การเคหะฯ ลุยพัฒนา 5โครงการ เตรียมตั้งบริษัทลูกดึงเอกชนร่วม

ผู้ว่าการ กคช.เปิดแผนปี’64 เตรียมขับเคลื่อน 5 โครงการรวม 45,000 หน่วย พร้อมจัดตั้งบริษัทลูก เพิ่มสปีดการพัฒนาที่อยู่อาศัย

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินงานมาครบรอบ 48 ปี พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี 2519 จนถึงเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้นจำนวน 742,975 หน่วย ประกอบด้วยโครงการบ้านเอื้ออาทร 280,567 หน่วย โครงการเคหะชุมชน 142,103 หน่วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน 27,317 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดทั้งปรับปรุงชุมชนที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัย 233,964 หน่วย โครงการพิเศษและบริการชุมชน 3,980 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,708 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย โครงการที่พักอาศัยสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 334 หน่วย และโครงการอาคารเช่า 525 หน่วย

ปี 2564 การเคหะแห่งชาติเตรียมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย 5 โครงการ รวมทั้งสิ้น 45,000 หน่วย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา และเศรษฐกิจสุขประชา จำนวน 20,000 หน่วย (ทั่วประเทศ) โครงการที่อยู่อาศัยตามแนวโครงข่ายคมนาคม มีที่ร่มเกล้ากับคลองจั่น จำนวน 15,000 หน่วย โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เกษียณอายุ “บ้านเกษียณสุข” จำนวน 5,000 หน่วย โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการจำนวน 1,000 หน่วย ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ ”คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All) “
สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2 อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 9-17 และแฟลตที่ 63-64 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 และอาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 23-32 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ระยะที่ 3 และ 4 จำนวน 13,746 หน่วย (แปลง D2, แปลง E และแปลง B) รองรับข้าราชการและประชาชนทั่วไป

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนแนวทางการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เนื่องจากคณะกรรมการ คนร.เล็งเห็นว่าการเคหะแห่งชาติไม่ควรพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ควรจะพัฒนาเฉพาะโครงการอาคารที่อยู่อาศัย และเปิดพื้นที่ส่วนนั้นให้เอกชนลงทุนโดยตรง ประกอบกับปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การไปจับจ่ายที่ศูนย์การค้าลดลง เทคโนโลยี IOT จะเข้ามามีบทบาทมาก จึงต้องมีแนวคิดจะปรับปรุงแผนพัฒนาระยะที่ 4 ใหม่”

ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติได้วางแผนจัดตั้งบริษัทลูกขึ้น ในรูปแบบบริษัทมหาชน มีทุนจดทะเบียนประมาณ 500 ล้านบาท การดำเนินงานมีความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล โดยการเคหะฯจะถือหุ้นในบริษัทลูกนี้ไม่เกิน 49% อีก 51% ของพันธมิตรที่สนใจจะมาร่วมทุน ซึ่งได้เจรจาไว้หลายแห่ง มุ่งกิจการที่สามารถเชื่อมโยงกับภารกิจของการเคหะแห่งชาติได้ ที่วางแผนไว้มีธุรกิจประเภทโลจิสติกส์ ค้าปลีก ธนาคาร และประกัน เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนาโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ ที่สำคัญทำให้การพัฒนาโครงการครบวงจร โดยเฉพาะโครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการที่อยู่อาศัยพร้อมกับสร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพและรายได้เพิ่มเติมให้กับครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการ ด้วยวิถีเกษรอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

“ดังนั้นจึงต้องการพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านโลจิสิกส์เข้ามาร่วม รวมถึงการค้าปลีก เพราะต้องการให้กระบวนการครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำคือโครงการเคหะสุขประชา พัฒนาฐานการผลิตด้านเกษตรกรรม ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มผลผลิต่อหน่วยที่สูงขึ้น กลางน้ำ คือบริษัทลูก ทำหน้าที่โลจิสติกส์ ส่งให้กับปลายน้ำ คือผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะ”

นายทวีพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2563 ได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 ทั้งด้านการเงินและด้านสังคม ด้านการเงิน 1.พักชำระค่าเช่าซื้อ 3 เดือน 2.ปลอดค่าเช่า 3 เดือน สำหรับลูกค้าอาคารเช่ารายย่อย รวมทั้งลูกค้าที่เช่าแผงตลาด และร้านค้ารายย่อย 3.ปลอดค่าเช่าสำหรับผู้เช่ารายย่อยที่ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาอาคาร 4.ลดค่าเช่า 50% และ 5.พักชำระเงินมัดจำ เงินจอง ด้านสังคม การเคหะแห่งชาติได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจถึงมาตรการป้องกันตนเองให้กับผู้อยู่อาศัย รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งโรงครัวในชุมชน จัดทำข้าวกล่องปรุงสุก พร้อมจัดหาเครื่องอุปโภค-บริโภค และของใช้จำเป็นให้กับผู้อยู่อาศัยเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของผู้อยู่อาศัย

นอกจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว การเคหะแห่งชาติยังได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เห็นชอบในหลักการให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการดังกล่าว ในวงเงิน 5,207 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2563 และปี 2564 สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จำนวน 692.80 ล้านบาท

“สำหรับการดำเนินโครงการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ร่วมทำหน้าที่บริหารการให้สินเชื่อเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ปัจจุบันได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 114 ราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยสินเชื่อ จำนวน 75.83 ล้านบาท เนื่องจากมีข้อจำกัดว่าลูกค้าต้องได้รับการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปจะพยายามเร่งปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น โดยจะเจรจากับธนาคารพาณิชย์ที่ลูกค้าไปยื่นขอสินเชื่อให้รีบพิจารณาปฏิเสธสินเชื่อเร็วขึ้น” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวในตอนท้าย