บพท. หนุน มทร.ศรีวิชัย ยกระดับ “เมืองสงขลาอัจฉริยะ”

นับเป็นอีกหนึ่งโครงการสำหรับการเร่งยกระดับพัฒนาศักยภาพเมืองสงขลาก้าวสู่เมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี โดยการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) ร่วมกับเทศบาลนครสงขลากับ “โครงการการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา”  โดยคณะผู้วิจัยภายใต้การนำของ รศ.จรูญ  เจริญเนตรกุล  ผู้อำนวยการแผนวิจัย  ผศ.ดร.ณัฐนีภรณ์ น้อยเสงี่ยม หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 1 (โครงการการพัฒนาพื้นที่กิจกรรมสาธารณะเมืองเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะสงขลา) ดร.ณัฐพล  แก้วทอง หัวหน้าโครงการย่อย 2  (โครงการระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศสำหรับเทศบาลนครสงขลาเมืองอัจฉริยะ) และ ผศ.ดร.ชลัท  ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 (ระบบจราจรอัจฉริยะสำหรับเมืองสงขลาน่าอยู่)

ทั้งนี้ รศ.จรูญ  เจริญเนตรกุล  ผู้อำนวยการแผนโครงการนี้ ให้สัมภาษณ์ในหลายประเด็นที่น่าสนใจว่า โครงการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  กับเทศบาลนครสงขลา จ.สงขลา  ภายใต้แผนงาน มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ โปรแกรม 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.)

มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันกลไกนโยบาย กลไกการมีส่วนร่วม และกลไกด้านบุคลากรของรัฐ ในการเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม  และกำหนดแนวทาง วิธีการและระบบดำเนินการ ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาโครงการและเทศบาลนครสงขลาทำกิจกรรมร่วมกันมาหลายโครงการ มีความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านผังเมือง การปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ  งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นเดียวกับงานด้านความเป็นอัจฉริยะที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้น ให้เมืองน่าอยู่ ล่าสุดภาพรวมจังหวัดสงขลาได้รับการพัฒนาเป็นเมืองกีฬาและไมซ์ เช่นเดียวเมืองสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ จึงเร่งขับเคลื่อนการเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่มากขึ้น
 
โดยงานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาเมือง และโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อพัฒนาสงขลาเป็นเมืองอัจฉริยะร่วมกับภาคีทั้งหน่วยงานรัฐ  เอกชน  ชุมชน  และภาควิชาการ โดยจะทำการศึกษาวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ  ถัดจากนั้นคือการวางแผนพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิต  กำหนดแนวทาง วิธีการ  และมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม  โดยในทุกขั้นตอนจะผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้รวบรวมปัญหาจากการทำการสนทนากลุ่ม พบว่าปัญหาหลักคือสิ่งแวดล้อม    และการจราจรจึงกำหนดโดยกรอบการวิจัยเป็น 3 งานหลัก คือ งานรวบรวมข้อมูล งานประเมินผล/  การถ่ายทอดเทคโนโลยี/การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้โครงการ  และงานวิเคราะห์ข้อมูล/สร้างต้นแบบสำหรับ City lab/pilot study/Feedback  โดยมีผลลัพธ์จากงานวิจัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาจราจร  และปัญหาด้านเศรษฐกิจ   ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์คือประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครสงขลา  ผู้ใช้ทาง  นักท่องเที่ยว และผู้ทำธุรกิจในพื้นที่โครงการ ด้วยการศึกษาและจัดโครงการนำร่องใน 5 ชุมชนเขตเทศบาลนครสงขลา  จ.สงขลา  ได้แก่ ชุมชนวัดหัวป้อม ชุมชนวัดไทรงาม ชุมชนวัดชัยมงคล ชุมชนวชิรา  และชุมชนย่านเมืองเก่า

สำหรับการกำหนดเป้าหมายจากโครงการวิจัยครั้งนี้ รศ.จรูญ ให้รายละเอียดว่า เป้าหมายแรกเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อการยกระดับศักยภาพเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน โดยในเบื้องต้นดำเนินการในพื้นที่เขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งมี 5 ชุมชนหลักเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อรองรับความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาควิชาการ เป้าหมายที่ 2 จัดภาคีเครือข่ายดูแลและแจ้งเตือนสำหรับเทศบาลนครสงขลา เพื่อเป็นเครือข่ายในการขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป เป้าหมายที่ 3 จัดภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยมลพิษทางอากาศสำหรับเทศบาลนครสงขลา เพื่อเป็นแกนนำในการเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญคือเป็นเครือข่ายในการขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป เป้าหมายที่ 4 จัดภาคีจัดตั้งคณะอนุกรรมการการจราจรอัจฉริยะ  ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนา “สงขลาเมืองอัจฉริยะ”  เพื่อเป็นเครือข่ายในการขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป  เป้าหมายที่ 5 องค์ความรู้ที่ได้ในการพัฒนากลไกสำหรับการพัฒนาเมืองจะสามารถถอดบทเรียนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน และภาคีสำหรับเทศบาลนครสงขลา ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร สำหรับลักษณะเมืองที่มีรูปแบบคล้ายกับเทศบาลนครสงขลา และมีลักษณะการรวมตัวของชุมชนค่อนข้างหนาแน่น และเป้าหมายที่ 6  งานวิจัยนี้มีพื้นที่เป้าหมายชัดเจนคือเทศบาลนครสงขลา ประกอบด้วย ชุมชนวัดชัยมงคล ชุมชนย่านเมืองเก่า ชุมชนวัดหัวป้อม ชุมชนวัดไทรงาม และชุมชนวชิราซอยคี่
 
ผศ.ดร.ณัฐนีภรณ์ น้อยเสงี่ยม หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเมือง อาศัยกระบวนทัศน์การออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับเมืองอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนารูปแบบการใช้พื้นที่และกิจกรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่  และระบุรูปแบบการใช้พื้นที่ตามแนวคิดเมืองอัจฉริยะ การสร้างคุณภาพชีวิตและลดต้นทุนทางการเงินสำหรับการดูแลสุขภาพ

“การพูดคุยถึงแนวทางความเป็นไปได้ของโครงการวิจัยกับนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา ผู้อำนวยการสำนักการช่างเทศบาลนครสงขลา ผู้นำชุมชนในทุกชุมชน และที่สำคัญคือผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคใต้ตอนล่าง  เพื่อดำเนินแผนงานจัดให้มีลานกิจกรรม ลานออกกำลังกาย ที่ติดตั้งระบบอัจฉริยะไว้ให้บริการทั้งระบบกล้องวงจรปิด ไวไฟ ระบบชาร์จไฟ และอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาระบบบอกเวลาให้บริการรถโดยสารสาธารณะซึ่งแยกสระบัวเป็นพื้นที่สำคัญ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี และถ้างานวิจัยดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จจะสามารถขยายไปสู่การพัฒนาสงขลาเมืองอัจฉริยะในบริบทอื่นได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นคำยืนยันจากเจ้าของพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากงานวิจัย” 

ดร.ณัฐพล  แก้วทอง หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2  กล่าวว่า  การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศสำหรับเทศบาลนครสงขลาเมืองอัจฉริยะ แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ     1.การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการเฝ้าระวังภัยจากมลพิษทางอากาศสำหรับเทศบาลนครสงขลา 2.พัฒนาเครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศและระบบแจ้งเตือนภัย และ 3.สร้างนวัตกรรมการแจ้งเตือนภัยมลพิษทางอากาศสำหรับเทศบาลนครสงขลา  

“มุ่งหวังให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากมลพิษทางอากาศ และมีวิธีการป้องกันตัวเองจากมลพิษทางอากาศเมื่อมีค่าเกินมาตรฐานซึ่งช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนในโรคตาอักเสบ โรคหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในเขตเทศบาลนครสงขลาได้”

ผศ.ดร.ชลัท  ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3  กล่าวว่า ผู้วิจัยได้ดำเนินงานโครงการวิจัย   โดยยึดหลักการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก  ซึ่งวางแผนมองภาพปัจจุบันและอนาคตไว้ทั้งหมด 4 ด้านคือ  ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจรของยานพาหนะ  ลดจำนวนอุบัติเหตุในชุมชน  พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านจราจรและขนส่ง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและขนส่ง  นอกเหนือจากความร่วมมือที่ได้รับมาตลอดจากภาคประชาชน   เทศบาลนครสงขลา  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคใต้ตอนล่าง  และสมาคมผู้บริโภค จังหวัดสงขลา คาดหวังว่าจะได้ขยายภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่นๆ  ต่อไปอย่างยั่งยืนอีกด้วย  

“สงขลาจัดว่ามีการจัดอีเว้นต์หลายครั้งประสบความสำเร็จด้วยดี จึงมีการศึกษาจัดพื้นที่จอดรถไว้ตามจุดต่าง ๆ ไว้นอกเมืองมากขึ้นเพื่อจะจัดระบบรถโดยสารสาธารณะในเมือง ลดใช้ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลในเมือง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความสุขในระยะยาวให้กับประชาชน ด้วยการสร้างเมืองให้น่าอยู่  เพราะเชื่อว่าหากโครงสร้างพื้นฐานพื้นฐานดี  การพัฒนาในด้านอื่นๆ ย่อมตามมาไม่ยาก  และสงขลาจะก้าวกระโดดไปสู่เมืองในฝันของคนทั่วทุกมุมโลก  ไม่ใช่เพียงเฉพาะประชาชนในพื้นที่เท่านั้น”