บพท.ผนึกมช. ปั้นเมืองลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์
บพท. หนุน มช. ผนึก ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง – มรภ.ลำปาง เร่งขับเคลื่อน “การพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์” ตั้งห้องปฏิบัติการ Lampang Creative Lab บนพื้นที่กาดกองต้าไว้ขยายองค์ความรู้พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดแผนพัฒนาสู่ความสำเร็จ
ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าชุดโครงการวิจัย “กลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ “ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดลำปาง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยคณะผู้วิจัยประกอบไปด้วย ดร.นิเวศน์ พูนสุขเจริญ ดร.เผชิญวาส ศรีชัย ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์ ดร.ศันสนีย์ กระจ่างโฉม ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา อ.ดร.ชาติชาย เขียวงามดี อ.ดร. อาชว์บารมี มณีตระกูลทอง อ. กิ่งแก้ว ทิศตึง ผศ.ดร.มานัส ศรีวณิช นายสามารถ สุวรรณรัตน์ และ ผศ.ศรีชนา เจริญเนตร
โดยเดิมนั้นได้เคยทำโครงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืนเพื่อรองรับท่องเที่ยวไทย 4.0 : แผนเมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม ลำปางเซรามิกซิตี้ ทำให้มองเห็นศักยภาพของลำปาง จึงมีแนวคิดต่อยอดโครงการได้อีก จึงขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
สำหรับวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ข้อซึ่งเป็นแผนงานย่อยของโครงการนั้น ประกอบไปด้วย 1.เพื่อก่อตั้งห้องปฏิบัติออกแบบลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ (Lampang Creative Lab) 2.เพื่อพัฒนาศักยภาพและบทบาทการเป็นเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ของลำปาง 3.เพื่อพัฒนาพลเมืองลำปางสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเมืองน่าอยู่ 4 เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเมืองลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ และ 5.เพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่น่าอยู่สร้างสรรค์
โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการกลไกการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ได้เข้าพบนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน เบื้องต้นได้ก่อตั้ง Lampang Creative Lab ได้สำเร็จ พร้อมกับเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2563 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกาดกองต้า ผู้ประกอบการในกาด ตัวแทนชุมชน คัดเลือกสถานที่จัดตั้งห้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ยังได้จัดทำเป็น Urban Data Platform ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาวิจัยมาจากช่วงก่อนนี้ไปเก็บรวบรวมไว้ หากจะดึงข้อมูลของลำปางก็สามารถใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวไปดำเนินการได้ทันที
ในส่วนวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์นั้นจะเน้นการพัฒนาศักยภาพ ได้เข้าไปจัดประชุมรับฟังความเห็นแต่ละกลุ่มเป้าหมายว่ามีความสนใจอย่างไรบ้าง ต้องการให้พัฒนาศักยภาพด้านใดบ้าง ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาได้ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้ให้บริการรถม้า ซึ่งมีอยู่จังหวัดเดียวในประเทศไทย พบว่ามีความสนใจให้มีการเพิ่มศักยภาพให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องภาษาในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวและมาตรฐานให้บริการ
ปัจจุบันรถม้าทั้งจังหวัดลำปางมีจำนวนประมาณ 80 คัน ประสบปัญหาพบว่ามีนักท่องเที่ยวใช้บริการน้อยลง ขณะนี้ทั้งม้าและคนขับได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 จึงใช้โอกาสนี้ไปเพิ่มศักยภาพให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการรถม้าในจังหวัดลำปางมี 2 กลุ่มใหญ่ ปัจจุบันหน่วยงานเทศบาลเมืองเขลางค์นคร และอีกหลายหน่วยงานได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือบางส่วน ราคาใช้บริการรถม้ามีตั้งแต่ 200 บาท 400 บาท และ 800 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้บริการรอบเล็ก รอบใหญ่ จากรัศมีให้บริการในเขตตัวเมืองลำปาง 1 คันใช้บริการได้ไม่เกิน 4 คน
