นิด้าดึงกระทรวงเกษตรฯ ลุยแผนพัฒนาบางกะปิอัจฉริยะ
นิด้าเผยความก้าวหน้าระยะ 6 เดือนศึกษาโครงการกลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาย่านบางกะปิและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พร้อมดึงกระทรวงเกษตรฯ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการกลไกสร้างสรรค์พื้นที่ย่านเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาย่านบางกะปิและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ปัจจุบันย่านบางกะปิเป็นศูนย์กลางคมนาคมล้อ ราง เรือ มีผู้คนผ่านจำนวนมาก ความหนาแน่นจะเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ น่าอยู่ พร้อมกับสร้างกลไกองค์ความรู้ พัฒนาบุคคลเตรียมพร้อมในการเข้ามาขับเคลื่อน โดยกำหนดแผนการลงทุน 4 ฝ่ายในการวางรากฐานข้อมูลสู่เมืองอัจฉริยะบางกะปิ
โดยมีการกำหนดกรอบแนวคิด การวิเคราะห์ การฉายภาพอนาคต การสำรวจความคิดเห็น การออกแบบดีไซน์ การปรับปรุงก่อสร้าง โครงการต่างๆที่มีแผนพัฒนาในพื้นที่บางกะปิ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มีการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงการออกแบบ ใช้จุดแข็งบางกะปิเข้ามาขับเคลื่อนโดยมีพื้นที่นำร่องรัศมีใช้จักรยาน การเดินเท้า ไม่เกิน 4 ตร.กม.
พร้อมกันนี้ได้มีแนวทางการวางผัง นิยามการจัดการ ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม
โดยช่วงที่ผ่านมานิด้าร่วมขับเคลื่อนกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ล่าสุดวันนี้ได้เชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการโดยความร่วมมือผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน)
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักในปี 2563 ที่ผ่านมาใช้ 4 โมเดลในการขับเคลื่อนจึงเกิดความคืบหน้าระยะ 6 เดือนดังนี้คือ เกิดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมือง และองค์ความรู้ด้านการวางผังเมือง
ทั้งนี้ด้านการวิเคราะห์จุดแข็งบางกะปิจะพบว่ามีพื้นที่ใช้ที่ดินหลากหลาย มีโอกาสเป็นศูนย์กลางกลางคมนาคมขนาดใหญ่ระดับโซนพื้นที่ มีห้างค้าปลีกในระยะ 1 ตร.กม. เกาะกลุ่มกันอยู่ แต่จุดอ่อนพบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ทางเดินเท้ายังแคบ จึงจะใช้สกายวอร์คแก้ปัญหาแทน ข้อดีคือสามารถเปิดพื้นที่ชั้นสองให้เกิดประโยชน์มากขึ้น แล้วยังช่วยแก้ปัญหาช่วงน้ำท่วมได้อีกด้วย
นอกจากนั้นพบว่ามีผู้ค้าในกลุ่ม CLMV เข้ามาเป็นเจ้าของแทนคนไทยมากขึ้น อีกทั้งบางกะปิยังถือว่าเป็นแหล่งกระจุกตัวของแฟชั่น การตัดเย็บ แหล่งประชากรชาวมุสลิม และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ปัจจุบันพบว่าราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตารางวาละ 3 แสนบาท ส่วนอุปสรรคทางเดินริมคลองต่างๆโดยเฉพาะริมคลองแสนแสบที่เป็นคลองหลักผ่านในพื้นที่พบปัญหาสำคัญหลากหลาย
ประการสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้บางกะปิยังจะเป็นจุดเชื่อมโยงรถไฟฟ้า 3 สาย
คือ สายสีเหลือง สีส้ม และสายน้ำตาลจึงเป็นโจทย์สำคัญว่าจะให้เชื่อมต่อพื้นที่ได้อย่างไร อีกทั้งยังมีป้ายรถเมล์ 12 ป้าย ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงควรเร่งส่งเสริมให้การเดินเท้าเชื่อมต่ออย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว ปลอดภัย โดยกทม.ได้สั่งการให้สำนักการโยธาเร่งศึกษาปรับปรุงทางเดินริมคลอง เชื่อมกับสกายวอร์ครถไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน นักเรียน นักศึกษา เนื่องจากบางกะปิพบว่ามีสถาบันการศึกษาของรัฐ-เอกชนกว่า 50 แห่ง มากกว่าบางจังหวัด มีประชากร 1.5 แสนคน มีวัด 7 แห่ง โบสถ์คริสต์และมุสลิมจำนวนมาก
