จุฬาฯระดมความเห็น ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  เจาะลึกองค์ความรู้พื้นที่โซนใจกลางเมืองเร่งขับเคลื่อนโครงการ “การเพิ่มผลิตภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร” เปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนเกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เน้น 3 ประเด็นหลักด้านพื้นที่ทำงาน พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะ
 
ความชัดเจนสำหรับแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เวบไซต์ข่าวและเพจข่าว UCD News ได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ หัวหน้าโครงการ “การเพิ่มผลิตภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองของกรุงเทพมหานคร” ในหลายประเด็นที่น่าสนใจว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ โปรแกรม 13 นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานราก และชุมชนนวัตกรรม แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเน้นวิจัยถึงแนวทางทำอย่างไรให้มีรายได้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เน้นสร้างความเสมอภาคเชื่อมโยงเมืองกับชนบท มุ่งยกระดับผู้มีรายได้น้อยศูนย์กลางเมือง หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “คนจนเมือง” นั่นเอง
 
กำหนดแนวทางขับเคลื่อนอย่างไร
 
การวิจัยต้องการให้เกิดผลในการพัฒนาโดยแยกออกมา 3 แนวทาง ได้แก่ 1. มองพื้นที่การทำงาน (เศรษฐกิจ) ปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจ ว่าสามารถทำรายได้อย่างไรบ้าง 2. พื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ไหน อย่างไร มีทางเลือกอย่างไร ควรมีวิธีการลดสภาพไม่เหมาะสมในการอยู่อาศัยอย่างไร 3. พื้นที่สาธารณะ ว่าในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองใช้กันอย่างไร
 
นอกจากนั้นยังต้องการว่าน่าจะสามารถนำร่องจุดไหนบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยที่ใกล้แหล่งงาน พื้นที่สาธารณะอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะโซนถนนพระราม 4 และปทุมวัน ที่ปัจจุบันพื้นที่มีการพัฒนารวดเร็วและรุดหน้ามีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายจุดตามแนวเส้นทางถนนสายหลัก อาทิ สามย่านมิตรทาวน์ วันแบงคอก เป็นต้น
 
โดยในแพลตฟอร์ม 4 กับโปรแกรม 13 เมืองศูนย์กลางน่าอยู่และมีความเป็นสมาร์ทซิตี้กำหนดชัดเจนว่าให้บทบาทมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการ หากจะไปทำนอกพื้นที่จะต้องให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมด้วย
 
นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ตัวชี้วัด และจะสนองยุทธศาสตร์ชาติอย่างไรบ้าง เป้าหมายหลักเพื่อกระจายความเจริญท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม ท้องถิ่น ส่วนเป้าหมายรองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการตนเอง ให้ยั่งยืนได้อย่างไร โดยได้ตั้งประเด็นหลัก ๆ ไว้ 6 เรื่อง มองผลสัมฤทธิ์สำคัญ 4 ข้อ กำหนดเป้าหมายเชิงคุณภาพ 2 ข้อ พร้อมกำหนดมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม
 
มองอุปสรรคปัญหาไว้อย่างไรหรือไม่
 
ในส่วนปัญหา หรือข้อจำกัดด้านการวิจัยของนักวิจัย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องการอพยพย้ายถิ่น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทางสังคม จึงวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไร ให้คนจนเมืองเข้าถึงแหล่งงานได้อย่างไร และมีที่อยู่ใกล้แหล่งงานได้อย่างไร โดยเทียบเคียงกับแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองของ กทม. ดังนั้นด้วยเหตุผลข้างต้นจึงต้องการชวนร่วมหารือเรื่องปรับแผนยุทธศาสตร์ กทม.ในปี 2564 นี้
 