สำหรับค่าใช้จ่ายจะเป็นค่าอาหารม้า ค่าบำรุงรักษารถม้า ค่าวัคซีนฉีดให้ม้าเมื่อเจ็บป่วย แนวทางการสร้างความยั่งยืนคือเร่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการรถม้าให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนอีกแนวทางหนึ่งทางกลุ่มได้จัดทำสินค้าที่ระลึกเพื่อจำหน่าย อาทิ เกือกม้า ถ่ายภาพกับรถม้า เพราะหากจะรอนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพียงอย่างเดียวจะไม่แน่นอนเสมอไป ซึ่งแผนการดำเนินงานระยะต่อไปนั้นจะรวบรวมผลจากโครงการย่อยต่างๆเ พื่อจะให้เห็นภาพชัดเจนอีกว่าลำปางต้องการแผนจัดการอย่างไรบ้าง
ด้านแผนการพัฒนาลำปางเมืองน่าอยู่สร้างสรรค์นั้น ได้เห็นผลชัดเจนมากขึ้นพร้อมกับลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนใน 5 พื้นที่มาแล้ว ที่ผ่านมามีโครงการนำร่องที่กาดกองต้า ซึ่งเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของโครงการ ที่ในอดีตใช้เป็นพื้นที่รวบรวมไม้ซุงที่ล่องมาตามน้ำเพื่อนำมาขนขึ้นฝั่ง ณ จุดนี้จึงพอทราบว่าประชาชนต้องการให้รวบรวมเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของกองต้า ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือดีมาก มีการมอบภาพเก่าในอดีตมาให้ทางคณะผู้จัดทำโครงการนำไปเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเป็นองค์ความรู้ต่อไป ผ่านกิจกรรมเปิดนิทรรศการ “เรื่องบะเก่าชาวกองต้า”
“มีโอกาสลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชนอีก 7 ครอบครัวให้เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนตั้งแต่ในอดีตเพื่อนำไปจัดทำนิทรรศการเผยแพร่ให้คนรุ่นต่อๆมาได้ศึกษาเรียนรู้ถึงวันวานในอดีต ความทรงจำ ชุมชนชาวกองต้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”
ดร.กรวรรณยังกล่าวถึงแผนขับเคลื่อนระยะ 6 เดือนต่อไปอีกว่า จะต้องไปจัดกิจกรรมเพื่อหาตัวชี้วัดในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร มีการจัดเก็บแบบสอบถามจำนวน 400 ชุดในชุมชนเพื่อให้เห็นว่าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดในความเป็นเมืองสร้างสรรค์ซึ่งอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ
เช่นเดียวกับเรื่องพลเมืองลำปางสร้างสรรค์มุ่งเสริมสร้างทักษะใหม่ และพัฒนาทักษะที่มีเพิ่มขึ้น บ่มเพาะแกนนำด้วยการเจาะกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งพบว่ามีหลายรายพบกับวิฤติเศรษฐกิจโควิด-19 หวนกลับมาลำปางอีกครั้ง อีกทั้งเรื่องแผนการพัฒนาเมืองลำปางน่าอยู่สร้างสรรค์ โดยจะเดินหน้าทำกิจกรรมกับชุมชนต้นแบบต่อจากการจัดนิทรรศการเรื่องมะเก่าชาวกองต้า ให้ต่อเนื่องหมุนเวียนต่อไป
“หวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือของประชาชนในแต่ละชุมชนมากขึ้นมาร่วมเสนอแนวคิด และร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะหากคณะวิจัยดำเนินโครงการแล้วเสร็จและออกจากพื้นที่นี้ไป ประชาชนในพื้นที่นั้นๆจะสามารถต่อยอดโครงการต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
ดร.กรวรรณกล่าวอีกว่าจากการได้เห็นความร่วมมือของหลายฝ่ายจึงอยากจะเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ อีก ขณะนี้ด้านการท่องเที่ยว ด้านพาณิชย์ การพัฒนาชุมชน ได้เข้ามาสนับสนุนในบางส่วนไปแล้ว จากนี้จะเข้าไปร่วมกับคนรุ่นใหม่ อาทิ หอการค้าจังหวัดลำปาง YEC จังหวัดลำปาง สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อขยายแนวคิดการพัฒนาให้แพร่หลาย เพิ่มการรับรู้ให้มากขึ้น
“หากได้สถาบันการเงินที่เข้าใจเรื่องการพัฒนาชุมชน พัฒนาเมือง พัฒนาคน เข้ามาร่วมสนับสนุนจะเป็นองค์ความรู้ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งเมืองลำปางได้มีแผนท่องเที่ยวเมืองเซรามิคมาแล้ว เรื่องศิลปะ วัฒนธรรมยังมีความน่าสนใจอีกมากมาย ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดหลวงพ่อเกษมเขมโก ความยิ่งใหญ่อลังการของวัดพระธาตุลำปางหลวง ความเงียบสงบและความร่มรื่นสนุกสนานของเขื่อนกิ่วลมยังมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาเที่ยวลำปาง”
นอกจากนั้นยังมีโอกาสเข้าไปมีส่วนช่วยเสริมบทบาทด้านการขับเคลื่อนเมืองลำปางให้กับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ถือว่ามีความพร้อมเต็มที่และมองเห็นถึงการแข่งขันของเมืองในอนาคต จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเมืองลำปางในครั้งนี้ด้วย ดังนั้นความน่าสนใจว่า “ลำปางจะมีธุรกิจใหม่” เกิดขึ้นได้อย่างไรยังเป็นความสนใจของอีกหลายคน โดยเฉพาะธุรกิจแนวครีเอทีฟสร้างสรรค์ยังมีเกิดขึ้นที่ลำปางของคนรุ่นใหม่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน