มทร.ธัญบุรีเร่งพัฒนา “เมืองปทุมธานีอัจฉริยะ”

รองผู้ว่าฯปทุมธานีหนุนมทร.ธัญบุรีเดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยใช้คลองเป็นตัวเชื่อมแผนการพัฒนาพื้นที่ให้พร้อมรองรับ “เมืองปทุมธานีอัจฉริยะ” ระดมกึ๋นนักวิจัยวาดแผนพัฒนาภาพรวมหลังภาครัฐย้ายสวนสัตว์ และมีแผนย้ายกรมพลศึกษาไปที่คลอง 6 ธัญบุรี ปิ้งไอเดียผู้ทรงคุณวุฒิหนุนนำร่องการพัฒนาพื้นที่ ใช้กลไกที่มีคุณภาพ พร้อมหาคีย์พาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมดำเนินการ

นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าระยะ 6 เดือน ภายใต้ชุดโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ว่าปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีมีศักยภาพพื้นที่เหมาะสมในหลากหลายด้าน โดยอำเภอนครหลวงจัดเป็นเขตอุตสาหกรรมระดับไอที แต่ยังพบว่ามีท้องนา มีชนบทให้ท่องเที่ยว แต่กลับพบปัญหาขยะ ของเสีย น้ำเสีย หรือการจราจรติดขัดที่เป็นปัญหาของการพัฒนาเมืองตามมา ส่วนอำเภอธัญบุรี โดยเฉพาะพื้นที่คลอง 6 มีสถานศึกษาและสถานที่ราชการจำนวนมาก ดังนั้นการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวของคณะผู้วิจัยในโครงการครั้งนี้จึงนับว่าเป็นคุณูปการอย่างมากต่อการขับเคลื่อนทิศทางเมืองปทุมธานี

โดยสิ่งแรกที่จะต้องใส่ใจคือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการให้ดีขึ้นโดยหนึ่งใน 7 ข้อของการขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะจะมีกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย ซึ่งจากที่เคยทำหน้าที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมาก่อนนี้ก็ได้เคยขับเคลื่อนเรื่องนี้มาแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือนให้ทราบถึงเหตุต่างๆทำให้การบริหารจัดการทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น อาทิ การวางถังขยะพร้อมติดตั้งระบบเซนเซอร์แจ้งขยะเต็ม ล้น และมีกลิ่นเหม็นรบกวน จนสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับการนำขยะไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเมืองปทุมธานีจัดว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงมีวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำไปพัฒนาได้เป็นจำนวนมาก เป็นการนำของเสียมาแปรรูป กำจัดของเสียให้เกิดคุณค่า

ทั้งนี้จังหวัดปทุมธานีเมื่อเทียบกับภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงของประเทศได้ปีละประมาณ 4 แสนล้านบาทแต่กลับพบว่าภูเก็ตไม่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เช่นจังหวัดปทุมธานี ที่มีทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร ภูเก็ตจึงมีค่าครองชีพค่อนข้างแพงเนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าทุกอย่าง

นอกจากนั้นในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงภาวะผู้สูงวัยกันเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามพบว่าอัตราการเกิดมีน้อยลง มีเด็กทารกเกิดปีละประมาณ 6 แสนคนเท่านั้น ปัญหาผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นตามมาจึงต้องมีการป้องกันแก้ไขไว้ตั้งแต่วันนี้

เช่นเดียวกับการสร้างนวัตกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ซึ่งมทร.ธัญบุรีมีชื่อเสียงด้านการวิจัย จึงน่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

ประการหนึ่งนั้นหากกล่าวถึงการขับเคลื่อนเมืองปทุมธานีสมาร์ทซิตี้ยอมรับว่าไม่ง่าย ต้องเริ่มไปทีละด้านควบคู่กันไป แต่ด้วยจุดแข็งของจังหวัดปทุมธานีที่มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในหลายเรื่อง จึงน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่โดดเด่นในหลายเรื่อง หรืออินโดนีเซียที่พยายามก้าวตามประเทศไทย หรือแม้กระทั่งเวียดนามจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการพัฒนาประเทศไปสู่เมืองอัจฉริยะให้ได้โดยเร็ว

อธิการบดีกล่าวสรุปผลงานวิจัยเด่น

ในครั้งนี้ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามทร.ธัญบุรีมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยคือ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้รับรางวัลเมธีวิจัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ปีนี้ผลงานวิจัยของท่านจัดอยู่ในลำดับที่ 1 ใน 20 ของโลกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยของมทร.ธัญบุรีมาโดยตลอด

โครงการวิจัยเหล่านี้มุ่งเพื่อเข้าไปมีส่วนพัฒนาจังหวัดปทุมธานีให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบ มุ่งเน้นไปในเรื่องการจัดการของเสียต่อยอดจากการมีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเข้าไปจัดการของเสียโดยเฉพาะขยะที่มีจำนวนมาก อีกส่วนคือการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในจังหวัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น สามารถสร้างผลผลิตและได้รับทุนวิจัยพัฒนาต่อเนื่องกันมา จนได้รับรางวัลที่ 1 ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (Platinum Award) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติปี 2563 เป็นครั้งแรกของมทร.ธัญบุรีในรอบ 45 ปีจากจำนวน 300 มหาวิทยาลัยในปีนี้