ขณะนี้พบว่าได้มีการนำที่ดินภาครัฐมาสร้างบ้านรองรับคนจนเมืองรูปแบบมิกส์ยูสที่คลองเตย แต่กลุ่มผู้วิจัยยังมีแนวคิดสนับสนุนนุนให้มีการสำรวจอาคารร้าง อีกทั้งเห็นว่ารัฐควรสนับสนุนค่าเช่าบ้านให้คนจนเมือง ควรมีการออกแบบกระบวนการต่อเนื่องให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยพื้นที่ชุมชนบ่อนไก่ คลองเตยมีความน่าสนใจ จึงเห็นว่าน่าจะบูรณาการเครือข่ายร่วมการพัฒนา ประการหนึ่งนั้นควรเพิ่มซัพพลายพื้นที่ให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ แต่อาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด พร้อมเร่งเชื่อมโยงข้อมูลให้นำไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง ขยายไปครบทุกเขต
 
สำหรับการสร้างงานสร้างรายได้นั้นควรใช้โซเชียลมีเดียแจกงานให้คนจนเมืองรับไปทำ หรือกรณีมองเรื่องการอยู่ร่วมกันในอนาคตได้อย่างไร การใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ การมองมิติเชิงสังคม เป็นเครื่องมือการทำงานกับชุมชนเมือง และอย่ามองข้ามประเด็นเรื่องผลกระทบในอนาคตจากเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้แทนแรงงาน
 
ด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยนั้นจะพบว่ารัฐจัดหาที่ดินที่เหมาะสมได้ยาก ราคาไม่สนองกับผู้ต้องการ ซึ่งที่อยู่อาศัยจะสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายของคนจนเมือง จึงสนับสนุนให้ดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เสนอโซลูชั่นในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ พร้อมกับเร่งกระจายความเจริญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนจนเมืองในเขตเมืองให้น้อยลง
 
“การร่วมหารือกับหน่วยต่าง ๆ จะพบว่ามีความเห็นที่ดีหลายข้อ เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกันมากขึ้น ต่อนี้ไปหวังว่าจะเกิดการสร้างงานร่วมกันในหลายมิติกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  โดยพื้นที่การศึกษาครั้งนี้คิดเป็นประมาณ 10 ตร.กม.”
 
ตั้งเป้าหมายความสำเร็จโครงการไว้อย่างไร
 
รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ขยายความเรื่องนี้ว่า “คนจนเมือง” หรือผู้มีรายได้น้อยที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจนได้ในพื้นที่การศึกษาครั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันจะพบว่าจุฬา-พระราม 4 -ปทุมวันมีอาคารสูงระฟ้าควบคู่ไปกับชุมชนรูปแบบต่าง ๆ ได้ตลอดแนวถนนพระราม 4 และถนนพระราม 1
 
“พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร จะเริ่มต้นต่อไปอย่างไร ซึ่งหลายคนจะส่งรายได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัด จึงกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ดังนั้นหากสามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีช่องทางทำมาหากินมากขึ้นก็จะมีส่วนกระจายรายได้มากขึ้น”
 
ในส่วนพื้นที่นำร่องที่จะเห็นภาพชัดก่อนนั้นเบื้องต้นคงจะมองเรื่องสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และสถานที่สาธารณะ หลายคนเสนอว่าควรจะเริ่มต้นเรื่องที่อยู่อาศัย จากนั้นค่อยไปดูว่าทำงานที่ไหน ใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไร ซึ่งโซนพระราม 4 มีทั้งบ้านของการเคหะแห่งชาติ บ้านมั่นคง ตึกแถวให้เช่าของเอกชน ตลอดจนบ้านสวัสดิการ คงต้องไปลงลึกในรายละเอียดต่อไปว่ากลุ่มคนเหล่านี้อยู่กันอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะพบว่ามีการประกอบอาชีพในโซนใกล้เคียง โดยเฉพาะรถเข็นขายอาหารทั่วไป ดังนั้นจึงต้องมีข้อมูลว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขายสินค้าอะไร มีรายได้มากน้อยแค่ไหน ล้วนเป็นข้อมูลให้สามารถนำมาวิเคราะห์ให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด
 
