SCG ชูเทคโนโลยีดิจิทัล สร้าง”โอกาสในวิกฤติ”

ทิศทาง“เอสซีจี” ชูนวัตกรรม-เทคโนโลยีดิจิทัล พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็น “โอกาส”
ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้ายุค New Normal
 
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก ที่สำคัญยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใด กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า “ในวิกฤต ย่อมมีโอกาส” รวมถึงความท้าทายในการผลักดันการเติบโต เอสซีจีจึงได้กำหนด “ทิศทาง” การดำเนินธุรกิจในปี 2564 ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่าน ยุค New Normal
 
“วิกฤตโควิด 19 ในไทยและทั่วโลกรุนแรงมาก แต่เราประเมินว่าสถานการณ์ตอนนี้ คล้ายว่าโลกจะผ่านจุดต่ำสุดของการระบาดไปแล้ว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ทั่วโลกมีจำนวนคนที่ฉีดวีคซีนป้องกันโควิด 19 ไปแล้ว 150 ล้านคน แซงหน้าคนที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก เดินสู่เป้าหมายในการฉีดวัคซีนในสัดส่วน 15% ของประชากรโลก”

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว เอสซีจีมุ่งเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ตอบโจทย์การพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ใน 3 ด้าน เพื่อยกระดับกระบวนการดำเนินธุรกิจและตอบโจทย์ลูกค้า ได้แก่ 1.) พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อ-ขายออนไลน์ ตอบโจทย์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 2.) พัฒนาซัพพลายเชน เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าในต้นทุนที่ต่ำที่สุด ในเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ 3.) ดิจิทัลที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพที่สุด ตรงที่สุด และจัดการด้วยต้นทุนที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเทรนด์โลกกำลังให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG หรือธุรกิจที่มีแนวทางใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental) ควบคู่กับการดูแลสังคม (Social) และมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ (Governance) ซึ่งเอสซีจีดำเนินการอยู่แล้วภายใต้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่จะนำผสานให้เป็นเนื้อเดียวกับกลยุทธ์ในแต่ละธุรกิจ (ESG Integration) ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะถูกกำหนดอยู่ในแผนการดำเนินงานของ 3 ธุรกิจหลัก โดยธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จะเพิ่มความสำคัญการพัฒนานวัตกรรมสินค้าตอบโจทย์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้บริโภค สอดคล้องกับกระแสใส่ใจสุขภาพ ผู้บริโภคทำงานที่บ้านมากขึ้นที่มีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยมากกว่าการการสร้างบ้านใหม่ ขณะเดียวกัน จะปรับรูปแบบร้านค้าไปสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ขณะที่ธุรกิจเคมิคอลส์ จะให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรมเคมีภัณฑ์รีไซเคิล สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงมุ่งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ในปี 2564 เอสซีจีได้กำหนดงบลงทุน ในสัดส่วนมากถึง 20-30% เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจในทิศทางดังกล่าว ส่วนงบอีก 15% จะเน้นไปที่การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกเหนือจากงบกว่า 60% ถูกนำไปใช้ในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามที่เป็นโครงการต่อเนื่อง” 

ภายใต้ทิศทางการดำเนินงานในยุค New Normal ธุรกิจยังคงต้องใช้ 3 แนวทาง เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต โดยต้องสังเกต-เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อนำมาเป็นทิศทางในการดำเนินธุรกิจให้ตรงใจลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายที่สำคัญคือ ต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อช่วงชิงโอกาส ซึ่งถือเป็น “หัวใจ” สำคัญในการสร้างการเติบโตระยะยาวและความยั่งยืนให้กับเอสซีจีมาอย่างต่อเนื่อง