“มั่นใจว่าคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนให้นำร่องการพัฒนาพื้นที่ การบริหารจัดการที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกที่มีคุณภาพ พร้อมแนะนำให้หาคีย์พาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมดำเนินการจะสามารถต่อยอดให้พัฒนาผลงานวิจัยจนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เสื้อผลิตจากเส้นใยกล้วยและผักตบชวา สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ โดยปัจจุบันมทร.ธัญบุรีมีนักศึกษากว่า 2.6 หมื่นคน มีอาจารย์ 1,014 คน ซึ่งส่งเรียนปริญญาเอกแล้วกว่า 600 คน องค์ความรู้จึงมีมากมายพร้อมตอบแทนสังคมได้ทันที มุ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ชาวจังหวัดปทุมธานีอย่างต่อเนื่องต่อไป”

บูรณาการ 50 นักวิจัย

ด้านผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันทน์ หัวหน้าชุดโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ และเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่ Smart City

โดยนำเสนอทั้งสิ้น 28 โครงการย่อย แบ่งเป็น 2 ชุดโครงการ คือ 1.ชุดโครงการ “ยกระดับการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี” ได้ทุนสนับสนุน 25 โครงการย่อย วงเงิน 8 ล้านบาท และ 2.ชุดโครงการ “ธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์” จำนวน 3 โครงการย่อย วงเงิน 1.5 ล้านบาท ได้แก่ 1.แนวทางการออกแบบและพัฒนาพื้นที่คลองและพื้นที่ว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วม 2.การพัฒนาออกแบบที่อยู่อาศัย เสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ และ 3.แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเคหะชุมชนรังสิต(คลองหก) โดยบูรณาการร่วม 50 นักวิจัยจาก 8 คณะได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย และคณะเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อหากลไกพัฒนาลักษณะทางกายภาพพื้นที่คลองธัญบุรี พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุมชนชานเมืองให้พร้อมรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคตต่อไป

สำหรับภาพรวมงานวิจัย มทร.ธัญบุรีได้รับทุนจำนวน 3 กรอบการวิจัย คือ ชุดการพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ชุดการพัฒนา local enterprise จังหวัดปราจีนบุรี และชุดสมาร์ทซิตี้ โดยเฉพาะกรอบเกี่ยวกับสมาร์ทคอมมูนิตี้ มุ่งสร้างแพล็ตฟอร์มนวัตกรรมและการเรียนรู้ (learning and innovation platform) สร้างนวัตกรชุมชนหรือนักวิจัยชาวบ้าน การถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ นำองค์ความรู้มาพัฒนาจนนำบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป

“ส่วนแผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ทำให้เป็นเมืองศูนย์กลางน่าอยู่ โดยเลือกอำเภอธัญบุรีเป็นพื้นที่นำร่อง กรอบแรกเน้นเรื่องการบริหารจัดการขยะและสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างนวัตกรรมชุมชนใน 10 ตำบลเพื่อสร้างนวัตกรชุมชนต่างๆ ให้มีการต่อยอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนรูปแบบนวัตกรรมพร้อมใช้งาน ให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนสามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงระดับของการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ได้”

สอดคล้องกับที่นายณัฏฐกฤษฏ์ ศุภกรพินธคุปต์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า โครงการเกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้นั้นมีเป้าหมายหลักจะใช้พื้นที่ตัวอำเภอธัญบุรีเป็นต้นแบบสร้างเมืองปทุมธานีให้เป็นเมืองอัจฉริยะด้วยการพัฒนาด้านมิติสิ่งแวดล้อม ชุมชน เศรษฐกิจเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของอำเภอธัญบุรีที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน พื้นที่การเกษตรของทั้ง 6 เมืองที่จะป้อนเข้าสู่กรุงเทพมหานครโดยธัญบุรีจะเป็นศูนย์กลางที่จะบูรณาการร่วมทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยราชการ และหน่วยงานด้านการเกษตรในพื้นที่

โดยดูเรื่องการออกแบบทางกายภาพพื้นที่ ดูเรื่องคน สุขภาพ ปัญหาผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัย และเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ สำหรับพื้นที่เมืองปทุมธานีมี 1,525 ตร.กม. โดยโซนตะวันออกของปทุมธานีกว่า 75.3% ในอดีตรัชกาลที่ 5 ทรงดำริสั่งขุดคลองไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลองรังสิตประยูรศักดิ์กว้าง 50 เมตร ยาว 53 กม. คลองรพีพัฒน์ ยาว 36 กม. เป็นพื้นที่เกษตรกรรมถึง 70% ขณะนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

“ปัจจุบันคลองต่างๆใช้เป็นเพียงพื้นที่รับน้ำเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมหนักปี 2554 เท่านั้นยังไม่พอภาครัฐยังย้ายสวนสัตว์มาไว้ในพื้นที่ และมีแผนเตรียมย้ายกรมพลศึกษาจากย่านปทุมวันมาไว้ในพื้นที่นี่อีกด้วย โครงการวิจัยครั้งนี้จึงจะกล่าวถึงพื้นที่ว่างและจุดเชื่อมต่อในพื้นที่ต่างๆเพื่อให้พร้อมรองรับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองปทุมธานีอัจฉริยะในอนาคตต่อไป”