอื่น ต่อไป”
ทั้งนี้ร้านโชว์ห่วยหรือขายของชำยังพบว่ามีอยู่จำนวนมากในพื้นที่จึงสมควรจะนำความเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าไปพัฒนาให้มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดสดมานำร่อง พร้อมกันนี้เตรียมจัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นในชุมชนภายในเดือนปลายมีนาคม-เมษายนนี้เพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
“เพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจ เข้าถึงความเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ชุมชนจับต้องได้และคนในชุมชนมีส่วนร่วมได้ เห็นตัวเลขรายรับ รายจ่ายจากการค้าขายที่จับต้องได้จริง ช่วยปลุกภาวการณ์ค้าขายให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้งสำหรับตลาดเคหะชุมชนคลองหกแห่งนี้”