ผนึก 5 เทศบาลเมืองชลบุรี เร่งศึกษารถไฟฟ้าเชื่อม TOD แหลมฉบัง
บพท.หนุนม.เกษตรฯศรีราชา-สจล.เร่งศึกษาการพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวบูรณาการร่วมกับการพัฒนาพื้นท่ีรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง เน้นเชื่อมโยง 5 เทศบาลในพื้นที่ จับตา “ชลบุรีพัฒนาเมือง” ใช้ระบบบีอาร์ทีให้บริการนำร่องตามแนวเส้นทาง
ผศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ หัวหน้าโครงการหลักจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวบูรณาการร่วมกับการพัฒนาพื้นท่ีรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง” เปิดเผยว่าปัจจุบันพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเมืองชลบุรี แสนสุข ศรีราชา และพัทยา จัดเป็น 5 พื้นที่ที่มีความเจริญมากที่สุดในจังหวัดชลบุรี ครอบคลุมสถานีรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก โดยมีจํานวนประชากรตาม ทะเบียนราษฎร์รวมกันมากกว่า 1.6 ล้านคน ซึ่งใน 5 พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันพบว่ามีปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบนถนนสายหลักอย่างสุขุมวิท และถนนทางหลวงหมายเลข 331
ประกอบกับเทศบาลนครแหลมฉบัง และ 4 พื้นที่เมืองดังกล่าวอยู่ในโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สําคัญที่สุดของโครงการฯ อีอีซี ภาคตะวันออก คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ปัจจุบันได้มีการกําหนดสถานีรถไฟความเร็วสูงจํานวน 3 สถานีในจังหวัดชลบุรี ได้แก่ สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา ซึ่งในอนาคตเมื่อระบบรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกนี้เปิดให้บริการจํานวนผู้โดยสาร หรือจํานวนการเดินทางที่จะเข้ามายังพื้นที่จังหวัดชลบุรีจะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดชลบุรีที่มีแต่รถสองแถวนั้นไม่สามารถรองรับได้ การขาดระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากสถานีรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยในเมือง จึงเป็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้
สำหรับชุดโครงการวิจัยนี้มีผศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการหลัก วัตถุประสงค์มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่เมืองที่สําคัญของจังหวัดชลบุรี และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะไปพร้อมกัน
โดยชุดโครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่
1) โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนาระบบการเดินรถไฟฟ้ารางเบาและรางเดี่ยวโดยการประยุกต์ใช้แบบจําลองสภาพการจราจรในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง (การวางโครงข่าย ระบบการเดินรถ ระบบปฏิบัติการ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุน ออกแบบการเดินรถเสมอระดับถนน ไฟจราจร)
2) โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง และพื้นท่ีใกล้เคียงโดยมีรศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2
โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านโครงการประสานงานจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองโดยเป็นการต่อยอดจากโครงการเดิมที่ได้มีการศึกษาการพัฒนาโครงการเฉพาะพื้นที่แหลมฉบังรองรับไว้แล้ว ได้มีการขยายพื้นที่ให้กว้างมากขึ้น และประยุกต์ปัญหาจากโครงการก่อนนี้มาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และระบบปฏิบัติการณ์ ทั้งเรื่องการเดินรถ ความถี่ ความเร็ว
