บิ๊กทุนแห่ร่วมเสนอความเห็น ลงทุนพัฒนาย่านสถานีรถไฟธนบุรี

กลุ่มธนบุรีเฮ้ลท์แคร์ -เซ็นทรัล -ปตท. -ทีซีซี- ซีพีแลนด์-เดอะมอลล์-เซ็นทรัลฯ แห่ร่วมเสนอความเห็นลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีของรฟท. มูลค่ากว่า 3,500 ล้าน คาดเปิดประมูลปลายปีนี้

ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้เปิดให้ภาคเอกชนร่วมเสนอความเห็นโครงการลงทุนพัฒนาพื้นที่บ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีของรฟท. ซึ่งแบ่ง 4 โซนบนพื้นที่ 21 ไร่คาดลงทุนราว 3,500 ล้านบาทรูปแบบให้เช่าระยะยาว 30 ปี (ไม่รวมก่อสร้าง 4 ปี) ไฮไลท์!!! พื้นที่เชื่อมได้ทั้งระบบล้อ เรือ ราง มีครบทั้งโซนโรงแรม-ศูนย์การค้าระดับ 3 ดาว ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ และบ้านพักพนักงานรถไฟ ลุ้นเปิดประมูลปลายปีนี้ ก่อสร้างเสร็จใน 4 ปี

ความคืบหน้าเรื่องนี้นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจ การบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานทบทวนผลการศึกษา ปรับปรุงเอกสารการคัดเลือกเอกชนและรับฟังความเห็นภาคเอกชน(Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ว่า ได้ว่าจ้างบจก.โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ในการทบทวนผลการศึกษา และปรับปรุงเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรีโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยโครงการกําหนดให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) ภายใต้โครงการฯ ในวันที่ 19 มีนาคม 2564 นั้น

พบว่ามีกลุ่มบริษัทเอกชนแสดงความสนใจนำเสนอความเห็นกันหลายราย อาทิ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน),บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ส่วนพัฒนาเครือข่าย ,บริษัททีซีซี ภูมิพัฒน์ จำกัด ,บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ,บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป จำกัด และธุรกิจในเครือ ,บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารออมสิน ,บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยุโรป แอสซิสแทนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านสถานีธนบุรี เป็นหนึ่งในแผนงานการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ได้มีการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ไว้แล้ว แบ่งโซนการพัฒนาเป็น 4 โซน เฉพาะโซนที่สามารถพัฒนาได้เป็นอันดับแรก คือ โซน 3 ขนาดพื้นที่ประมาณ 22.43 ไร่ การลงทุนพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรีโซน 3 ประมาณการเบื้องต้นมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท การให้เอกชนลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องดําเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กําหนดในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (ณ ขณะนั้น)

โดยการรถไฟฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทํารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กําหนดในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้เริ่มดําเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 กําหนดแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562 และได้มีการจัดทํารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 และผลการศึกษาได้ผ่านมติคณะกรรมการการรถไฟฯ แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โดวิด 19 คณะกรรมการการรถไฟฯ ได้มีมติให้ทําการทบทวนการแสดงความคิดเห็นของภาคเอกชนอีกครั้งในวันนี้ก่อนเปิดทําการประมูลให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมเสนอโครงการต่อไป

“โครงการดังกล่าวคณะกรรมการรฟท.ได้เห็นชอบแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2563 แต่มีข้อกังวลว่าควรจะมีการปรับปรุงข้อมูลให้อัพเดทหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ครั้งใหญ่นี้ โดยเฉพาะความเห็นนักลงทุนขั้นตอนหลังจากนี้บริษัทที่ปรึกษาเร่งสรุปพร้อมปรับปรุงรายงานผลการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนเสนอรฟท.ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือนนี้ ส่วนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม รฟท. จะเร่งจัดทำเอกสารเชิญชวนนักลงทุน(TOR) ก่อนส่งให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดเกณฑ์ต่างๆเพื่อนำออกประกาศขายเอกสารประกวดราคาดังกล่าวในเดือนตุลาคม คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ในต้นปี 2565”

นายเอกกล่าวอีกว่าเมื่อคัดเลือกเสร็จจึงจะได้ตัวผู้ลงทุน เพื่อเสนอบอร์ดรฟท.ให้ความเห็นชอบ ช่วงปลายปีนี้หรือมกราคม 2565 ไม่ใช่การร่วมลงทุนแต่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง ตามระเบียบ รฟท. งานแรกจะได้เห็นการก่อสร้างบ้านพักรองรับพนักงานรฟท. หลังจากนั้นจะได้เห็นการพัฒนาแปลงอื่นๆต่อเนื่องกันไปโดยเฉพาะแปลง 14 ไร่ที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของผู้ลงทุน

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว กล่าวเสริมว่า ได้แสดงข้อมูลโครงการเบื้องต้น (ดูตารางประกอบ) จะเห็นภาพการพัฒนาพื้นที่โซนต่างๆ ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณบ้านพักพนักงานย่านสถานีธนบุรี เนื้อที่ของโครงการ 21 ไร่ 3 งาน มูลค่าของโครงการจากการศึกษาเบื้องต้น 3.3 พันล้านบาทให้เอกชนเช่าระยะยาว 34 ปี(รวมก่อสร้าง 4 ปี) มีทั้งสัญญาก่อสร้าง และสัญญาจัดประโยชน์ ทั้งหมด 4 โซน ดังนี้

โซนที่ 1 พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น ในส่วนของโรงแรมบัดเจดหรือ 3 ดาว จํานวน 720 ห้องสําหรับรองรับญาติผู้ป่วยพักอาศัยและศูนย์การค้าอํานวยความสะดวกภายในโครงการ สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายได้ 8,000-10,000 ต่อวัน มีจํานวนที่จอดรถ 501 คัน

โซนที่ 2 ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 1 เปิดบริการในระดับลักซ์ชัวรี่ สําหรับผู้พักฟื้น ต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดที่เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลใกล้เคียงที่ตั้งของโครงการ อาทิเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี เป็นต้น และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลที่กล่าวมาข้างต้น จํานวน 280 ห้อง รองรับจํานวนที่จอดรถ 232 คัน

โซนที่ 3 เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 2 เปิดบริการสําหรับกลุ่มแพทย์และผู้พักฟื้นต้องการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดในย่านธนบุรี จํานวน 300 ห้อง รองรับจํานวนที่จอดรถ 235 คัน โดยจากการศึกษาโครงการเบื้องต้น พื้นที่เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ท้ัง 2 ส่วนในรูปแบบ 1 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตร ส่วนรูปแบบ 2 ห้องนอน ขนาดพื้นที่ 45-50 ตารางเมตร

โซนที่ 4 บ้านพักสําหรับพนักงานการรถไฟ จํานวน 315 ห้อง รูปแบบของที่พักอาศัย 35-50 ตารางเมตรทดแทนบ้านพักแนวราบเดิม พร้อมรองรับที่จอดรถสําหรับพนักงาน 265 คัน

ไฮไลต์ของโครงการจะพบว่าสําหรับพื้นที่ในอนาคตสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า 2 สถานี 3 เส้นทางซึ่งทั้ง 2 สถานีต่างเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต ได้แก่ สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีน้ําเงิน ช่วง บางซื่อ-ท่าพระ และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ทําให้ย่านที่ตั้งของโครงการเป็นหนึ่งในทําเลทอง เชื่อมต่ออนาคตที่สําคัญของกรุงเทพมหานคร