ล่าสุดพบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มคนเหล่านี้ต่อกรณีรัฐบาลเข้าไปจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่ แผงลอย ทำให้ขาดพื้นที่ค้าขาย ขาดรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว หลายคนตกงาน จนส่งผลกระทบไปถึงลูกค้าที่เคยหาซื้อของกินราคาถูกเหล่านี้ไปด้วย เนื่องจากหาบเร่แผงลอยนั้นพบว่าได้หล่อเลี้ยงสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
 
บูรณาการกับหน่วยงานไหนหรือไม่ อย่างไร
 
เบื้องต้นต้องการจะบรรจุเอาไว้ในแผนที่ 13 ของชาติ ตลอดจนแผนระดับท้องถิ่น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าของที่ดินลงมาร่วมมือกัน ดังนั้นจุฬาฯในฐานะนักวิจัยจะต้องเร่งส่งข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้ให้กับ บพท. นำไปเสนอรัฐบาลให้เร่งสั่งการหน่วยเกี่ยวข้องนำไปให้ความช่วยเหลือหรือดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเคหะแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฯลฯ โดยต้องการให้ทุกฝ่ายมองไปในแนวทางเดียวกัน ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกัน ปัจจุบันในพื้นที่จุฬาฯ ก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือบุคลากรของจุฬาฯเองในหลายแปลง ส่วนนอกรั้วก็เร่งประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปดำเนินการ เนื่องจากแต่ละหน่วยจะมีระเบียบกฎหมายอำนวยการ แตกต่างกันไป
 
“คงต้องเน้นให้องค์ความรู้เพราะต้องการให้เห็นจริงว่าหากนำไปปรับใช้จะเกิดผลดีอย่างไร ยกตัวอย่างโครงการวันแบงคอกที่ใกล้กับแฟลตบ่อนไก่ หากใช้แรงงานคนในแฟลตบ่อนไก่อย่างเต็มที่ก็จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นหลังจากนี้ก็จะเข้าไปสอบถามข้อมูลกับการเตรียมความพร้อมโครงการว่าเตรียมเรื่องนี้ไว้อย่างไร”
 
ตั้งเป้าหมายจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร
 
พื้นที่กรุงเทพฯจะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน จึงต้องหาทางแก้ไว้อย่างไร คนรวย คนจนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในพื้นที่นี้ โดยพื้นที่พระราม 4 -ปทุมวัน-สุขุมวิท ยังเห็นว่าแรงงานส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในพื้นที่บ่อนไก่-คลองเตย-ยานนาวา-เจริญกรุงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากรัฐไปพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่กลุ่มคนแรงงานเหล่านี้ช่วยตนเองได้และไม่เป็นภาระมากเกินไปไว้ในพื้นที่ก็ควรจะเข้าไปเร่งดำเนินการ
 
“เมื่อลงภาคปฏิบัติแน่นอนว่าจะต้องพบกับปัจจัยลบ ปัจจัยบวกเกิดขึ้นตามมาแน่ ๆ เบื้องต้นต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน วิธีคิด หลายคนเสนอว่าให้รัฐไปสร้างที่อยู่อาศัยไว้ที่ชานเมืองแล้วให้แรงงานใช้ระบบขนส่งมวลชนเดินทางเข้ามาทำงาน แต่ลืมมองข้ามเรื่องรายได้ที่คงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของกลุ่มคนเหล่านี้ ตรงข้ามกับหลายเมืองในต่างประเทศทำไมมีการจัดสรรพื้นที่ ตลอดจนให้สวัสดิการที่ดี ไว้ในพื้นที่กลางเมือง สร้างที่อยู่อาศัย จัดระบบสาธารณูปโภคที่ดี ประชาชนในเมืองนั้นก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ อุปสรรคต่อมาคือการเข้าถึงหรือโอกาสการทำงาน ดังนั้นหากรัฐเร่งกระจายงานออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ปัญหาคนจนเมืองก็จะลดน้อยลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกับหาวิธีลดคนแห่เข้ามาอยู่อาศัยในเมือง หากรัฐสนใจและเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯปัจจุบันนี้ได้อีกมากมาย”