บพท.เดินหน้าขับเคลื่อน กลไกใหม่ด้านการพัฒนาเมือง
บพท. เร่งขับเคลื่อนใช้กลไกใหม่ด้านการพัฒนาเมือง สนับสนุนวิจัย “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” ภายใต้การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปดำเนินการให้เกิดการขยายผลเป็นรูปธรรมทั้ง 35 เมืองเป้าหมาย
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี ที่มุ่งเป้าการพัฒนาเมืองน่าอยู่ในทุกภาคของประเทศ เพื่อเป็นศูนย์เศรษฐกิจ แหล่งจ้างงาน และที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นและศักยภาพของเมือง
โดยนำแนวทางหลักที่จะนำระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้เกิดการพัฒนาเมืองตามเป้าหมายเมืองศูนย์กลางในภูมิภาค ประเด็นพื้นที่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (พ.ศ.2561-2580) เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของโครงการภายใต้แผนงานวิจัย TRF Flagship Research Program :TRP การจัดทำแผนบูรณาการจังหวัด ออกแบบและพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2561-2563 นั้น
สำหรับการขับเคลื่อนตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทั้งภายใต้โครงการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในช่วงปี 2561-2562 และ ปี 2563 ต่อเนื่องถึงกรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” ภายใต้โปรแกรมที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ของหน่วย บพท. ในปัจจุบัน
โดยได้ทำให้เกิดกลไกการพัฒนาเมืองที่นำไปสู่การปรับฐานวัฒนธรรมและองค์กรของระบบเมืองที่ส่งผลในเชิงประจักษ์ด้านกระบวนการบริหารจัดการเมือง กายภาพโครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีหลักการสำคัญคือ การสนับสนุนให้เกิดกลไกการพัฒนาเมืองที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเมืองนั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน
โดยประเด็นสำคัญนั้นยังยึดการขับเคลื่อนด้วยกลไกหลัก 4 ประการ คือ 1.กลไกด้านการพัฒนาความร่วมมือทางสังคมของเมือง 2.กลไกด้านการพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ของเมือง 3.กลไกด้านการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการจัดการทุนของเมือง 4.กลไกด้านนโยบายและแผนพัฒนาของเมือง
รศ.ดร.ปุ่น กล่าวอีกว่า กิจกรรมการพัฒนาเมืองที่ผ่านมานั้น เกิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ การจัดเวทีระดมสมองกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและนักวิจัยเพื่อพัฒนาโจทย์เข้าไปด้วย เพื่อวิเคราะห์ ปัญหา (Pain Point) โอกาส/ศักยภาพ (Gain Point) ของพื้นที่ เช่น การพัฒนาพื้นที่นั้นๆ คนในพื้นที่อยากเห็นอะไร ทุนทางวัฒนธรรมและกิจกรรมที่อยากทำคืออะไร แนวทางที่จะทำให้เกิดการลงทุน เกิดอาชีพเพื่อรองรับลูกหลานที่กลับมาบ้านคืออะไร และสุดท้ายคือแนวทางที่จะทำให้เขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีแผนพัฒนาที่เกิดจากเป้าหมายร่วมของคนในพื้นที่
ดังนั้นด้วยแนวทางข้างต้นจึงเป็นที่มาของการจัดงาน “กลไกการพัฒนาเมืองจากวิทยาการสู่การพัฒนาในอนาคต” ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นเวทีเรียนรู้ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมืองในการผลักดันแผนงานวิจัยด้านการพัฒนาเมืองและการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่พื้นที่
โดยจะชวนคนเหล่านั้นมาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยเครื่องมือการพัฒนาเมืองผ่านการสนับสนุนที่เรียกว่า กรอบงานวิจัย ซึ่งต้องการให้ผลงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมาถูกขยายผลสู่เมืองพื้นที่เป้าหมายของประเทศทั้ง 35 เมืองให้ได้ นอกจากนำเสนอความร่วมมือเพื่อให้เกิดกลไกพัฒนาเมืองในแต่ละเมือง รวมถึงความสำเร็จและข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. ในช่วงปี 2561-2562 ต่อเนื่องมาถึง ปี 2563 เพื่อการต่อยอดงานวิจัยเรื่องเมืองไปสู่การสนับสนุนของหน่วย บพท.
ประการสำคัญพบว่าในขณะนี้หลายเมืองเข้าสู่ความพร้อมในการลงทุน แต่ยังต้องมองย้อนกลับมาที่ว่าภาครัฐมีแนวทางสนับสนุนอย่างไรบ้าง ภาคเอกชนมีแนวทางลงทุนอย่างไร ดังนั้นงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับกรณีกลไกใหม่นั้นมีหลายอย่างด้วยกัน อาทิ กลไกความร่วมมือรูปแบบของกฎบัตร (Charter) ซึ่งพบว่าบางส่วนเริ่มไปบ้างแล้ว บางแห่งขับเคลื่อนด้วยกิจการพัฒนาเมือง บางแห่งมีมหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมขับเคลื่อน โดยปัจจัยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งแต่ละจังหวัด
“ยืนยันว่าปัจจุบันไม่ได้ติดขัดเรื่ององค์ความรู้ แต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกสังเคราะห์และประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ เช่นเดียวกับความสามารถของเมืองในการเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนา ที่มีกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมคิดว่าจะช่วยได้อย่างไร ถ้าจะทำให้ดีขึ้นจะต้องทำอย่างไร ซึ่งปี 2564 นี้จะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของโครงการตามแผนดำเนินการของหน่วย บพท.”
ทางด้านการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์หลักนั้นยังกำหนด 3 ปัจจัยไว้ดังนี้คือ เรื่องที่อยู่อาศัย ที่มีการเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ ต่อมาคือเรื่องการเดินทาง ต้องมองไปในอนาคตว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีกบ้าง แต่ข้อเท็จจริงเมืองจะขับเคลื่อนด้วยการสร้างงานและเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องจัดเร่งส่งเสริมให้จัดทำแผนเศรษฐกิจระดับเมืองเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
“เบื้องต้นพบว่า 70% ของเมืองทั้งหมดทิ้งเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวไม่ได้ ทั้งเมืองหลัก และเมืองรองควรจะเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจบนฐานการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม หากทำได้สำเร็จประชาชนจะรักเมืองนั้นๆ มากขึ้น เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม เพราะการพัฒนาต่อไปได้นั้นจะต้องมีแผนเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติให้สำเร็จตามแผน เช่นเดียวกับกลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้สังคมผู้สูงวัยสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ต่อไป”