โดยเชื่อมโยงกับแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงของกระทรวงคมนาคมในโซนตะวันออก รูปแบบการเดินรถไฟฟ้ารางเดี่ยวและรางเบา รอบพื้นที่การพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนแหลมฉบังและพื้นที่ใกล้เคียง บูรณาการร่วมกับ 5 เทศบาลเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแหลมฉบัง แสนสุข เมืองชลบุรี เมืองพัทยา และศรีราชา มีแนวเส้นทางจากเทศบาลเมืองชลบุรี แสนสุข ศรีราชา แหลมฉบัง และพัทยา ปัจจุบันแนวเส้นทางการศึกษาแล้วเสร็จ ระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร จำนวน 54 สถานี
ทั้งนี้การออกแบบ TOD จะช่วยให้มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้ากันมากขึ้น ก่อให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุนอย่างแท้จริง โดยนอกจากร่วมกับ 5 เทศบาลในพื้นที่แล้วคาดว่าเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จคาดว่ายังมีอีกหลายหน่วยงานอื่นสนใจเข้ามาร่วมด้วย เช่น บริษัท ชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เบื้องต้นเปิดให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็นต่างๆ
โดยตั้งเป้าหมายโครงการไว้ว่า ต้องการสร้างความตระหนักให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญของโครงการเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการเดินทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆของเมืองชลบุรีได้ง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น
ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า ด้านความสนใจจากภาคเอกชนนั้นพบว่าล่าสุดได้รับความสนใจจากบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด เข้ามาเกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อนำรถเมล์โดยสารใช้ระบบไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการตามแนวเส้นทางการศึกษาดังกล่าว ซึ่งบริษัทชลบุรีพัฒนาเมืองมีความสนใจจะลงทุนเส้นทางดังกล่าวและอยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูลเพื่อยื่นขออนุญาตใบอนุญาตสัมปทานเส้นทางกับกรมการขนส่งทางบกต่อไป
ทั้งนี้ในการประชุมรับฟังความเห็นทุกครั้งจะพบว่ามีปัญหาสอบถามเรื่องที่ว่าหากเดินรถแล้วในจุดแยกต่างๆ จะแก้ไขปัญหาไม่ให้รถติดได้อย่างไร หรือไม่ให้รถติดมากขึ้นได้อย่างไร สำหรับโครงข่ายตามผลการศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 5 เมือง 3 อำเภอ ของจังหวัดชลบุรีร่วมขับเคลื่อนในเบื้องต้นกับเทศบาลแหลมฉบัง มีการรวมรายละเอียดการเดินรถช่วงทางแยกเสมอระดับไว้ด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเดินรถ ใช้เทคโนโลยีเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สัญญาณแก่รถไฟฟ้าสามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ก่อปัญหาจราจรตามที่หลายฝ่ายมีความกังวล
“ในการทำระบบปฏิบัติการจะมีกำหนดว่าใช้ความถี่เท่าไหร่ ใช้จำนวนรถกี่คัน สำรองกี่คัน ซึ่งสามารถนำไปกำหนดงบลงทุนได้อีกด้วย เบื้องต้นอาจจะใช้รถเมล์บีอาร์ทีให้บริการ ส่วนในอนาคตเมื่อปริมาณผู้โดยสารหนาแน่นจึงค่อยปรับมาเป็นระบบแทรม หรือรถไฟฟ้ารางเบาที่เหมาะสมต่อไป”
ประการสำคัญโครงการในครั้งนี้ยังสอดคล้องกับกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ศึกษาเป็นเส้นทางหลักเชื่อม 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีรองรับไว้แล้วเพื่อให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง(Feeder) ได้อีกทางหนึ่งด้วย สามารถป้อนสู่เส้นทางหลักของสนข. ได้ในหลายจุด เช่นเดียวกับเส้นทางที่เมืองพัทยาศึกษาให้บริการในตัวเมืองพัทยารองรับไว้ด้วยเช่นกัน พบว่าเบื้องต้นมีการกำหนดใช้รถเมล์บีอาร์ทีเข้าไปให้บริการก่อนแล้วจึงค่อยปรับมาเป็นรถไฟฟ้ารางเบาในอนาคตเมื่อปริมาณผู้โดยสารหนาแน่นต่อไป