ด้านรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กล่าวว่าข้อมูลการศึกษาควรเผยแพร่ได้ และควรมีแผนการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในอนาคต มีแนวทางของแผนพัฒนาต่างๆ มีผังเฉพาะ ลงรายละเอียดเชิงลึกในผลปฏิบัติ โดยเฉพาะกรณีโครงการขนาดใหญ่จะมีผลอย่างไรบ้าง เตรียมความพร้อมส่งมอบให้งานโยธาในอนาคตอย่างไรต่อไป นอกจากนั้นเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไร ตลอดจนปัญหารถติด จุดจอดรถต่างๆ ปัญหาการทำงานร่วมกับผู้ว่ากทม. คนต่อไป
ด้านคุณสมสุข บุญญะบัญชา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) พอช. ให้ความเห็นว่า ต้องรับฟังวิธีคิดใหม่ของคนในพื้นที่ และคนเหล่านั้นจะเข้ามาร่วมได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆ ถือว่ากลไกในครั้งนี้เป็นโครงการที่สำคัญเป็น CBD เขตบางกะปิที่จะส่งผลดีต่อการค้าขาย แต่ก็จะโอกาสสร้างปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นจะจัดการขนาดของประชากรจำนวนมากในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ควรมองเป็นโอกาสทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ดังนั้นจึงควรสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ควรจะให้คำตอบอย่างสร้างสรรค์
เกิดแพลตฟอร์มมีส่วนร่วม บูรณาการจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมจากไหนบ้าง กลุ่มต่างๆจะพัฒนาด้วยโครงสร้างอะไร พัฒนาแพลตฟอร์มประชาคมในเขต ตลอดจนหารือกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างจากชุมชนต่างๆให้ร่วมคิดร่วมทำด้วยกันให้เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง
“แนะดึงกทม.เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้เพื่อร่วมคิดร่วมทำด้วยกัน พร้อมกับดึงเขตรอบๆ เข้ามาร่วม ดังนั้นจึงต้องสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้สูงอายุมาออกแบบว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ควรมองจากชุมชนขึ้นมาว่าจะดูแลผู้สูงอายุไว้อย่างไร พัฒนานำร่องก่อนสัก 1-2 โครงการ”
ด้านรศ.ดร.ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าทางเดิน และไบค์เลนก่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางที่ดี อย่ามองข้ามกลุ่มผู้สูงอายุ ควรพัฒนาให้สมาร์ทมากขึ้น ประการสำคัญบางกะปิเป็นแหล่งเรียนรู้ เปิดพื้นที่รองรับคนทุกกลุ่มได้เข้ามาใช้พื้นที่ ช่วงรามคำแหงหนาแน่นผู้คนจะหันมาพักผ่อนในโซนบางกะปิมากขึ้น ดังนั้นโจทย์หลักอีกหนึ่งข้อคือจะดึงคนจากรามคำแหงมาอยู่ในบางกะปิได้อย่างไร แนวทางหนึ่งคือใช้รถไฟฟ้า นั่นเอง
“เรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ปลอดภัย ความอัจฉริยะ ยังต้องเร่งดำเนินการ แนะขยายย่านการค้าเดิมให้เชื่อมประสานพื้นที่มากขึ้น ควรพัฒนาทำเล-พื้นที่โคลีฟวิ่งให้ผู้สูงอายุอยู่ร่วมกัน”
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่าย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เบื้องต้นต้องมีความชัดเจนว่าผู้สนับสนุนและผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่เป็นใครบ้าง ทำอะไรบ้างกำหนดแผนให้ชัดเจน เพื่อจะได้รูปแบบการลงทุน ซึ่งเห็นว่ารูปแบบการลงทุนคราวน์ฟันดิ่งน่าจะเอามาปรับใช้ได้ นอกจากนั้นข้อมูลควรมีการสังเคราะห์มากขึ้น ว่าแนวทางควรเห็นภาพชัดอย่างไรบ้าง พลังภาคี 4 ฝ่ายมีอะไรบ้าง เด่นอย่างไร