ทั้งนี้ผู้ศึกษายังเชื่อว่าในอนาคตพื้นที่แหลมฉบังและใกล้เคียงจะมีปัญหาด้านการจราจรดังนั้นจึงวางแผนใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งจะต้องค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้นเพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่นับวันจะก่อปัญหาจราจรและก่อมลพิษเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการระบบเชื่อมโยงต่างๆให้ลงตัวทั้งรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสองแถว รถตู้ให้สามารถใช้ประโยชน์ของการพัฒนาโครงข่ายทุกฝ่ายพร้อมกำหนดราคาที่เหมาะสม มีความตรงต่อเวลา พร้อมด้วยบริการที่พึงพอใจจึงจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนมาใช้บริการ
โดยเชื่อว่าหากสามารถเปิดให้บริการพร้อมเชื่อมเส้นทางเข้าไปทุกศูนย์เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชลบุรีก็จะสามารถยกระดับให้บริการรถเมล์บีอาร์ทีหรือรถไฟฟ้ารางเบาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรด้วยระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องร่วมหารือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (ดีป้า) เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยในเบื้องต้นนั้นได้มีการศึกษารูปแบบโครงการ รูปแบบการลงทุนไว้อย่างชัดเจนแล้ว ภาครัฐ หรือภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้ทันที
เลือกพื้นที่เกาะลอย-ศรีราชา นำร่อง
สำหรับแผนการขับเคลื่อนระยะต่อไปนั้น อยู่ระหว่างการเดินหน้าตามโมเดลที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีได้คัดเลือกพื้นที่เกาะลอยและศรีราชานำร่องดำเนินการก่อน จากนี้จะเร่งทำแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารให้แล้วเสร็จเพื่อให้เห็นถึงปริมาณผู้โดยสารที่แม่นยำมากขึ้นในแต่ละสถานีเพื่อนำไปออกแบบระบบปฏิบัติการว่าจะวิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ จำนวนตู้โดยสาร ความถี่ให้บริการ ให้เลือกไปดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป
โดยในส่วนโครงการย่อยที่ 1 นี้จะทำให้ทราบถึงการประเมินเรื่องการลงทุนที่ใกล้เคียงมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆที่รวบรวมไว้ในผลการศึกษาเพื่อที่จะคาดการณ์รายได้ให้สอดคล้องต่อไป ส่วนโครงการย่อยที่ 2 จะจัดสรร TOD ดำเนินการให้สอดคล้อง
“เหตุที่เลือกพื้นที่เกาะลอยและศรีราชามาดำเนินการก่อนเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะสม มีปริมาณประชาชนหนาแน่น เป็นพื้นที่ย่านธุรกิจใหม่ ศูนย์ราชการและเป็นพื้นที่เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีศักยภาพมาก มีการประเมินแล้วคัดเลือกมาจากสถานีต่างๆทั้งหมดโดยจะมีการจัดสรรพื้นที่ทีโอดีอย่างเหมาะสมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาต่อชุมชนมากขึ้นโดยเฉพาะรัศมี 500 เมตรจากสถานี”
สำหรับระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนี้คาดหวังว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดคือเมษายนปี 2564 ที่จะได้เห็นกรณีคาดการณ์ผู้โดยสาร การออกแบบโครงการ TOD การวิเคราะห์ทางด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พร้อมกับเปิดรับฟังความเห็นเรื่องการลงพื้นที่ปฏิบัติการ TOD รอบสุดท้ายพื้นที่เกาะลอยจะเสร็จสิ้นโครงการสามารถนำเสนอผลงานต่อบพท.นำไปเสนอหน่วยเกี่ยวข้องเร่งต่อยอดโครงการสู่ความสำเร็จต่อไป
“ผู้สนใจจะต้องดูจุดคุ้มทุนว่าน่าสนใจหรือไม่ ลงทุนเท่าไหร่ การคาดการณ์ผู้โดยสาร ซึ่งจุดเกาะลอยและศรีราชาล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากชลบุรีพัฒนาเมืองมีความพร้อมสนใจลงทุนอย่างแท้จริงโครงการนี้คงจะเกิดประโยชน์ต่อชาวชลบุรีและพื้นที่ต่างๆได้อย่างแท้จริง” ผศ.ดร.ศักรธรกล่าวในตอนท้าย